ทำเนียบแหล่งเรียนรู้
แหล่งเรียนรู้ กศน.ตำบล
1. ชื่อแหล่งเรียนรู้ กศน.ตำบลหว้านคำ
2. ที่ตั้ง กศน.ตำบลหว้านคำ หมู่ที่ 11 ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
3. ประวัติความเป็นมา/สาระที่ได้จากแหล่งเรียนรู้
กศน.ตำบลหว้านคำ เป็นสถานศึกษาในสังกัดศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอราษีไศลสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดศรีสะเกษ กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้นตามหนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.02/3267 ลงวันที่ 4 กันยายน 2552 เรื่องการดำเนินการ กศน.ตำบล สำนักงาน กศน. โดยเลขาธิการ กศน. (นายอภิชาต จิระวุฒิ) ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการปรับศูนย์การการเรียนชุมชนในทุกตำบลให้เป็น กศน.ตำบล เดิมใช้ชื่อว่าศูนย์การเรียนชุมชนตำบลหว้านคำและได้เปลี่ยนชื่อ เป็น กศน.ตำบลหว้านคำ ในปัจจุบัน
4. ลักษณะของแหล่งเรียนรู้
จัดและส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับการศึกษา สมรรถนะในการเรียนรู้และการแก้ปัญหา พัฒนาชีพ คุณภาพชีวิตและสังคม สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
5. ขั้นตอนการถ่ายทอดความรู้
จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้กับประชาชน เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข และนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสังคมและชุมชนของตนเองให้มีความเจริญก้าวหน้า ส่งเสริมการฝึกอาชีพที่หลากหลายเพื่อการมีงานทำให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
6. บุคคล/หน่วยงานที่เข้ามารับความรู้จากแหล่งเรียนรู้
-ประชาชนในพื้นที่ตำบลหว้านคำ
แหล่งเรียนรู้ วัดบ้านหว้าน
1. ชื่อแหล่งการเรียนรู้: วัดบ้านหว้าน
2.ที่ตั้ง/ที่อยู่: วัดบ้านหว้าน หมู่ 2 ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
3.ประวัติความเป็นมา/ สาระที่ได้จากแหล่งเรียนรู้:
ประวัติวัดบ้านเชือก เท่าที่ได้สืบค้นโดยการสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ เจ้าอาวาสวัด ไม่มีใครทราบแน่ชัด บอกเล่าเพียงว่า เดิมนั้นบ้านหว้าน หมู่ที่ 2 ต.หว้านคำ อ.ราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้อพยพมาจากบ้านบ้านหนองหว้า เดิมบ้านหว้านได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของหว้านที่ใช้รักษาคนและสัตว์ที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากและได้พิจารณาว่าบริเวณนี้เหมาะสำหรับตั้งหมู่บ้านบ้านหว้าน ในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๖ คณะกรรมการหมู่บ้านได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกับคณะชาวบ้านว่าเห็นสมควรให้มีวัดขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ จึงได้จัดหาปัจจัย ที่ดินสำหรับสร้างวัด และได้ดำเนินการเรื่อยมา
ปัจจุบันวัดบ้านหว้าน เป็นศาสนสถานที่เสริมสร้างและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของประชาชนชาวบ้านหว้านรวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียง มีเสนาสนะที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีกุฎิ ศาลาการเปรียญ อุโบสถ และมีพระสุวิมล ธรรมรังษี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลหว้านคำ
