ทำเนียบภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

1. ชื่อภูมิปัญญา หมอแคน (นายเสริม โพธิบุตร)

2. ที่อยู่ 68 หมู่ 2 ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

3. ประวัติความเป็นมา/สาระที่ได้จากภูมิปัญญา

แคน เป็นชื่อเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคอีสานที่เก่าแก่มีมาแต่โบราณ แคนเป็น เครื่องดนตรีที่ใช้ปากเป่าให้เป็นเพลง ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่เรียกว่า "แคน" เป็น คนแรก และทำไมจึงเรียกว่า "แคน" นั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนยืนยันได้ แต่ก็มีประวัติที่เล่า เป็นนิยายปรัมปราสืบต่อกันมาบางท่านก็สันนิษฐานว่า คำว่า "แคน" คงจะเรียกตามเสียงเครื่องดนตรีที่ดังออกมาว่า "แคนแล่นแคน แล่นแคน แล่นแคน" ซึ่งเป็นเสียงที่ดังออกมาจากการเป่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ แต่ บางคนก็มีความเห็นว่า คำว่า "แคน" คงเรียกตามไม้ที่ใช้ทำเต้าแคน กล่าวคือ ไม้ที่นำมาเจาะใช้ ทำเต้าแคนรวมเสียงจากไม้ไผ่น้อยหลาย ๆ ลำนั้น เขานิยมใช้ไม้ตะเคียน ซึ่งภาษาท้องถิ่นทางภาค อีสานเรียกว่า "ไม้แคน" แต่บางท่านก็ให้ความเห็นที่แตกต่างกันออกไปแต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าคิดอยู่บ้างคือ "แคน" นี้น่าจะทำขึ้นโดยผู้หญิง ซ้ำยังเป็น "หญิงหม้าย" เสียด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า ส่วนประกอบที่ใช้ทำแคนอันสำคัญคือส่วนที่ใช้ปากเป่า ยังเรียกว่า "เต้า แคน" และมีลักษณะรูปร่างเป็นกระเปาะคล้าย "เต้านม" ของสตรีอีกด้วย ทั้งการเป่าแคนก็ใช้วิธี เป่าและดูด จนสามารถทำให้เกิดเสียงอันไพเราะ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกข้อคือ คำที่เป็นลักษณะนามเรียกชื่อ และจำนวนของแคนก็ใช้คำว่า "เต้า" แทนคำว่า อัน หรือ ชิ้น ฯลฯ ดังนี้ เป็นต้น ที่สำคัญคือ เสียงของแคนเป็นเสียงที่ไพเราะอ่อนหวาน ซาบซึ้งเหมือนเสียงนกการเวก ตาม นิทานเรื่องดังกล่าว เหมือนเสียงของหญิงหม้ายที่ว้าเหว่เดียวดาย ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่า "หญิงหม้าย" เป็นผู้ประดิษฐ์คิดทำแคนขึ้นเป็นคนแรก จึงเป็นเหตุผลที่น่ารับฟังได้มากพอสมควรทีเดียว

4. ลักษณะสำคัญของภูมิปัญญา

ลักษณะของแคนมีสองชนิด คือ แคนน้อย (ยาวศอก คืบ ยาวสองศอก ยาวสองศอกคืบ) และแคนใหญ่ (ยาวสามศอก ยาวสามศอกคืบ สี่ศอก สี่ศอกคืบ) ที่เคยใช้ในปัจจุบัน แต่ที่เคยมี ยาวถึงหกศอก แคนสองขนาดนี้แบ่งเป็นสองอย่าง คือ แคนเจ็ด และแคนแปด แคนเจ็ดนั้นมีลูกเจ็ดคู่ ส่วนแคนแปดนั้นมีลูกแปดคู่ ส่วนแคนของเผ่าลาวลุ่มนั้นมีหกคู่ และแคนของเผ่าลาวสูงมีแค่สามคู่เท่านั้น และใช้ท่อต่อเต้าสำหรับการเป่าตามธรรมดา

5. ขั้นตอนการถ่ายทอดความรู้ของภูมิปัญญา

"แคน" ทำด้วยไม้อ้อ หรือไม้เหี้ยน้อย แต่เดี๋ยวนี้ไม้อ้อหาได้ยาก เขาจึงทำแคนด้วยไม้เหี้ยน้อย และจะต้องหาให้ได้ขนาดเท่านิ้วมือจึงจะใช้ได้ นอกจากไม้เหี้ยน้อย ซึ่งทำเป็นลูกแคนยาวลดหลั่นกันตามลำดับ 7 คู่ หรือ 8 คู่ ประกอบเข้ากันกับเต้า ติดสูด (ขี้สูด) ข้างบนและข้างล่างเต้า เพื่อไม่ให้ลมเป่าเข้าสูบออกรั่ว แล้วยังมีลิ้นแคน รูแพว และรูนับเสียงเป็นสิ่งสำคัญด้วย ข้างในของแต่ละลำไม้ลูกแคนประกอบด้วยลิ้นแคนหนึ่งอันที่มีหนึ่งเสียง และจะต้องเจาะรูแพวให้ถูกตามเสียงเสมอ วิธีเป่าแคนลาวลุ่มก็เหมือนกับการเป่าแคนลาวเทิง หรือ ลาวสูง คือจะต้องใช้อุ้งมือทั้งสองข้าง อุ้มเต้าแคนไว้แล้ว เป่าหรือดูดสูบลมที่รูเต้า ส่วนนิ้วมือก็นับไล่ตามเสียงไปด้วย

6. บุคคล/หน่วยงานที่เข้ามารับความรู้จากภูมิปัญญา

- นักเรียน ประชาชนทั่วไปที่สนใจ

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

1. ชื่อภูมิปัญญา หมอยาต้มสมุนไพร (พระครูสุวิมล ธรรมรังษี)

2. ที่อยู่ วัดบ้านหว้าน หมู่ที่ 2 ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

3. ประวัติความเป็นมา/สาระที่ได้จากภูมิปัญญา

หมอยา คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรค สมัยรุ่นคุณตายังหนุ่ม คุณย่ายังสาว การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าปัจจุบันนี้ หากย้อนไปมองในยุคนั้นก็จะพบว่า แต่ละชุมชนมักจะมีผู้ที่มีความรู้เรื่องวิธีรักษาโรค รู้เรื่องยาดีที่สุด หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หมอยา“ประจำอยู่ เมื่อเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะได้หมอยานี่แหละที่บรรเทาเบาบางอาหารเจ็บไข้ให้ แต่ถึงเดี๋ยวนี้สภาพสังคมเปลี่ยนไปวิถีชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนไปความเชื่อในการพึ่งหมอยาซึ่งรักษาด้วยวิธีตามแบบพื้นบ้านที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษเริ่มจางหายไป แต่กลับหันไปใช้วิธีที่รักษาได้รวดเร็วกว่านั้น ยาสมุนไพร เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติปราชญ์ชาวบ้านหรือหมอยาที่มีความรู้ก็จะนำมาสกัดหรือนำมาผ่านกรรมวิธีต่างๆที่นำตัวยาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการรักษาโรค

4. ลักษณะสำคัญของภูมิปัญญา

วิธีแปรรูปสมุนไพรเป็นการนำเอาสรรพคุณของสมุนไพรมาใช้งาน ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน พืชสมุนไพรแต่ละชนิดก็มีวิธีแปรรูปที่แตกต่างกันไป วิธีแปรรูปสมุนไพรที่พบเห็นได้บ่อยและนิยมใช้กันมากได้แก่ การต้ม วิธีการต้มยาสมุนไพรเป็นหนึ่งในวิธีแปรรูปสมุนไพรที่สามารถสกัดตัวยาที่อยู่ในสมุนไพรให้ออกมาได้ดีกว่าวิธีอื่นๆเพราะต้องใช้ความร้อนมากและเวลาการต้มที่นานกว่า โดยมีน้ำเป็นตัวละลายยาที่อยู่ในต้นพืชสมุนไพร การต้มยาสมุนไพรไม่จำกัดว่าจะเป็นสมุนไพรแห้งหรือสมุนไพรสด โดยมากจะเป็นพืชสมุนไพรจำพวกเปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดหรือผลของพืชสมุนไพร การต้มยาสมุนไพรมีข้อดีคือ ทำง่ายและสะดวก สามารถสกัดเอาตัวยาออกมาจากพืชสมุนไพรได้มากแต่ก็มีข้อเสียคือยาสมุนไพรที่ได้จากการต้มมักจะมีรสขม ฝาด กลิ่นและรสชาติไม่น่าดื่มและยาสมุนไพรที่ได้จากการต้มไม่ควรเก็บไว้ข้ามคืนเพราะอาจจะขึ้นราและเสียได้ง่าย ควรดื่มยาสมุนไพรที่ได้จากการต้มให้หมดภายในวันนั้น(ต้มกินวันต่อวัน)

5. ขั้นตอนการถ่ายทอดความรู้ของภูมิปัญญา

วิธีการต้มยาสมุนไพร ความสะอาดต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง น้ำและภาชนะที่ใช้ในการต้มยาสมุนไพรต้องสะอาดและบริสุทธิ์ ภาชนะที่ใช้ควรเป็นภาชนะที่ทำด้วยดินเผา ไม่ควรใช้ภาชนะที่เป็นโลหะเพราะสมุนไพรอาจทำปฏิกิริยากับโลหะทำให้มีผลต่อสรรพคุณของยาสมุนไพร ส่วนปริมาณที่ใช้ต้มให้ใส่พอท่วมตัวสมุนไพรเท่านั้น การเตรียมสมุนไพรที่จะต้ม ถ้าสมุนไพรที่นำมาต้มมีขนาดใหญ่ให้หั่นหรือสับให้มีขนาดเล็กลงแต่อย่าหั่นหรือสับสมุนไพรจนเล็กเป็นฝอยเพราะจะทำให้ลำบากเวลาจะแยกกากสมุนไพรออกจากน้ำสมุนไพรที่ต้มได้ หากเป็นสมุนไพรแห้งก่อนต้มให้แช่น้ำทิ้งไว้สัก 20-30 นาที แต่ถ้าเป็นสมุนไพรสดให้ต้มได้เลยไม่ต้องแช่น้ำ

ความแรงของไฟที่ใช้ต้มยาสมุนไพร ให้ใช้ไฟปานกลางเมื่อต้มยาจนเดือดแล้ว ค่อยๆลดไฟลงให้เป็นไฟอ่อนและขณะต้มยาสมุนไพรต้องคอยคนยาที่ต้มตลอดเวลา ต้มยาสมุนไพรด้วยไฟอ่อนอีก 10-20 นาทีก็ใช้ได้แล้ว การต้มยาสมุนไพรตามสูตรคนไทยที่ใช้กัน มักต้มโดยใส่น้ำลงไป 3 ส่วนแล้วต้มจนน้ำเหลือ 1 ส่วน(ต้ม 3 เอา 1) ยาสมุนไพรที่ได้จากการต้มให้กินวันละ 3 ครั้งและควรกินยาสมุนไพรที่ต้มได้ในวันนั้นให้หมดแบบวันต่อวัน

6. บุคคล/หน่วยงานที่เข้ามารับความรู้จากภูมิปัญญา

- นักเรียน ประชาชนทั่วไปที่สนใจ

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

1. ชื่อภูมิปัญญา การสานสุ่มไก่ (นายทองดี แหวนหล่อ)

2. ที่อยู่ : 57 หมู่ 11 บ้านหนองโง้ง ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

3.ประวัติความเป็นมา/สาระความรู้ที่ได้จากภูมิปัญญา :

หัตถกรรมเครื่องจักสานเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน ที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตตั้งแต่อดีตตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน หัตถกรรมเครื่องจักสานเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาอันเฉลียวฉลาดของคนในท้องถิ่น ที่ใช้ภูมิปัญญาสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาประยุกต์ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีประโยชน์ในการดำรงชีวิต จะเห็นได้ว่าหัตถกรรมเครื่องจักสานมีมานานแล้วและได้มีการพัฒนามาตลอดเวลาโดยอาศัยการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง การดำรงชีวิตประจำวันของชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เอาการรู้หนังสือมาเกี่ยวข้อง การเรียนรู้ต่างๆ อาศัยวิธีการฝึกหัดและบอกเล่าซึ่งไม่เป็นระบบในการบันทึก สะท้อนให้เห็นการเรียนรู้ ความรู้ที่สะสมที่สืบทอดกันมาจากอดีตมาถึงปัจจุบันหรือที่เรียกกันว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นกระบวนถ่ายทอดความรู้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทำภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นคงอยู่ต่อเนื่องและยั่งยืน

การจักสานไม้ไผ่ เป็นงานหัตกรรมที่หล่อหลอมขึ้นจากจิตวิญญาณและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ การสานเป็นการนำเอาวัสดุที่เตรียมแล้วมาสานประดิษฐ์ให้เป็นรูปร่างและลวดลายต่างๆ และการถักเป็นกระบวนการประกอบทำให้เครื่องจักสานสมบูรณ์เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างภายนอก วัสดุที่นำมาใช้สานได้แก่ ไม้ไผ่ หวาย กก ป่าน เป็นต้น

4. ลักษณะสำคัญของภูมิปัญญา: หัตถกรรมเครื่องจักสาน ภูมิปัญญาชาวบ้านและประสบการณ์ต่างๆ ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

5. ขั้นตอนการถ่ายทอดความรู้ของภูมิปัญญา: การบอกเล่าและการสาธิต

วัตถุดิบในการจักสาน ที่ใช้กันทั่วไปมีหลายอย่างได้แก่ ใบเตย ลำเจียกหรือปาหนัน ผักตบชวา ย่านลิเพา กระจูด กก ใบตาล ใบลาน หวาย ไม้ไผ่ แต่ที่นิยมนำมาใช้ทำงานจักสานมากที่สุดคือไม้ไผ่และหวาย เนื่องจากคงทน ราคาไม่แพง วัตถุดิบหาได้ ง่ายมีอยู่ทั่วไป

การเตรียมไม้ไผ

เลือกลำต้นที่มีความตรง ลำปล้องยาว ผิวเรียบเป็นมัน หลังจากตัดออกมาจากกอ นำมาแช่น้ำตลอดทั้ง ลำเพื่อให้ไม้ไผ่มีความสดและป้องกันมด ปลวก มอด เจาะไช เมื่อจะนำมาใช้งานจึงตัดเอาตามขนาดที่ต้องการมาผ่าออกแล้วนำไปจักเป็นตอกแล้วตากแดดให้แห้ง

1. วิธีการเตรียมไม้ไผ่ วัสดุ อุปกรณ์การสาน

2. ขั้นตอนการสาน การถักไม้ไผ่เป็นผลิตภัณฑ์ได้

3. วิธีการป้องกันและบำรุงรักษาไม้ไผ่ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จแล้ว

4. ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและสืบทอดต่อชนรุ่นหลังได้

6. บุคคล/หน่วยงานที่เข้ามารับความรู้จากภูมิปัญญา:

- นักเรียน นักศึกษา

- หน่วยงานท้องถิ่น

- บุคคลทั่วไป

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

1. ชื่อภูมิปัญญา การเป่าสะไน (นายจำเริญ กะตะศิลา)

2. ที่อยู่ : 18 หมู่ 1 บ้านหว้าน ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

3.ประวัติความเป็นมา/สาระความรู้ที่ได้จากภูมิปัญญา:

