ขนมนางเล็ดน้ำแตงโม

ขนมนางเล็ดน้ำแตงโม บ้านใหม่ กม.9

ประวัติความเป็นมา เมื่อเอ่ยถึงขนมไทยในสมัยก่อน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักขนมข้าวแตนหรือเรียกกันติดปากว่า”ขนมนางเล็ด” เป็นขนมที่ทำมาจากข้าวเหนียวราดด้วยน้ำตาล คนไทยในอดีตจะทำขนมในเทศกาลหรือประเพณีต่างๆ เช่น ขนมห่อ จะทำในวันสาทหรือวันสงกานต์ วันออกพรรษาจะทำกระยาสาท หรือทำขนมนางเล็ด ขนมหูช้าง เพื่อใช้ในการประกอบประเพณีเทศมหาชาติ จึงนับได้ว่าขนมไทยมีความสำคัญ ต่อประเพณี หรือเทศกาลต่างๆของคนไทยมาก ขนมไทยในอดีตเหล่านี้ยังอยู่คู่กับคนไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้ขนมไทยจะทำตลอดทั้งปี โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงประเพณีหรือเทศกาลต่างๆ จึงนับได้ว่าขนมไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชุมชนมาก เพราะสามารถผลิตขายได้ตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้เพิ่มให้กับครอบครัวอีกทาง ภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะนำเสนอคือการ“ขนมนางเล็ดน้ำแตงโม”บ้านใหม่ กม.9 ตำบลกุดน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาอาชีพการทำขนมนางเล็ด ในอดีตชาวบ้านใหม่ กม.9 จะทำเมื่อมีเวลาว่างจากการทำนา ทำไร่ เพื่อมาขายในบริเวณหน้าบ้านของตนเอง เนื่องจากบ้านใหม่ กม.9 จะอยู่ติดกับถนนสายหลักที่ชาวบ้านใช้สัญจรกัน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางเชื่อมไปยังหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลหนองหญ้าขาว ตำบลกฤษณา ทำให้ได้ทำเลขายของที่ดี มีลูกค้าแวะอุดหนุนกันเป็นประจำ ขนมที่ชาวบ้านทำขายได้แก่ ขนมนางเล็ด ขนมถ้วย และมีผลผลิตทางการเกษตรมาให้เลือกซื้อกันอีกด้วย ต่อมาขนมนางเล็ดได้มีการทำขายกันมากขึ้น แต่ยังเป็นแบบรสชาติดั่งเดิม ชาวบ้านจึงคิดค้นสูตรการทำขนมนางเล็ดให้มีความแตกต่างจากขนมนางเล็ดจากที่อื่น โดยการลองผิดลองถูก อยู่หลายครั้ง จนชาวบ้านจึงคิดว่าในพื้นที่แถวๆหมู่บ้านมีการปลูกแตงโมจำนวนมาก และราคาแตงโมขณะนั้นก็ค่อนข้างต่ำ จึงทดลองเอาแตงโมมาเป็นส่วนผสมในการทำขนมนางเล็ด จนได้รสชาติที่ดี ประกอบกับสีของแตงโมเมื่อทอดแล้วสีจะสวยน่ารับประทานและมีกลิ่นหอม จนปัจจุบันได้รับความนิยม และขึ้นชื่อในเรื่องของความอร่อย หอม หวาน กรอบ น้ำตาลเหนียว

มีงาคั่วโรยเพิ่มความหอมของขนม ซึ่งวัตถุดิบและวิธีการทำมีดังนี้

วัสดุดิบในการทำขนมนางเล็ดน้ำแตงโม

1.ข้าวเหนียว

2.น้ำตาล (น้ำตาลปี๊บ )

3.น้ำมันพืช (สมัยก่อนใช้นำมันหมูในการทอด)

4. เกลือ

5. น้ำแตงโม (ปอกเปลือกเอาแต่เนื้อแล้วขยำเนื้อให้ละเอียด กรองเอาแต่น้ำแตงโม)

อุปกรณ์ในการทำขนมนางเล็ดน้ำแตงโม

1. พิมพ์ขนม ทำจากไม่ไผ่เป็นวงเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร

2. กระแตะ ใช้สำหรับตากขนม ทำมาจากไม้ไผ่สานกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร

3. กระทะสำหรับทอดขนม และ เคียวนำตาล

4. รังถึง หรือ หวด ใช้สำหรับนึ่งข้าวเหนียว

5. ชามขนาดใหญ่ ใช้สำหรับคลุกข้าวเหนียวกับน้ำแตงโมให้เข้ากันและใช้ใส่ขนม

ขั้นตอนและวิธีการทำขนมนางเล็ดน้ำแตงโม

1. เริ่มจากการแช่ข้าวเหนียวไว้ 1 คืน แล้วนำข้าวเหนียวมานึ่งจนสุก

2. นำข้าวเหนียวที่สุขแล้ว ขณะที่กำลังร้อนจัด มาผสมกับนำแตงโมที่เตรียมไว้แล้ว

3. ผสมให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำข้าวเหนียวมาปั้นใส่พิมพ์ที่เตรียมไว้

4.เมื่อปั้นข้าวเหนียว นำมาใส่กระแตะ แล้วนำไปตากแดด ตากแดดประมาณ 2 แดด หรือ 2 วัน เมื่อแห้งจัด เก็บใส่ภาชนะให้มิดชิด โดยไม่ให้มีความชื้น ถ้าขนมตากไม่แห้งจะทำให้ขนมขึ้นราและที่สำคัญเวลาทอดขนมจะไม่สวยไม่น่ารับประทาน

วิธีการทอดขนมนางเล็ดน้ำแตงโม

1.เตรียมน้ำมัน ที่เตรียมไว้ทอด ตั้งไฟให้ร้อนจัด

2.นำขนมข้าวแตนที่แห้งแล้วมาทอด โดยทอดครั้งละ 15 แผ่น เมื่อสุกได้ที่แล้ว ตักใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้ให้เย็น

3.สำหรับน้ำตาลที่จะราดหน้าขนมข้าวนางเล็ดน้ำแตงโมใช้น้ำตาลปี๊บเคี่ยวให้เหนียวได้ที่พอประมาณ หลังจากนั้น นำช้อนตักน้ำตาลราดหน้าขนมนางเล็ด ต้องราดที่ละแผ่น โดยราดให้เป็นเส้นเล็กๆ เป็นวงกลมตามแผ่นขนม และโรยงาคั่วเพื่อเพิ่มความหอมน่าทานการบรรจุหีบห่อขนมนางเล็ดน้ำแตงโม ที่ทำออกทุกวันจะต้องมีการบรรจุห่อ โดยใส่ถุงพลาสติกใส เพื่อให้มองเห็นขนมข้างในน่ารับประทาน ถุงที่ใช้ใส่ขนมคือ ถุงขนาด 6×9 บรรจุถุงละ 6 แผ่น แล้วปิดปากถุงให้แน่น เพื่อป้องกันอากาศเข้าภายในถุง ถ้าอากาศเข้าได้จะทำให้ขนมไม่กรอบ

ปัจจุบันอาชีพการทำขนมนางเล็ดได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น เช่น น้ำตาล แตงโม โดยเฉพาะน้ำมันพืชที่ใช้ในการทอดและก๊าชเชื้อเพลิงที่มีการปรับตัวสูงเหมือนกัน ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น การปรับราคาขนมก็ทำได้ยาก ซึ่งปกติขายถุงละ 20- 30 บาท จึงจำเป็นที่จะต้องลดปริมาณของขนมลง เพื่อจะได้ให้ลูกค้าได้ทานขนมในราคาเท่าเดิมการพัฒนาการทำขนมนางเล็ดน้ำแตงโม ในอนาคตที่อยากให้ชุมชนได้พัฒนาในด้านของ รสชาติให้มีมาตรฐาน และให้สามารถเก็บไว้ได้นานที่สุด คือ มีความกรอบ ไม่เหนียว ไม่มีกลิ่นอับ ถ้าเป็นไปได้ควรมีฉลากบ่งชี้ วัน เดือน ปี ที่ผลิต วันหมดอายุ และให้มีใบรับรองจาก อย. เพื่อจะได้เป็นอาหารที่ถูกต้องสะอาด ถูกหลักอนามัย เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานที่ดีต่อไปในอนาคต

ผู้เรียบเรียง นางสาวสาวิตรี มะลิลา