4.ลักษณะของแหล่งเรียนรู้
เป็นสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนาของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ กิจกรรมต่างๆในชุมชนและเป็นแหล่งศึกษาประวัติความเป็นมาศาสนาพุทธ วันสำคัญทางศาสนา
5.ขั้นตอนการถ่ายทอดความรู้
q ศึกษาประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนา ชุมชนที่อยู่
q ศึกษาความสำคัญของวันสำคัญต่างๆทางศาสนา หลักธรรมคำสอนต่างๆ
q การอนุรักษ์ประเพณีในชุมชน และการทำนุบำรุงศาสนา
6.บุคคล/หน่วยงานที่เข้ามารับความรู้จากภูมิปัญญา :
- ชาวบ้าน พุทธศาสนิกชนทั่วไป
- นักเรียน นักศึกษา
- โรงเรียน
- ผู้นำชุมชน
- หมู่บ้านใกล้เคียง
แหล่งเรียนรู้ กลุ่มทอผ้าไหม
1. ชื่อแหล่งเรียนรู้: กลุ่มทอผ้าไหม
2. ที่ตั้ง/ที่อยู่: บ้านหนองโง้ง หมู่ 11 ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
3. ประวัติความเป็นมา/ สาระที่ได้จากแหล่งเรียนรู้
นางสาวกันยา ธรรมวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มทอผ้า บ้านหนองโง้ง หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 11 ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนบ้านหว้านเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมอาชีพหลักคือการทำนา ในอดีตชาวบ้านจะมีทอผ้าไหมไว้ใช้ในครัวเรือน เส้นไหมชาวบ้านก็จะเลี้ยงเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทอผ้าลายลูกแก้วย้อมมะเกลือตัดเสื้อแขนยาวซึ่งจะใส่ไปทำนา ทำสวน และทอผ้าถุงไว้ใส่ไปงานบุญต่าง ๆ เช่น งานทำบุญในวันพระ งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ และงานที่สำคัญที่ต้องใช้ผ้าไหมเป็นจำนวนมากคืองานแต่งงาน ซึ่งคนที่จะแต่งงานจะต้องทอผ้าเป็นและใช้ผ้าไหมที่ทอไปไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวที่มาผูกข้อมือในวันแต่งงาน แต่ในปัจจุบันนี้สตรีในหมู่บ้านเริ่มจะไม่มีการทอผ้าแล้วถ้ามีงานบุญก็จะไปซื้อผ้าที่ตลาดมาใช้เลยเพื่อความสะดวกและสวยงาม กลุ่มสตรีในหมู่บ้านที่ทอผ้า จึงได้คิดรวมตัวกันขึ้นตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่น พอรวมตัวกันแล้วทำให้สมาชิกกลุ่มมีผ้าจำนวนมาก จึงนำผ้ามาจำหน่ายภายนอกหมู่บ้าน ทำให้กลุ่มมีรายได้จาการจำหน่ายผ้า กลุ่มจึงได้มีการพัฒนาจากการทอผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือมาผ้าไหมมัดหมี่ และใช้เส้นไหมที่กลุ่มเลี้ยงเองและเป็นไหมแทน และในปัจจุบันผู้คนหันมาสนใจสุขภาพกันมายิ่งขึ้น จึงมีการพัฒนามาเป็นการทอผ้าไหมด้วยการย้อมสีธรรมชาติแทนสีเคมี ทำผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาด การทำผ้ามัดย้อมใช้เอง เป็นความภาคภูมิใจของคนทำและคนที่จะสวมใส่ และสีที่ได้จากธรรมชาติจะมีคุณสมบัติในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บไปในตัวด้วย เช่น ผ้าย้อมคราม ย้อมฝางแดง เป็นต้น
4. ลักษณะของแหล่งเรียนรู้
