ประวัติหมู่บ้าน

       บ้านห้วยไร่ (บ้านเก๊า)  หมู่บ้านเดิมอดีตตั้งอยู่ฝั่งน้ำห้วยไร่  เหนือบ้านวังปาน และบ้านแม่ลี้  ในอดีตได้เกิดโรคไข้ทรพิษ  ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านล้มตายจำนวนมาก  เนื่องจากเกิดโรคตามความเชื่อของชาวบ้านว่าถูกผีทำร้าย  ถ้าตั้งหมู่บ้านต่อไป       จะอยู่ไม่เป็นสุข  จึงทำให้ชาวบ้านห้วยไร่ได้แยกย้ายหาที่อยู่อาศัยใหม่  โดยแยกหมู่บ้านออกมาตั้งเป็นบ้านห้วยไร่  บ้านวังปาน       บ้านแม่ลี้  บ้านแม่แสม  ในระยะแรกมีประชากร  20  หลังคาเรือน  60  กว่าคน

       การย้ายเข้ามาตั้งหมู่บ้านห้วยไร่ในอดีตนั้นตั้งอยู่บริเวณลำห้วยไร่  ซึ่งไหลผ่านหมู่บ้านจึงได้ตั้งชื่อตามลำห้วยเมื่อย้ายเข้ามาจัดตั้งหมู่บ้านที่ตั้งปัจจุบัน การตั้งหมู่บ้านใกล้ลำห้วยมะดา  ซึ่งไหลผ่านเหนือหมู่บ้าน ชาวบ้จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่ามะดะเมื่อประชากรเข้ามาอาศัยจำนวนมากขึ้นการตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้นอยู่กับการปกครองของอำเภอลี้ ซึ่งตั้งชื่อเป็นบ้านห้วยไร่อย่างเป็นทางการ

      

ประวัติชาติพันธุ์

       ชาวบ้านห้วยไร่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง  โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านห้วยไร่  สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษเผ่ากะเหรี่ยงมาจากชายแดนไทย – พม่า  บริเวณอำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่  โดยเข้ามาแสวงหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัย  ภาษาที่ใช้สื่อสารกันภายในหมู่บ้านเป็นภาษาท้องถิ่นในหมู่บ้าน  คือ  ภาษากะเหรี่ยง  พอสันนิษฐานได้ว่าต้นกำเนิดของหมู่บ้าน  โดยมีนามสกุลในหมู่บ้านเป็นแกนนำคือ    วิหล้ากว้าง , ปัญโญ , คำนวล ,  สุกันและปู่เงิน

ประเพณีและวัฒนธรรม

ศาสนาชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือสาสนาพุทธควบคู่กับผีตามประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ประเพณีที่ชาวบ้านนับถือกันส่วนใหญ่ได้รับสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษและประเพณีพื้นเมืองเหนือ  คือ

1.    การเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน (การเลี้ยงผีเสื้อผ้า  ผีเจ้านาย)  จะทำกันปีละ  2  ครั้ง  โดยช่วงเดือน  5  เหนือ (ปลายเดือนมกราคม – ต้นเดือนกุมภาพันธ์)  จะนำไก่หลังคาละ 1  ตัว  มาเลี้ยงและช่วงเดือน  9 เหนือ  (ปลายเดือนพฤษภาคม ถึง ต้นเดือนมิถุนายน)  จะนำไก่หลังคาละ  1  ตัวมาเลี้ยง  เมื่อครบ  3  ปี  จะเลี้ยงหมู โดยการเก็บเงินของแต่ละหลังคาเรือนมาซื้อหมูเลี้ยงผี

2.    ประเพณีการเข้ากรรมประจำหมู่บ้าน  จะทำปีละ  2  ครั้ง  ช่วงเดือน  5  ออก  7  ค่ำ  และช่วงเดือน  9 ออก  7  ค่ำ  โดยมีข้อห้าม  คือ  ห้ามคนนอกเข้ามาในหมู่บ้าน  ถ้าฝ่าฝืนต้องปรับเงิน 100  บาท  เพื่อนำมาเลี้ยงผี