สันนิฐานว่าสะไนซึ่งเป็นดนตรีประเภทเป่าเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของชนเผ่าเยอ มีมาพร้อมการอพยพของผู้นำสองพี่น้องคือพระยาไกรกับพระบากตะศิลา เมื่อประมาณศรรตวรรษที่ 13 สมัยนั้นพระยาไกรและพระยากตะศิลาได้พาบริวารอพยพหนีความเดือนร้อนเข้ามาอาศัยดินแดนประเทศไทย โดยใช้เรือยาวเป็นพาหนะล่องเรือตามลำน้ำโขงแลเลี้ยวขวาที่ปากน้ำมูลอำเภอโขงเจียม พายเรือทวนน้ำจนถึงปากน้ำห้วยสำราญแวะลงปรึกษากันเพื่อหาทำเลตั้งบ้านเมือง พระยาไกร ได้พาพรรคพวกสร้างเมืองที่บริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมืองศรีสะเกษได้แก่บ้านปราสาทเยออำเภอไพรบึงและเขตอำเภอเมืองบางตำบล เช่น ตำบลโพนค้อ ตำบลทุ่ม

ส่วนพระยากตะศิลาได้พาบริวารขึ้นเรือพายทวนน้ำมูลไปตั้งเมืองที่เมืองคงโคก ปัจจุบันเป็นโบราณสถานไม่มีผู้อาศัยมีเพียงพระสงฆ์มาบูรณะฟื้นฟูเป็นวัด คือวัดเมืองคงในปัจจุบัน

เครื่องดนตรีสะไน สะไนสะไนเป็นเครื่องดนตรีสะไนทำจากเขาสัตว์ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อทำการเกษตรและพาหนะที่มีอยู่ในชุมชน คือ วัวและควาย โดยมีความยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร เจาะรูใส่ลิ้นที่กลางส่วนโค้งด้านในติดขี้ยุดลิ้นและลัดด้ายเล็กๆ กันลิ้นหลุดเข้าคอเลาเป่า

ความเป็นมาของ สะไน ว่า สะไน เป็นภาษาเขมรแปลว่าเขาสัตว์ ถ้าเป็นเขาควาย เรียกว่า สะไนกะไบ สะไน เป็นเครื่องคนตรีชนิดเป่าของชาวเยอที่ทำจากเขาสัตว์ โดยนิยมทำจากเขาควายเนื่องจากเขาควายมีรูลึกตั้งแต่โคนเขาถึงปลายเขาทำให้เจาะรูทะลุหากันได้ง่าย ตามหลักความเชื่อของชาวเยอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอราษีไศล สะไนนั้นเป็นเครื่องดนตรีทีใช้ประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมที่สำคัญ เช่นพิธีกรรมบวงสรวงศาลพญากะตะศิลา เพื่อรำลึกถึง พญากะตะศิลาซึ่งเป็นผู้นำในการพากลุ่มชาวเยออพยพมาจากลาวตอนใต้มาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณเมืองคงโคก ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน และการบวงสรวงพระภูมิเจ้าท่าหรือเทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำมูลในการแข่งขันเรือ ด้วยการเป่าสะไนซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเสียงในการออกเรือ และมีการประดิษฐ์ท่ารำประกอบเรียกว่า การเซิ้งสะไน ไม่นิยมนำมาเป่าเล่นเพื่อนผ่อนคลายหรือความบันเทิงใดๆ ชาวเยอโบราณมีคำสอนเกี่ยวกับการเป่าสะไนและฤดูกาลเป่าสะไนไว้ว่าถ้าจะเป่าสะไนให้เป่าตั้งแต่เดือน 8 (ปลายเดือนกรกฎาคมจะเข้าเดือนสิงหาคม) ถึงเดือนอ้าย(เดือนธันวาคมถึงมกราคม) นอกนั้นห้ามเป่าจะทำให้ฝนตกและฟ้าผ่ากลางวัน หรืออาจจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในหมู่บ้าน ในอดีตชาวเยอเชื่อกันว่าการเป่าสะไนเป็นการบูชาสังข์ เพราะสะไนสืบเชื้อสายมาจากสังข์ โดยปกติสังคมไทยนับถือสังข์เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เช่นในพระราชพิธีที่สำคัญจะมีการเป่าสังข์ก่อนเพื่อเป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเหล่าเทวดาทั้งหลาย ถ้าเป็นงานมงคลของประชาชนทั่วไปก็จะมีการนำสังข์มาประกอบพิธี เช่นตั้งศาลพระภูมิ การรดน้ำสังข์คู่แต่งงาน สะไนจึงเป็นเครื่องดนตรีชนิดเป่าที่ใช้แทนสังข์ เมื่อเป่าสะไนแล้ว เงือก นาค ภูตผีปีศาลจะไม่มาทำร้าย และ ในขณะเดียวกันจะทำให้ผีเจ้าป่าเจ้าเขาช่วยดูแลคุ้มครองปกปักรักษา ให้มีความปลอดภัย อยู่ดีกินดี นอกจากนั้นยังมีการนำสะไนมาเป่าเพื่อบูชาพระแม่ธรณีและพระแม่คงคาในประเพณีการแข่งเรือ หรือในสมัยโบราณเมื่อมีการเดินทางไกลก็จะมีการเป่าสะไนก่อนออกเดินทางเพื่อให้เกิดความโชคดี ปลอดภัย และได้รับความสำเร็จในการประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะการเดินทางกลางป่าจะนำสะไนติดตัวไปด้วย เชื่อว่าสัตว์ป่าจะไม่มาทำร้าย หรือแม้แต่การออกรบสมัยโบราณ ชาวเยอจะเป่าสะไนเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย ในการเป่าสะไนนั้นเวลาเป่าจะดูดเข้ามีเสียงดังกังวานมีอำนาจ หน้าเกรงขาม