การทอผ้าไหม เป็นการนำความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาใช้และสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน รวมทั้งเป็นการนำธรรมชาติและสิ่งที่มีอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์และทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
5. ขั้นตอนการถ่ายทอดความรู้
q นำความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ รวมทั้งเป็นการสืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน
q การศึกษาวิธีการทอผ้าไหมจากคนรุ่นเก่า
q ขั้นต้อนการทำผ้าไหมมัดหมี่
q ขั้นตอนการย้อมสีธรรมชาติ
q การนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้แทนสีสังเคราะห์ หรือสีที่เป็นสารเคมี
ขั้นตอนการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ มีดังนี้
1. ต้มน้ำให้เดือด ในภาชนะที่ใหญ่พอประมาณ (ขึ้นอยู่กับจำนวนผ้า ที่จะย้อมด้วย) ใส่เกลือลงไปพร้อมกับน้ำเพื่อให้สีติดทนนานและสีสดขึ้น
2. นำวัตถุดิบให้สีที่เตรียมไว้มาสับๆ ให้เล็กพอประมาณ แล้วใส่ ใน ถุงผ้าหรือตาข่ายที่เตรียมไว้แล้วนำเอาไปต้มกับน้ำที่เดือด เพื่อสกัดเอาสารที่มี อยู่ในนั้นออกมา ให้สังเกตสีที่ออกมาจากถ้าสีเข้มแล้วจึง
3. นำผ้าที่ผูกลายเสร็จลงไปในหม้อต้มสี ให้กลับด้านผ้าหรือกวน ให้ตลอดเพื่อให้สีผ้าดูดสีสม่ำเสมอกันทั้งผืน ให้สังเกตสีที่ซึมเข้าไปในเนื้อผ้า ถ้าพอใจหรือเหมาะสมแล้วจึงนำออกมา วางให้เย็นก่อน (ประมาณ 30 นาที ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ)
4. แล้วค่อยเอาลงล้างขยี้เบาๆ ในน้ำตัวทำปฏิกิริยาเพื่อทำให้เกิดสีใหม่ เช่น น้ำสนิม น้ำสารส้ม น้ำปูนใส น้ำด่างขี้เถ้า (ในขณะที่แช่ผ้าในตัวทำปฏิกิริยาแต่ละชนิดให้สังเกตถึงความต่างและการเปลี่ยนแปลงสีของแต่ละชนิดไว้ด้วยเพราะแต่ละตัวจะให้สีแตกต่างกัน) ถ้าพอใจแล้วให้แกะลายออกแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง หรือถ้ายังไม่พอใจในสีที่ปรากฏให้นำไปล้างน้ำ สะอาดแล้วนำกลับไปย้อมกับตัวทำปฏิกิริยาชนิดอื่นๆ อีก แต่ข้อควรระวัง คือในระหว่างที่นำผ้าเปลี่ยนตัวทำปฏิกิริยาให้ล้างน้ำเปล่าก่อน เพื่อไม่ให้ผสมกัน หรือถ้าไม่พอใจอีกอาจนำไปต้มกับน้ำเปลือกไม้อีกครั้ง เพื่อย้อมใหม่ จนเป็นที่พอใจแล้วแก้ผ้าที่มัดไว้นำไปตากแดด ให้แห้ง
สีธรรมชาติได้จากต้นไม้ ได้แก่ ราก แก่น เปลือก ต้น ผล ดอก เมล็ด ใบ เป็นต้น ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดให้โทนสีต่างกัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของต้นไม้นั้นๆ ซึ่งจะขอยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นบางส่วน ดังนี้
- สีแดง ได้จาก รากยอ แก่นฝาง เปลือกสมอ ครั่ง
- สีคราม ได้จาก ต้นคราม
- สีเหลือง ได้จาก แก่นขนุน ต้นหม่อน ขมิ้น ดอกดาวเรือง
- สีตองอ่อน ได้จาก เปลือกผลทับทิม ต้นคราม ใบหูกวาง เปลือกและผลสมอพิเภก ใบส้มป่อยและผงขมิ้น ใบแค ใบสับปะรดอ่อน
- สีดำ ได้จาก ผลมะเกลือ ผลกระจาก ผลและเปลือกสมอ
- สีส้ม ได้จาก เปลือกและรากยอ ดอกกรรณิการ์
- สีเหลืองอมส้ม ได้จาก ดอกคำฝอย
- สีม่วงอ่อน ได้จาก ลูกหว้า
- สีชมพู ได้จาก ต้นฝาง
- สีน้ำตาล ได้จาก เปลือกไม้โกงกาง เปลือกผลมังคุด
- สีเขียว ได้จาก เปลือกต้นมะริดไม้ ใบหูกวาง เปลือกสมอ
6. บุคคล/หน่วยงานที่เข้ามารับความรู้จากภูมิปัญญา
บุคคลทั่วไป