ผี-ตา-ปู่



“ผีตาปู่”

ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ความเชื่อแบบท้องถิ่นหรือความเชื่อเรื่องผียึดครองมาก่อน แม้ว่าในตอนหลังจะ มีคติแบบพราหมณ์และพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่แต่ความเชื่อเรื่องผีก็มิได้สูญหายหรือลดความสำคัญลงแต่มีการผสมผสานที่เป็นลักษณะพิเศษระหว่างความเชื่อที่หลากหลายทั้งพราหมณ์ พุทธและผีซึ่งปรากฏอยู่ในวิถี ชีวิตที่กลมกลืนอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจน (ธีรพงษ์ มีไธสง, 2560 : 106) ผีจึงเป็นสัญลักษณ์ แทนอำนาจเหนือธรรมชาติที่ยังมีความสำคัญมากของชาวอีสาน ความเชื่อเรื่องผีผูกพันอยู่กับการดำเนินชีวิตของคนอีสานในทุกช่วงขณะของชีวิต ดังเช่น พิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งปีหรือที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง เพื่อการ ปฏิบัติตามจารีตประเพณีของสังคม การประกอบอาชีพทางการเกษตรที่มีความเชื่อเกี่ยวกับผีเข้ามาเชื่อมโยง การรักษาโรค หรือพิธีสู่ขวัญ แต่งแก้เสียเคราะห์ที่นำมาซึ่งความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ และพิธีกรรมการเซ่นไหว้ บูชาผีปู่ตาหรือผีบรรพบุรุษที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทุกปี พิธีกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการผสมผสานกลมกลืน ระหว่างความเชื่อเดิมในท้องถิ่นกับความเชื่อกระแสหลักที่เข้ามาในภายหลังซึ่งมีการเลือกรับและปรับเข้าหากันประเพณีการเลี้ยงผีตาปู่เป็นประเพณีความเชื่อของชาวอีสานที่มีความเกี่ยวพันธ์ต่อเนื่องกันกล่าวคือก่อนจะมีการทำบุญเลี้ยงบ้าน(การทำบุญตักบาตรพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน)นั้นก็จะต้องมีการเลี้ยงผีตาปู่ก่อนทั้งสองประเพณีนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาน(Supernaturalism) ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า “ผี”ความเชื่อเรื่องผีในสังคมท้องถิ่นของชาวอีสานมีอยู่อย่างแพร่หลายมีทั้งผีที่ร้ายและผีที่ดีตัวอย่างของผีที่ร้ายก็ เช่น ปอป กระสือ ซึ่งผู้คนกลัวและหาทางกำจัด ส่วนผีอีกประเภทคือผีดีนั้นผู้คนให้ความเคารพนับถือกราบไหว้บูชา เช่น ผีปู่ตา ผีตาปู่ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ หรือผีบ้านผีเรือน ที่มีความเชื่อว่าคอยปกป้องให้ความคุ้มครองคนในชุมชนนั้นๆเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติอันเป็นผลให้เกิดประเพณีที่เกี่ยวข้องกับผีคือประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาและประเพณีทำบุญเลี้ยงบ้าน