3.    การเลี้ยงผีไร่  ผีนา  จะทำช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร จะมีการนำไก่มาเลี้ยง

4.    ประเพณีการเลี้ยงผีเหมือง  ผีฝาย  จะกระทำช่วงก่อนฤดูกาลเพาะปลูก  และการเลี้ยงผีไร่  ผีนา  จะทำช่วงหลังการเก็บเกี่ยวเมื่อครบ  3  ปี  จะมีการเลี้ยงหมู  โดยเก็บเงินตามเจ้าของนาแล้วเลี้ยงผีร่วมกัน

5.    เลี้ยงผีปู่ย่า  ผีบรรพบุรุษ  จะเลี้ยงตามเครือญาติ  นิยมเลี้ยงเดือน  9 เหนือ  เมื่อสมาชิกในบ้านมารวมกันครบหรือเมื่อเครือญาติเจ็บไข้ได้ป่วยหรือสมาชิกในเครือญาติแต่งงานโดยนิยมเลี้ยงไก่และหมู

6.    ประเพณีแต่งงาน  จะทำพิธีกรรมแบบเผ่ากะเหรี่ยงมีข้อห้ามถ้ายังไม่ได้แต่งงานห้ามอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา  นิยมแต่งงานกันช่วงเดือนพฤศจิกายน  ธันวาคม  มีนาคม  พฤษภาคมและมิถุนายน

7.    ประเพณีสลาพัตร  จะทำทุกปี  ช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม  แล้วแต่ฐานะทางเศรษฐกิจของคนในหมู่บ้าน  ถ้าไม่มีประเพณีสลากพัตรก็จะมีการทอดผ้าป่าสามัคคีขึ้นภายในหมู่บ้าน

8.    พิธีกรรมต่าง ๆ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น  วันเข้าพรรษา  วันออกพรรษา        วันมาฆบูชา  เป็นต้น  จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาภายในวัด

9.    พิธีงานศพ  จะทำแบบประเพณีชาวเขาอยู่บ้าน  และมีพิธีของชาวไทยพื้นเมืองเป็นบางส่วนปัจจุบันมีการเผาศพเป็นส่วนใหญ่  ข้อห้าม  คือ  ห้ามคนในหมู่บ้านออกไปทำงานในวันเผาศพ  วันตาย  ห้ามคนในหมู่บ้านออกนอกหมู่บ้าน  เมื่อเผาศพให้คนในหมู่บ้านพัก  3 วัน  แล้วมัดมือเลี้ยงไก่  1  ตัว  แล้วแต่บ้านของใครของมัน

10. ประเพณีปอยข้าวสังข์ (ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย ) นิยมทำหลังจากคนตายไปแล้ว 3 ปี หรือแล้วแต่ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว

          11. ประเพณีดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่  ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์  พร้อมกับมีการสืบชะตาของหมู่บ้านขึ้นด้วย

    12. ประเพณีทานข้าวใหม่  (ทดแทนบุญคุณข้าว)  จะทำช่วงเดือนสี่เป็ง  ประมาณเดือนมกราคม

               13. ประเพณีเดือนยี่เป็ง  (วันลอยกระทง)  มีการทำบุญตักบาตร  มีการฟังเทศน์ฟังธรรม  มีการปล่อยโคมไฟ    ว่าวไฟ  จุดดอกไม้ไฟและการลอยกระทง


อ้างอิงจาก    (ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี)   OTOP LUMPHUN

OTOP นวัตวิถี ภายใต้การดูแลของโครงการไทยนิยมยั่งยืน

บ้านห้วยไร่ อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน 

Production by  Thu Creation Group / หจก.ฑู ครีเอชั่น กรุ๊ป 

เรียงเรียงข้อมูลโดย นางสาวเพชรดา  แสงคำกาศ