วันอาสาฬหบูชา 

พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานขึ้นในโลกนับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว

(พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)เมื่อย้อนไปครั้งอดีตกาลในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”  คือพระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ  ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี  หรือ “ธัมมเมกขสถูป” ภายในอาณาบริเวณสารนาถ ในปัจจุบัน  และผลแห่งการแสดงพระธรรมนี้ หัวหน้าปัญจวัคคีย์ คือ

อัญญาโกณทัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน  พระอริยบุคคลชั้นแรกในพระพุทธศาสนา แล้วทูลขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”  (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง)

นับว่าวันนั้นเป็นวันที่เกิดสังฆรัตนะขึ้นครั้งแรกในโลก เป็นวันที่่เกิดพระรัตนตรัยครบองค์ ๓ โดยบริบูรณ์ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ และเป็นที่มาของ “วันอาสาฬหบูชา” อีกทั้งพระพุทธเจ้าทรงได้รับพระนามว่าเป็น “สัมมาสัมพุทโธ” โดยสมบูรณ์ เพราะมีพยานในการตรัสรู้ธรรมโดยชอบ

คือรู้ตามพระธรรมของพระองค์แล้ว

สำหรับสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา  คือเทศน์กัณฑ์แรกเพื่อประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรกในโลกนั้น ได้มีพุทธานุสรณ์สถานอันเป็นที่ระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นก็คือ “ธัมมเมกขสถูป” ๑ ในพุทธสังเวชนียสถาน ๔ แห่งที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนธัมมเมกขสถูปหรือธรรมเมกขสถูป มีหลายท่านสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ธัมม+มุข หมายถึง พระธรรมจากพระโอษฐ์  บางท่านก็สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ธัมมะ+อิกข

ตามหลักไวยากรณ์บาลี แปลงตัว อิ ให้เป็น เอ  สนธิกับคำว่า ธัมมะ เป็น “ธัมมเมกขะ” หมายถึง เห็นธรรม  ส่วน “สถูป” หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่มีรูปโอคว่ำซึ่งก่อไว้  สำหรับบรรจุของควรบูชา มีกระดูกของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เป็นต้น  เป็นอนุสรณ์สถานเตือนใจให้เกิดกุศลธรรม ดังนั้น ธัมมเมกขสถูปนี้เป็นตัวแทนแห่งการเห็นธรรมจักษุ  หรือในอีกความหมายหนึ่ง สถูปนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ท่านผู้เห็นธรรมจักษุในครั้งนั้น คือพระอัญญาโกณทัญญะ นั่นเอง บริเวณสถานที่แสดงปฐมเทศนาได้มีการสร้างพระสถูปใหญ่ ความเป็นมาของธัมมเมกขสถูปนี้ ไม่แน่ชัดว่าเริ่มสร้างขึ้นในสมัยใด  สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ.๒๖๙-๓๑๑)  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุด

และอาจมีการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อเติมขึ้นมาในสมัยราชวงศ์คุปตะ  (ราวปี พ.ศ.๙๐๐-๑๑๐๐) จากการขุดค้นสำรวจพบว่า  แผ่นอิฐด้านในพระสถูปนั้น มีอายุเก่าแก่กว่าแผ่นอิฐด้านนอก  และลวดลายที่ปรากฏบนองค์พระสถูปด้านนอกนั้นเป็นลวดลายใบไม้ ดอกไม้ นก และรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งเป็นศิลปะที่นิยมมากในสมัยคุปตะธัมมเมกขสถูปเป็นสถูปขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนที่เนิน มีความสูง ๓๓ เมตรครึ่ง และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๘ เมตรครึ่งส่วนล่างก่อด้วยหินมีภาพสวัสดิกะเป็นแผ่นหินอยู่โดยรอบ  สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งทำเป็นช่องๆ แต่ละช่องประดิษฐานพระพุทธรูปแบบต่างๆ  ช่องเหล่านั้นมีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างคละกันไป สำหรับช่องใหญ่รอบองค์พระสถูปนั้นมี ๘ ช่อง  ซึ่งมีความหมายถึงมรรคมีองค์ ๘ ประการ (อัฏฐังคิกมรรค)  เป็นเวลากว่า ๒,๖๐๐ ปีแล้วที่สังเวชนียสถานแห่งนี้ได้น้อมนำให้ผู้พบเห็นได้เข้าไปสู่เรื่องราวแห่งครั้งพุทธกาลที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนาด้วยการขับเคลื่อนวงล้อแห่งธรรมให้หมุนออกไปสู่ทุกผู้นาม  ณ วันนั้นเองที่พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นและเริ่มเผยแผ่ออกไปแล้ว

ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือป่ากวางในอดีตนั้น ปัจจุบันคือ ตำบลสารนาถ เมืองพาราณสี  ซึ่งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย และที่เรียกว่า “สารนาถ” (Sarnath) นั้น  สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “สารังคนาถ”  แปลว่า ที่พึ่งของเนื้อ เหตุเพราะในป่าแห่งนี้บรรดาเนื้อทั้งหลาย  อยู่ด้วยความปลอดภัย เพราะมีพระโพธิสัตว์และพระราชาเป็นที่พึ่งสารนาถ (Sarnath) พุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ เป็นที่อุบัติขึ้นแห่งปฐมเทศนา-ปฐมสาวก-ปฐมแสงธรรมนอกจากเป็นที่ประดิษฐาน “ธัมมเมกขสถูป”อนุสรณ์สถานแห่งการแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้วยังมีกลุ่มพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สำคัญอื่นๆ เช่น- ธัมมราชิกสถูป  อนุสรณ์สถานแห่งการแสดงอนัตตลักขณสูตร- เจาคัณฑีสถูป  อนุสรณ์สถานที่พระพุทธเจ้าทรงพบปัญจวัคคีย์

- ยสเจติยสถาน  อนุสรณ์สถานที่่พระพุทธเจ้าทรงพบยสกุลบุตร  นอกจากนี้แล้ว สารนาถ ยังเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้า  ทรงส่งพระอรหันตสาวกจำนวน ๖๐ รูป  (พระปัญจวัคคีย์ ๕ รูป + พระยสะและสหายพระยสะ ๕๕ รูป)ไปประกาศพระศาสนา เผยแผ่แนวทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรกซึ่งนับเป็นคณะธรรมทูตชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาด้วยพระดำรัสว่า...“มุตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ มา เอเกน เทฺว อคมิตฺถ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ”

คำแปล : ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งของทิพย์และของมนุษย์ พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นกัน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พวกเธออย่าไปทางเดียวกันสองคน จงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ (การดำเนินชีวิตประเสริฐ) ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งอรรถะ (ความ) และพยัญชนะ (คำ)

ดังนั้น สารนาถ จึงอยู่ในฐานะที่่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการประกาศพระพุทธศาสนาหรือเป็นจุดกำเนิดขึ้นของพระพุทธศาสนานั่นเอง

วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมเทศนา หรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก สำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน คงทราบกันดีว่า ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกหนึ่งวัน นั่นคือ "วันอาสาฬหบูชา" ทั้งนี้ คำว่า "อาสาฬหบูชา" สามารถอ่านได้ 2 แบบ คือ อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา ซึ่งจะประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ อาสาฬห ที่แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน  8

วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี

ทั้งนี้พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ

สำหรับใจความสำคัญของการปฐมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ

1. มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ

การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่าเป็นการหลงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข หรือกามสุขัลลิกานุโยค

การสร้างความลำบากแก่ตน ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

ดังนั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลัก ปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่

1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง

2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม

3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต

4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต

5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต

6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี

7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด

8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

2. อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด

2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ

3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา

4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น

กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา

พิธีกรรมโดยทั่วไปที่นิยมกระทำในวันนี้ คือ การทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์ ในตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียนที่เป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทยเรา ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรเข้าวัด เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส จะได้มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตในยุคที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นอย่างนี้...