การถอด-ประกอบ และตรวจสอบสภาพชิ้นส่วนงานสายพานไทม์มิ่ง เครื่องยนต์

TOYOTA 2L, 3L, 5L

แนวคิด เครื่องยนต์ TOYOTA 2L, 3L, 5L เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้สายพานไทม์มิ่ง (Timing belt) ในการถ่ายทอดกำลังของเครื่องยนต์ผ่านเฟืองเพลาข้อเหวี่ยง เพื่อไปขับเฟืองเพลาลูกเบี้ยวให้ทำหน้าเปิด – ปิดลิ้นไอดีและลิ้นไอเสีย ให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ขึ้นและลงของลูกสูบ นอกจากนั้นยังส่งกำลังในการขับเฟืองปั๊มฉัดน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ปั๊มฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงทำงานและสั่งฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงตามจังหวะจุดระเบิด (Firing order) ได้อย่างถูกต้อง ตามวัฎจักรการทำงานของเครื่องยนต์ดีเซล 4 จังหวะ ซึ่งเครื่องยนต์ TOYOTA 2L, 3L, 5L จะมีอายุการใช้งานของสายพานไทม์มิ่งประมาณ 100,000 กิโลเมตร

ลักษณะของเครื่องยนต์ TOYOTA 2L, 3L, 5L

ลักษณะการส่งกำลังของสายพานไทม์มิ่งเครื่องยนต์ TOYOTA 2L, 3L, 5L

งานถอดประกอบสายพานไทม์มิ่งเครื่องยนต์ TOYOTA 2L, 3L, 5L

ระบบกลไกยกลิ้นแบบสายพานไทม์มิ่ง TOYOTA 2L, 3L, 5L

เครื่องมือและอุปกรณ์

1. เครื่องมือเบื้องต้น 2. ประแจวัดแรงบิด 3. ถาดใสเครื่องมือ

4. เครื่องมือถอดพูลเลย์ 5. เครื่องยนต์ดีเซล TOYOTA 2L, 3L, 5L

ขั้นตอนการถอดสายพานไทม์มิ่ง

1. ถอดหัวเผาออกจากเครื่องยนต์ (เพื่อให้หมุเครื่องยนต์ได้ง่าย)

2. ถอดโบลท์ยึดชุดพัดลมฟลูอิดคลับปิ๊ง จำนวน 4 ตัว จากนั้นถอดฟลูอิดคลับปิ๊ง พูลเลย์ปั๊มน้า และสายพานขับออก

3. ถอดโบลท์ยึดพูลเลย์เพลาข้อเหวี่ยง และถอดพูลเลย์เพลาข้อเหวี่ยงออก ลูกศรสีน้ำเงินแสดงทิศทางการคลายโบลท์ (ถ้าถอดพูลเลย์ไม่ออกให้ใช้เครื่องมือพิเศษถอดพูลเลย์)

4. ถอดโบลท์ฝาครอบสายพาน และถอดฝาครอบสายพานออก (ลูกศรสีแดงคือตำแหน่งโบลท์ฝาครอบสายพานไทม์มิ่ง)

5. ถอดแผ่นกั้นสายพานไทม์มิ่ง

6. ประกอบโบลท์เพลาข้อเหวี่ยงกลับเข้าตำแหน่งเดิม หมุนเครื่องยนต์ตามทิศทางการหมุน โดยให้สูบ 1 อยู่ในตำแหน่งอัดสุด ตรวจสอบตำแหน่งเครื่องหมายทั้ง 3 ตำแหน่ง ต้องตรงกันก่อนทำการถอดสายพานไทม์มิ่ง

7. คลายโบลท์ลูกกลิ้งกดสายพาน (ลูกศรสีแดง) จากนั้นใช้ไขควงหรือโหละอ่อนดันลูกกลิ้งกดสายพานให้ถอยหลังสุด (ไปทางลูกศรสีน้ำเงิน) และล็อกแน่นไว้ชั่วคราว







8. จากนั้นทำการถอดสายพานไทม์มิ่งออก เมื่อถอดสายพานออกแล้วให้คลายโบล์ทลูกกลิ้งกดสายพานเพื่อไม่ให้สปริงดึงลูกกล้ิงกดสายพานเกิดความล้าตัว (ลูกศรสีส้ม)

การตรวจสอบสภาพชิ้นส่วนงานสายพานไทม์มิ่ง

1. ตรวจสอบความคล่องตัวของลูกปืนเฟืองสะพาน (ตามที่ลูกศรสีแดงชี้) โดยใช้มือหมุน ถ้ามีการขัดตัวหรือมีเสียงดังควรเปลี่ยนใหม่

