ประวัติความเป็นมา

ฉลอง ๕๐ ปี อชว.mp4

งานครบรอบ 50 ปีอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย

ประวัติความเป็นมาอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย

เมื่อ ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ พระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง นายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ได้เดินทางไปดูกิจการการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาที่ประเทศพม่าได้เห็นการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศพม่า อย่างแพร่หลาย ซึ่งในสมัยนั้น การศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยยังไม่มี จึงได้ติดต่อรัฐบาลประเทศพม่า ขออาราธนาพระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ พระเถระ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ทางด้านพระอภิธรรมปิฎกจากประเทศพม่ามาดำเนินการเปิดการศึกษา พระอภิธรรมปิฎกครั้งแรกที่วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร จนกระทั่ง ปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้ถึงมรณภาพ ศิษยานุศิษย์ได้ดำเนินการต่อเรื่อยมา

ต่อมา พุทธศักราช ๒๕๑๑ ได้ก่อตั้งอภิธรรมโชติกะวิทยาลัยขึ้นที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานครอยู่ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานอำนวยการจัดการศึกษา โดยได้รับความอุปถัมภ์จากมูลนิธิสัทธัมมโชติกะและผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป จนกระทั่งปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ โดยเมตตาธรรมและมองการณ์ไกลของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ที่หวังความเจริญก้าวหน้าของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ได้ประกาศให้อภิธรรมโชติกะวิทยาลัยเป็นหน่วยงานส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้ชื่อว่า "อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" โดยขึ้นตรงต่อ สำนักอธิการบดี

ปัจจุบัน อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในสังกัดสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม ตามมาตรา ๙ วรรคสอง และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ข้อ ๑๑ (๓) เรื่องการแบ่งส่วน พุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้ดำเนินการจัดการศึกษามาเป็นเวลา ๕๐ ปีแล้ว มีสาขาทั่วประเทศ ๕๗ แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งได้มีบทบาทเผยแผ่ธรรมะในรูปแบบ ของการจัดการศึกษาพระอภิธรรมปิฎก อรรถกถาและฎีกา พระอภิธรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเหลือพัฒนา คุณภาพชีวิตของบุคคลแลสังคมไทย ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีสันติสุข และเกื้อกูลต่อการพัฒนาประเทศ ได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับการ เปลี่ยนแปลงของสังคมในทุก ๆ ด้าน

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อให้พุทธบริษัทได้มีความรู้ความเข้าใจในพระอภิธรรมปิฎก

๒. เพื่อเป็นการรักษาพระปริยัติศาสนาส่วนของพระอภิธรรมปิฎกนี้ ให้คงอยู่สืบต่อไป

๓. เพื่อให้ผู้ศึกษามีความเข้าใจในปรมัตถธรรมอันเป็นสภาวะที่เกื้อกูลแก่การปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน

๔. เพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้ความสามารถศึกษาเชื่อมโยงกับ พระสุตตันตปิฏกและพระวินัยปิฎกที่มีความสัมพันธ์กันไม่ขัดแย้งกันเกื้อกูลกัน

๕. เพื่อประโยชน์แก่ผู้ศึกษาที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน

๖. เพื่อเสริมสร้างศรัทธาและปัญญาของผู้ศึกษา ให้มั่นคงในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไป