การจดบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

วันที่โพสต์: Oct 18, 2016 8:37:48 AM

กระทรวงวัฒนธรรม สั่ง กรมศิลป์ ทำหนังสือจดหมายเหตุ 2 ฉบับ พร้อมเปิดให้สื่อ-ปชช.มีส่วนร่วม ส่วนกิจกรรมวันลอยกระทง ได้ทำหนังสือเวียนให้ ปชช.ร่วมสืบสานอนุรักษ์ประเพณี งดกิจกรรมรื่นเริงทุกประเภท เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 59 นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้มอบหมายให้สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ดำเนินการจดบันทึกเหตุการณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ โรงพยาบาลศิริราช ไปจนเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ โดยจะใช้แนวทางการดำเนินงานจากการจัดทำจดหมายเหตุของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ มาใช้ดำเนินการ ซึ่งสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปบันทึกทั้งภาพนิ่ง และภาพวิดีโอทุกๆ วันต่อเนื่องแล้ว

นายวีระ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ จดหมายเหตุฉบับราชการ จะเน้นการบันทึกเหตุการณ์ประกอบภาพ และจดหมายเหตุฉบับประชาชน เน้นรูปภาพเป็นหลัก โดยวธ.จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกภาพ โดยมีศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ได้แก่ นายยรรยงค์ โอฬาระชิน และ นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร มาเป็นที่ปรึกษาคัดเลือกภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม การบันทึกหนังสือจดหมายเหตุ จะรวบรวมภาพจากสื่อทุกประเภททั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งประชาชนคนไทย โดยจะประสานกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตไทยในต่างประเทศ เพื่อรวบรวมและคัดกรองภาพที่ประชาชนทั่วโลกได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ตามสถานที่ต่างๆ ก่อนที่จะนำมาใช้ประกอบในจดหมายเหตุ

นายวีระ กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดกิจกรรมวันลอยกระทงในปีนี้ วธ.ได้ออกหนังสือเวียนรณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมสืบสานอนุรักษ์ประเพณี โดยจัดกิจกรรมให้มีเนื้อหาสาระ สอดคล้องกับวิถีชีวิตและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แต่ให้งดกิจกรรมรื่นเริงทุกประเภท ทั้งการจัดมหรสพ และการจุดพลุ ตะไล ดอกไม้ไฟ เป็นต้น

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/756710