2. ตรวจสอบความคล่องตัวของลูกลูกกลิ้งสายพาน (ตามที่ลูกศรสีแดงชี้) โดยใช้มือหมุน ถ้ามีการขัดตัวหรือมีเสียงดังควรเปลี่ยนใหม่

3. ตรวจสอบเบอร์ขนาดของสายพานไทม์มิ่งว่าตรงกับค่ามาตรฐานหรือไม่

TOYOTA 2L, 3L, 5L สายพานไทม์มิ่งมีขนาดหน้ากว้าง 31 มิลลิเมตร จำนวน 129 ฟัน

4. กรณีใช้สายพานไทม์มิ่งเส้นเดิม แต่ถ้าสายพานชำรุดดังภาพ ควรเปลี่ยนใหม่

5. การตรวจสอบปั๊มน้ำ

- ตรวจสอบการรั่วของน้ำหล่อเย็น โดยสังเกตถ้ามีคาบน้ำไหลออกมาควรเปลี่ยนใหม่ (ลูกศรสีแดง)

- ตรวจสอบลูกปืนปั๊มน้ำ หน้าแปลนพลูเลย์ปั๊มน้ำ ถ้าขัดตัวและมีเสียงดังควรเปลี่ยนใหม่ (ลูกศรสีน้ำเงิน)


ขั้นตอนการประกอบสายพานไทม์มิ่ง

1. จัดตำแหน่งเครื่องหมายของเฟืองทั้ง 3 ตำแหน่งให้ตรง (ลูกศรสีแดง) ได้แก่ เฟืองเพลาข้อเหวี่ยง เฟืองเพลาลูกเบี้ยว และเฟืองปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง

2. ดันลูกกลิ้งกดสายพานให้ถอยหลังสุด (ลูกศรสีน้ำเงิน) และขันโบลท์ล็อกแน่นไว้ชั่วคราว (ลูกศรสีแดง)


3. ประกอบสายพานไทม์มิ่งเข้ากับเฟืองเพลาข้อเหวี่ยงเป็นอันดับแรก (ลูกศรสีแดง)

4. จากนั้นดึงสายพานให้ตึงและนำมาคล้องที่เฟืองเพลาลูกเบี้ยว

4. และใช้ประแจเพื่อจัดเครื่องหมายที่เฟืองปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงให้ตรง

5. คลายโบลท์ล็อกลูกกลิ้งกดสายพาน (ลูกศรสีแดง) เพื่อทำให้ลูกกลิ้งกดสายพานไปดันสายพานไทม์มิ่ง (ลูกศรสีน้ำเงิน) ตึงด้วยแรงดึงของสปริง (ลูกศรสีส้ม)


6. จากนั้นหมุนเพลาข้อเหวี่ยงไปตามทิศทางการหมุนของเครื่องยนต์จำนวน 2 รอบ จากนั้นตรวจสอบตำแหน่งเครื่องหมายของเฟืองทั้ง 3 ตำแหน่ง ว่ากลับมาตรงหรือไม่ (ถ้าไม่ตรงให้ทำการถอดสายพานไทม์มิ่งและทำการประกอบสายพานไทม์มิ่งใหม่)

7. ถ้าตำแหน่งเครื่องหมายของเฟืองทั้ง 3 ตำแหน่งตรงเป็นปกติแล้ว

ให้หมุนเฟืองเพลาข้อเหวี่ยงตามทิศทางการหมุนของเครื่องยนต์ประมาณ 45 องศา เพื่อให้สายพานไทม์มิ่งตึง จากนั้นขันโบลท์ลูกกลิ้งกดสายพานด้วยประแจวัดแรงบิดตามค่าที่กำหนด

TOYOTA 2L, 3L, 5L ค่าแรงขัน 19-20 N*m

8. ถอดโบลท์เพลาข้อเหวี่ยงออก

9. ประกอบแผ่นกั้นสายพานไทม์มิ่ง โดยหันด้านที่มีคมออกด้านหน้าเครื่องยนต์ ถ้าประกอบแผ่นกั้นสายพานกลับทิศทางจะทำให้แผ่นกั้นเสียดสีกับสายพานจนขาด

10. ประกอบฝาครอบและขันโบลท์ยึดฝาครอบให้แน่น (ลูกศรสีแดง)

ประกอบพูลเลย์เพลาข้อเหวี่ยงและขันโบลท์ยึดพูลเลย์ให้แน่นด้วยประแจวัดแรงบิดตามค่าที่กำหนด (ลูกศรสีแดง)