Demand Shift

วันที่โพสต์: Apr 07, 2016 2:26:51 AM

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล บรรณาธิการอำนวยการ นิตยสาร Creative Thailand ได้เสนอบทความเกี่ยวกับการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรบุคคลของธุรกิจเอกชน เพื่อสรรหาและคัดกรองคนเข้าทำงาน.....

นับเป็นเรื่องน่าสนใจ เมื่อสำนักข่าวบีบีซีรายงานถึงความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในแผนกทรัพยากรบุคคลของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งของโลก โดยเมื่อราวต้นปี บริษัทไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ (PricewaterhouseCoopers) ได้ออกประกาศยกเลิกคุณสมบัติที่ใช้คัดเลือกผู้สมัครงาน ที่จะต้องมีผลการเรียนในระดับเกรดเอ ตามมาด้วย บริษัทเอินส์ท แอนด์ ยัง (Ernst & Young) บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก ซึ่งก็ได้เปลี่ยนแบบฟอร์มการสมัครงานใหม่ โดยตัดช่องการกรอกข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาและคุณสมบัติต่างๆ ในเชิงวิชาการออกทั้งหมด และล่าสุด สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮาส์ (Penguin Random House) ได้ประกาศยกเลิกข้อจำกัดให้ผู้สมัครงานของบริษัทต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ มาสู่การไม่ต้องจบปริญญาตรีก็สมัครงานได้ เนื่องจากเห็นว่าการมีวุฒิการศึกษาดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่สามารถชี้วัดถึงศักยภาพในการทำงานแต่อย่างใด โดย นีล มอร์ริสัน ผู้อำนวยการแผนกทรัพยากรบุคคลของสำนักพิมพ์เชื่อว่า การจัดพิมพ์หนังสือที่ต้องดึงผู้อ่านในทุกๆ กลุ่มนั้น ต้องอาศัยคนทำงานที่มาจากพื้นเพและภูมิหลังที่แตกต่างกันและมีมุมมองที่หลากหลาย จึงจะสามารถสะท้อนมุมมองสังคมปัจจุบันได้ ดังนั้นวุฒิการศึกษาจึงไม่ใช่เครื่องรับประกัน และเป็นสิ่งที่สามารถคัดกรองบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานในบริษัทได้

การเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรบุคคลของธุรกิจเอกชน เพื่อสรรหาและคัดกรองคนเข้าทำงานโดยให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาน้อยลงนั้น ดูจะเป็นแนวโน้มที่ขยายตัวมากขึ้น เพราะบริบททางสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบันไม่สามารถใช้ความรู้เพียงมิติใดมิติหนึ่ง วุฒิการศึกษา หรือเกรดเฉลี่ย แต่เกิดจากประสบการณ์และทักษะที่จะผสมผสาน บริหารความรู้ไปสู่ทางออกได้อย่างเฉลียวฉลาด และแน่นอนว่าภาคเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มการผลิตที่ใกล้ชิดกับรสนิยม พฤติกรรม และความต้องการของตลาดอย่างสูง ย่อมเข้าใจสถานการณ์ความต้องการใหม่ๆ และความยุ่งยากของโลก ดังนั้นความจำเป็นเร่งด่วนก็คือ การสรรหาคนที่มีขีดความสามารถเพื่อตอบโจทย์องค์กร เราจึงได้เห็นความเปิดกว้างในการสรรหาผู้มีความรู้ มากกว่า ผู้มีวุฒิการศึกษา

หลายประเทศในสหภาพยุโรป จึงให้ความสำคัญกับการเตรียมบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงาน โดยเน้นประสบการณ์ทางวิชาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะเยอรมนีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากนโยบายการศึกษาที่ใช้ระบบการศึกษาแบบคู่ขนาน (Dual Education System) ซึ่งเน้นให้นักศึกษาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงาน พร้อมกับการศึกษาทางทฤษฎีหรือหลักสูตรการศึกษาระดับวิชาชีพ (Vocational Education and Training: VET) โดยเป็นระบบที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลแห่งรัฐ สมาคมหอการค้า และสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างเยาวชนให้ตรงกับตลาดแรงงานจริง ส่งผลให้อัตราการว่างงานในประเทศลดลงอย่างมาก และเยอรมนียังกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในสหภาพยุโรปด้วย

เมื่อต้นทุนสำคัญที่สุดอันเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้น การผลิต และการขับเคลื่อนความก้าวหน้าใดๆ ของสังคม ก็คือ “คน” และขณะที่ความท้าทายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน การเตรียมคนให้พร้อมกับความเคลื่อนไหวใหม่ เงื่อนไขใหม่ ย่อมต้องอยู่บนกติกาใหม่ที่มองไปยังอนาคต โครงสร้างพื้นฐานทางความรู้และความคิดที่จะช่วยย่อโลกและเร่งการเติบโตให้กับ”คน” จึงต้องถูกพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนให้เกิดพลวัตทางความรู้ควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบ เพราะการเตรียมคนของโลกในวันนี้ คือการเตรียมประสบการณ์นอกห้องเรียน ที่เป็นประสบการณ์ในชีวิตจริง นั่นเอง

ที่มา : http://www.tcdc.or.th/creativethailand/article/EditorNote/25352/#Demand-Shift-