ภูมิปัญญาท้องถิ่น

งานจักสานจากใบเตยหนาม ภูมิปัญญาที่กำลังจะเลือนหาย

“บางเตย” เป็นชื่อตำบลที่ฟังดูแล้วน่าจะต้องมีต้นเตยขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จนได้สมญานามนี้มาตั้งเป็นชื่อตำบล ผู้คนส่วนมากคิดว่า “เตย” คือ ต้นเตยหอมที่มีใบเรียว ยาว สีเขียวเข้ม ใบรวมกันเป็นช่อ ใบของมันนำมาคั้นผสมเป็นเครื่องดื่ม อาหารหรือขนมได้ ใช้ประโยชน์จากสีของใบเตยเป็นสีธรรมชาติผสมอาหาร นำกลิ่นหอมของเตยมาเพิ่มสีสัน รสชาติให้อาหารดูดีและสวยงามขึ้น รวมไปถึงนำใบเตยไปสานเป็นของตกแต่งพวงมาลัย เข้าช่อดอกไม้ หรือทำเป็นภาชนะห่อ จัดวางอาหารที่เราเห็นกันทั่วไป แถมยังสามารถนำต้นเตยหอมทั้งกอไปวางในรถเพื่อดับกลิ่นได้อีกด้วย

แต่อันที่จริงแล้ว “เตย” มีหลายสายพันธุ์ รูปร่างอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง ส่วนสายพันธุ์ที่เป็นที่มาของชื่อตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมนั้น ไม่ใช่ต้นเตยหอมอย่างที่กล่าวมา เรามาทำความรู้จัก “บางเตย” ผ่านเรื่องราวที่จะเล่าต่อจากนี้กัน ด้วยความเป็นอยู่ของชาวบ้านตั้งแต่สมัยโบราณ รุ่นปู่ย่า ตายาย จะปลูกบ้านเรือนใช้ชีวิตเรียบฝั่งแม่น้ำใช้เรือในการสัญจรไปมา จึงเห็นว่าต้นเตยหนามที่ขึ้นอยู่ชุกชุมตลอดสองแนวฝั่งแม่น้ำท่าจีนยาวไปจนถึงแม่น้ำนครชัยศรีน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงนำใบเตยหนามมาสานทำเสื่อ ทำหมอน ของใช้จักสานไว้ใช้ในบ้านเรือน ทำไมใบเตยหนามจึงเป็นวัสดุที่นำมาใช้สานได้ดี มาเรียนรู้กันเลย

“เตยหนาม”มีลักษณะต้นเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 5 – 10 เมตร แตกกิ่ง ก้าน เป็นกอ มีรากยึดเกาะ ลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน ชอบขึ้นตามชายฝั่งแม่น้ำหรือชายทะเล ลักษณะใบ ยาว เป็นใบเดี่ยว สีเขียว ใบแข็ง เนื้อใบเหนียว ขอบใบมีหนาม ดอก ออกช่อติดกันแน่น เป็นช่อสั้นๆ ออกช่อตามซอกใบ ปลายกิ่งมีสีขาว ถ้าต้นมีดอกเพศผู้จะเรียกว่า “ลำเจียก” ถ้ามีดอกเพศเมีย จะเรียกว่า “เตยทะเล” ผลอยู่รวมกันเป็นกระจุก มองดูคล้ายสับปะรดรูปปรี เมื่อผลแก่จะมีสีแสดออกแดง ชอบแดดจัด ด้วยต้นเตยหนามมีประโยชน์คือยึดเกาะไม่ให้ดินชายฝั่งพังทลาย บังลม ทนต่อลมแรงและอากาศแล้ง

ชาวบ้านมักจะนำใบของเตยหนามที่ตัดมาแล้วตากแดดให้แห้ง ริดหนามที่ขึ้นอยู่ขอบใบออก แล้วนำมาใช้ประโยชน์สานทำเสื่อ ทำหมอน ใช้ในบ้าน หรือนำไปขายสร้างรายได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการดำเนินชีวิตตามวิถีเดิม ๆเปลี่ยนไป จึงทำให้ต้นเตยที่เคยถูกนำมาถักสานเป็นเสื่อไว้ใช้ มีคุณสมบัติพิเศษคือ ผืนเสื่อเย็นสบาย หมอนใช้หนุนทำให้ไม่ปวดต้นคอ รวมไปถึงเครื่องจักสานต่างๆตามวิถีคนในท้องถิ่นเปลี่ยนไปใช้ที่นอนยัดฟองน้ำ ยางพารา เตียงไม้ราคาแพง หมอนนุ่มๆมีราคา การนำเตยหนามมาใช้ประโยชน์จึงถูกลืมไป จนคนรุ่นหลังไม่รู้จักคุณค่า ไม่เห็นประโยชน์ของเตยหนามดั่งเช่นเก่าก่อน

เมื่อต้นเตยหนามไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์จึงขยายพันธุ์เจริญเติบโตทำให้กลายเป็นปัญหาวัชพืช ถ้าปล่อยให้มีการเจริญเติบโตขยายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ จะกำจัดยาก เพราะต้นเตยมีหนามแหลมคมสร้างรอยแผลกับผู้คนที่สัญจรไปมาทั้งพายเรือเข้าร่องสวนหรือบริเวรปากทางน้ำ แต่เมื่อวันเวลาพ้นผ่านไป ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังคงรู้ประวัติ ความเป็นมา เหลือน้อยลงทุกที ทำให้ความรู้และตำนานการสานเสื่อ สานหมอน จากใบเตยหนามเลือนหายไปจากชุมชนด้วย เหลือเพียงภูมิปัญญาไม่กี่คนที่ยังคงสามารถถ่ายทอดความรู้และเล่าเรื่องราวต่างๆของการสานเสื่อ หมอน จากใบเตยหนามให้คนรุ่นหลังฟังได้

แต่ยังคงมี คุณวารุณี แซ่บู๊ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นชองชุมชนบ้านคลองผีเสื้อที่ยังถ่ายทอดความรู้แก่ผู้คนทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้นำไปเผยแพร่ต่อไป หน่วยงานในพื้นที่และองค์กรความรู้ต่างๆจึงหวนกลับมาคิดที่จะพลิกฟื้นต้นเตยหนามให้กลับมาเป็นพืชคู่ท้องถิ่นอีกครั้ง โดยนำความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี งานจักสานเสื่อ หมอน จากใบเตยหนาม ส่งต่อให้คนรุ่นหลังเก็บความรู้ที่ทรงคุณค่านี้ไว้เพื่อเป็นมรดกทางภูมิปัญญาไว้ในคลังความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป หากสนใจเรียนรู้ ศึกษาเพิ่มเติม สามารถติดต่อเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดที่ คุณวารุณี แซ่บู๊ โทร. 081-197-1203

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวทัตติยา น้อยพิทักษ์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวทัตติยา น้อยพิทักษ์