4.ลักษณะสำคัญของภูมิปัญญา:

สะไน เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เสียงแทนความรู้สึกว่าดี ปลอดภัย อุดมสมบูรณ์ สร้างขวัญกำลังใจแก่มนุษย์ และยังเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินวิถีชีวิตของคนตั้งสมัยโบราณ ถึงปัจจุบัน เพราะสะไนนั้นเป็นเครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆ แต่เสียงดังเกินตัวหน้าเกรงขาม ถือได้ว่าเป็น “ภูมิปัญญา” ของคนโบราณที่ได้คิดค้นขึ้นมาให้เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของคนจนถึงปัจจุบัน

5.ขั้นตอนการถ่ายทอดความรู้ของภูมิปัญญา:

q การบอกเล่าประวัติความเป็นมา ความสำคัญของสะไน

q การทำสะไน

q วิธีการเป่าสะไน

วิธีการทำสะไน

จะต้องหาเขาควายให้ได้อย่างน้อย 5 เขาถึงจะทำได้ก่อนทำสะไนนั้นจะต้องทำพิธีบูชาครูก่อนแล้วจึงนำเขาควายที่หามาได้ทำการต้มรวมกับเครื่องชนะทั้ง 4 อย่าง ประกอบด้วยเกลือ ,ส้ม(มะขาม มะนาว ฯลฯ), ตะไคร้, และถ่านไฟ ซึ่งจะแทนธาตุ 4 อย่าง คือ น้ำ ดิน ลม และไฟ นั้นเอง จากนั้นนำมาต้มนานประมาณ 3 น้ำลด จนเขาสะอาจไม่มีกลิ่นแล้วจึงนำมาตากให้แห้งแล้วตกแต่งตามขนาดความต้องการจึงประกอบเข้ากับลิ้นที่ทำจากไม้ไผ่แล้วทำการติดลิ้นด้วยถ่านไฟบดเข้ากับยางต้นพยอมเข้าตรงกลางเขาพร้อมขัดเงา ทำความสะอาดให้สวยงาม สะไนจะไม่มีการซื้อหรือขายถ้ามีคนต้องการจะคิดเป็นค่าบูชาครูอันละ 500 บาทจะให้มากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ก็ไม่ได้