เรื่องราวความเชื่อ ความศรัทธาของคนในชุมชนที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนให้ความเคารพบูชาและใช้เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ แทบทุกหมู่บ้านของประเทศไทยเชื่อว่ามี "ผี" ที่คอยปกปักรักษาหมู่บ้านให้มีความสงบร่มเย็น อาจจะมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน ตามแต่ละพื้นที่ เช่น พ่อเฒ่า แม่เฒ่า ศาลตาปู่ แต่ทางภาคอีสานจะเรียกว่า "ผีตาปุ่" ผีตาปู่ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ ที่เป็นผู้ก่อตั้งบ้านเมือง ถึงจะไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ยืนยัน แต่ก็มีคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนที่เล่าสืบต่อกันมา และถือปฏิบัติเป็นประเพณีเรื่อยมา ทุกๆ ปีชาวบ้านจะจัดพิธีสักการะบูชา เพื่อให้ช่วยปกปักรักษาคนในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะไปทำมาค้าขาย หรือแม้แต่ความเชื่อในการบนบาลศาลกล่าวให้ประสพผลสำเร็จตามความตั้งใจปรารถนา ประเพณีการเลี้ยง “ผีตาปู่”ในชุมชนตำบลกุดน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จะนิยมทำกันในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ของทุกปี ห้ามประกอบพิธีกรรมในวันพระ และวันอังคาร ศาลตาปู่ในอดีตนิยมสร้างด้วยไม้ แต่ในปัจจุบันได้มีการสร้างแบบปูน มุงหลังคามั่นคง การประกอบพิธีกรรมเลี้ยงตาปู่ มีการยกขัน5 และมีเครื่องสักการะ เซ่นไหว้ ผ้าข้าวม้า โจงกระเบน น้ำอบ น้ำหอม รูปปั้น ช้าง ม้า มีดดาบ(ไม้ไผ่) ปืน(ไม้ไผ่) ผู้นำหมู่บ้านจะประกาศให้ลูกบ้านเตรียมข้าวปลาอาหาร ไก่ต้ม(ไก่เลี้ยงผีตาปู่ ห้ามเชือดคอ) หัวหมู สุรา ไข่ต้ม หมาก พลู ยาสูบ(ในม้วนยาสูบบางหมู่บ้านจะใส่พริกแห้งในม้วนยาสูบด้วย) น้ำมะพร้าว ด้ายสายสิญจน์ และมีการทำกระทงสามเหลี่ยม ในกระทงจะประกอบไปด้วย ข้าวดำ ข้าวแดง หมาก พลู ยาสูบ ปลาที่มีหัวและหางครบ ใช้แป้งข้าวเหนียวมาปั้นหรือกาบกล้วยมาตัด เป็นรูปคน วัว ควาย เป็ด ไก่ ให้ครบตามจำนวนของแต่ละครอบครัว ในแต่ละเหลี่ยมของกระทงต้องตัดชายธงเป็นสามเหลี่ยมแล้วเสียบไว้มุมบนทั้งสามมุม เมื่อทำกระทงเรียบร้อยแล้วชาวบ้านจะ นำไปรวมกันบริเวณพิธีศาลปู่ตา จากนั้นผู้เฒ่าจ้ำ(ผู้แทนที่เป็นคนทรงนำประกอบพิธี)ก็จะเป็นผู้นำประกอบพิธี ระหว่างการประกอบพิธีจะมีหมอแคนเป่าแคน มีชาวบ้านบางส่วนช่วยกันตีกลอง ตีโทนให้จังหวะ ระหว่างอัญเชิญผีตาปู่มายังพิธี และดำเนินพิธีการเสี่ยงทายดินฟ้าอากาศ รวมทั้งเหตุเภทภัยที่อาจเกิดขึ้นกับหมู่บ้าน และพ่อจ้ำที่ได้ทำการทรงตาปู่แล้วจะเป็นผู้ที่พาลูกบ้านไปปล่อยกระทงตามพื้นที่ที่เสี่ยงทายไว้ เหตุผลที่ทำกระทงสามเหลี่ยมเพื่อที่จะได้อุทิศส่วนกุศลให้กับสัมภเวสี ผีไม่มีญาติ ได้รับส่วนบุญส่วนกุศลได้กินอาหารจะได้ไม่มาก่อกวนคนในหมู่บ้าน หลังเสร็จพิธีดังกล่าวชาวบ้านก็จะแบ่งข้าวปลาอาหารไปรับประทานเพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว

ปัจจุบันพ่อจ้ำ แม่จ้ำ ผู้ที่ทำหน้าที่ เป็นผู้ดำเนินพิธีมีอายุมากขึ้น จึงเป็นลูกหลานในตระกูลเดียวกันที่ต้องทำหน้าที่สืบทอดพิธีกรรมนี้ด้วยสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยที่เจริญรุ่งเรือง กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนมักไม่ค่อยสนใจกับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นอันเป็นผลจากการต้องประกอบอาชีพสมัยใหม่ที่ไม่ใช่การทำเกษตรทำให้การประกอบพิธีกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาประสพกับโรคระบาดโควิด 1๙ ทำให้ไม่ได้ประกอบพิธีกรรม ผู้สูงวัยในชุมชนอยากให้ ลูกหลานให้ความสำคัญเพื่อจะได้สืบสานและอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น ให้อยู่คู่กับชุมชนจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลานในอนาคตต่อไป

อ้างอิงข้อมูล วารสารมนุษยศาสตร์ ฉบับบัณฑิตศึกษา

แหล่งที่มาhttp://www.human.ru.ac.th/grad/images/pdf/2558-4-1/NiwatNhangkasem.pdf สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕

ผู้ให้ข้อมูล นายเลี้ยง สารจันทึก สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕

ผู้เรียบเรียง นางสาวสาวิตรี มะลิลา