บทที่ 2 การปฏิบัติตนในวันสำคัญทางศาสนา

วันสำคัญทางศาสนาพุทธ
นิยมระบุตามปฏิทินจันทรคติ โดยปกติจะเป็นวันที่เคยมีเหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งพุทธกาล หรือเมื่อถึงกำหนดต้องปฏิบัติประเพณีสำคัญตามธรรมเนียมในศาสนาพุทธ



ประวัติโดยสังเขปของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


วันมาฆบูชา
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3


เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย"มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)

วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

ปัจจุบัน วันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์และประชาชนประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล


วันวิสาขบูชา

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

วันวิสาขบูชา นั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน)

โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน


วันอาสาฬหบูชา

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ในปัญจวัคคีย์ ประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรกในโลก และทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดว่าเป็น"วันพระรัตนตรัย" อีกด้วย


การปฏิบัติตนในวันสำคัญทางศาสนา

1. การทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า

2.การอยู่ในศีล 5 หรือ ศีล 8

3.การฟังเทศน์ฟังธรรม หรือนั่งสมาธิ

4. การปล่อยสัตว์ เพื่อให้อิสระ

5. การเวียนเทียน

1. การทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า
เตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค อาหาร สดแห้ง ครบหลักอนามัย หรือโภชนาการ ครบ 5 หมู่ จะทำให้เรามีจิตใจที่สดชื่น สบายใจ มีความเมตตา โอบอ้อมอารี ก็จะส่งผลให้ชีวิตเราดีขึ้น
2.การอยู่ในศีล 5 หรือ ศีล 8

เชื่อได้ว่า ข้อนี้ หลายคนอาจจะรู้จักเพียง ศีล 5 อย่างเดียว แต่หากยังมี ศีล 8 ให้ทุกคนได้ปฏิบัติตามเพิ่มได้อีก 3 ข้อ ก็จะดีต่อตัวเรา โดยศีล 5 เราถือมาตลอด บางคนทำได้ทุกข้อ แต่บางคนก็ไม่สามารถทำได้หมด
3.การฟังเทศน์ฟังธรรม หรือนั่งสมาธิ

ในข้อนี้ เราสามารถทำได้ง่าย ๆ จะทำที่บ้าน หรือไปฟังที่วัดก็ได้เช่นกัน ไม่ว่าวิธีไหนก็ได้บุญ สำหรับการฟังธรรมแล้วนั้น ทำให้เรามีสติในการใช้ชีวิต ไม่ประมาท มีจิตใจที่จดจ่อกับสิ่งๆ นั้นที่เราทำอยู่ ทำให้เราไม่คาดหวังอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้รู้จักการปล่อยวาง สามารถใช้ชีวิตได้ดี
4. การปล่อยสัตว์ เพื่อให้อิสระ

เป็นการช่วยให้สัตว์ต่างๆ ที่เราปล่อยหรือช่วยเหลือนั้น ได้มีอิสระ ในการใช้ชีวิต หรือหลุดพ้นบ่วงต่างๆ เพราะขณะเรายังไม่ชอบการโดนกัก หรือห้ามทำอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่ใช่ตัวเรา เรายังรู้สึกไม่ดี การที่เราได้มอบอิสระให้เขามันเท่ากับว่าเรามีความเมตตา ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ได้ช่วยเหลือ ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญอีก 1 วิธีเช่นเดียวกัน

5. การเวียนเทียน

เชื่อว่าข้อนี้ ถือเป็นข้อปฏิบัติยอดฮิตที่หลายคนคงปฏิบัติมา โดยการเวียนเทียน จะเกิดขึ้นในช่วงของวันมาฆบูชา ในเวลา 2 ทุ่ม จะต้องเตรียมดอกไม้และธูปเทียน จะเวียนรอบพระอุโบสถจำนวน 3 รอบ ทางขวา ตามเข็มนาฬิกา บางวัดจะมีการเทศนาก่อนถึงจะเวียนเทียน หลังจากครบ 3 รอบแล้ว ก็จะเข้ามากราบพระในอุโบสถ เป็นอันเสร็จพิธี