ปัจจุบันสะไนเป็นเครื่องดนตรีตามความเชื่อของชาวเยอว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคลใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ และนอกจากนั้นแล้วประชาชนทั่วไปยังนิยมบูชาไว้เพื่อเป็นของฝากของที่ระลึกเพื่อเป็นมงคลแก่ผู้ให้และผู้รับ และทุกปี อำเภอราษีไศลจะจัดให้มีการแข่งขันเรือยาวประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาทุกปี โดยมีความเชื่อว่าหลังออกพรรษาจะต้องมีการบวงสรวงเทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำมูล บูชาพระแม่คงคาพระแม่ธรณี ศาลพระภูมิเจ้าที่ และบวงสรวงศาลพญากะตะศิลา ด้วยการจัดให้มีการแข่งขันเรือและทุกครั้งที่มีการเปิดทำการแข่งขันเรือจะส่งสัญญาณเสียงในการออกเรือด้วยการเป่า “สะไน”

ความรู้เกี่ยวกับสะไน

1. สะไนเป็นเครื่องดนตรีชนิดเป่า เวลาเป่าจะดูดเข้า ถือกำเนิดมาจากชาวเยอหรือเผ่าเยอซึ่งเป็น 1 ใน 4 เผ่า ของจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ ส่วย เขมร และ ลาว ทำมาจากเขาสัตว์ นิยมทำจากเขาควายมากกว่าเขาสัตว์ชนิดอื่นๆ เพราะเขาควายจะมีรูทะลุตั้งแต่โคนเขาถึงปลายเขา

2. การเป่าสะไนหรือการดูดสะไน จะใช้ในการประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมที่สำคัญต่างๆ เท่านั้น เช่นพิธีบวงสรวง การแข่งเรือ จะไม่นิยมนำมาเป่าเล่นเพื่อความบันเทิง

3. สะไนเป็นเครื่องดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคลตามความเชื่อของชาวเยอ เมื่อเป่าแล้วสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งที่ไม่ดีเพื่อไม่ให้มาทำร้าย และยังให้ผี เจ้าป่าเจ้าเขามาดูแลคุ้มครองปกปักรักษาให้ปลอดภัย และอยู่ดีกินดี และยังใช้เป่าเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนออกเดินทาง

4. การเป่าสะไนจะให้ดีและเป็นมงคลแล้วจะต้องเป่าให้ถูกช่วงฤดูกาลคือระหว่างปลายเดือนกรกฎาคม ไปจนถึงเดือนมกราคม

5.วิธีการทำสะไนนั้นเนื่องจากสะไนเป็นเครื่องคนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์จะต้องมีเคล็ดในการจัดทำกล่าวคือ จะทำแต่ละครั้งจะต้องหาเขาสัตว์อย่างน้อย 5 อัน และจะต้องมีพิธีบูชาครูเสียก่อนทุกครั้งจึงจะสามารถทำตามขั้นตอนได้

โอกาสที่ใช้แสดง สมัยโบราณสันนิฐานว่าเป็นสัญญาณเรียกคนให้ มารวมกันเพื่อทำงานที่ต้องการออกแรงและเป็นสัญญาณเตือนภัยปัจจุบัน

การเป่าสะไนและเซิ้งสะไน ซึ่งสะไนเป็นเครื่องดนตรีโบราณที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมของคนเผ่าเยอ เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้บ้านเชือกยังเป็นตัวแทนของอำเภอราษีไศลไปแสดงในงานเทศกาลสำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ เช่น งานเทศกาลดอกลำดวนบาน เทศกาลปีใหม่สี่เผ่าไทย

ใช่ในการแข่งขัน

ใช้ในการบวงสรวงดวงวิญญาณพระยากตะศิลา

ใช้ประกอบการแสดงรำสะไน

6. บุคคล/หน่วยงานที่เข้ามารับความรู้จากภูมิปัญญา:

บุคคลทั่วไป