โรคติดเชื้อไวรัสซิกา

เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัดและช่องทางอื่นๆ ที่เป็นไปได้ เช่น การแพร่ผ่านทางเลือด แพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อในประเทศไทยมีความเป็นไปได้เล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้อทั้งในประเทศ และจากต่างประเทศ รวมถึงอาจมีผู้ติดเชื้อจากประเทศไทยเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากมีชาวไทย และชาวต่างชาติเดินทางเข้าออกพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคในหลายรูปแบบ 

วิธีการติดต่อ

     มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่น ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นต้น โดยไวรัสจะเพิ่มจำนวนอยู่ในลำไส้และต่อมน้ำลายของยุง สามารถแพร่เชื้อและติดต่อได้โดยการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัดนอกจากนี้ยังมีรายงานว่าไวรัสซิกาสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ และตรวจพบไวรัสซิกาจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย ปัสสาวะ น้ำคร่ำ รก น้ำนม และน้ำอสุจิ 

ระยะฟักตัว

     มีระยะฟักตัวในคน 4-7 วัน (สั้นสุด 3 วัน ยาวสุด 12 วัน) และในยุง 10 วัน

อาการของโรค

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง โดยจะมีอาการคล้ายคลึงกับผู้ป่วยไข้เดงกี คือ มีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นแดงแบบ Maculopapular rash ที่บริเวณลำตัว แขนขา เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง (ไม่มีขี้ตา) ปวดข้อ อ่อนเพลีย อาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง โดยการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้ดูแลรักษาตามอาการ (Supportive treatment) ห้ามให้ยา Aspirin และยาในกลุ่ม NSAIDs เป็นยาแก้ปวด หรือลดไข้ ส่วนน้อยอาจมีอาการเส้นประสาทอักเสบ (Guillain-Barre syndrome: GBS) หรือความผิดปกติทางระบบประสาทอื่น ๆ สำหรับหญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาอาจแพร่เชื้อสู่ทารกในครรภ์ซึ่งแตกต่างจากการติดเชื้อเดงกี คือ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ที่อาจทำให้มีภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) อาจพบมีหินปูนจับในเนื้อสมอง (Intracranial calcifications) และอาจมีความพิการแต่กำเนิดภายนอกร่วมด้วย เช่น ความผิดปกติของแขน ขา ข้อ เป็นต้น โดยอวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ระบบประสาท ระบบการมองเห็น การได้ยิน ซึ่งความผิดปกติดังกล่าวอาจตรวจพบตามมาในภายหลัง 


การป้องกันตนเองจากยุงพาหะนำโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
การป้องกันกำจัดยุงลายนั้น มีหลากหลายดังนี้

1. การใช้มุ้ง
    วิธีการนี้เป็นวิธีที่สืบทอดกันมานานจากบรรพบุรุษ แต่เน้นว่ามุ้งที่นำมาใช้ต้องอยู่ในสภาพดี ไม่ขาดที่สำคัญควรคำนึงถึงทางด้านขนาดเส้นด้ายที่นำมาทำมุ้งควรมีขนาดที่ยุงไม่สามารถบินเข้าไปได้ เช่นขนาด 1-1.8 มิลลิเมตร หรือแนะนำเป็นตาข่ายขนาดช่องอยู่ที่ 156 ช่องต่อตารางนิ้ว แต่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้นำมุ้งชุบ สารเคมี ซึ่งใช้ในการป้องกันยุงได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดประชากรยุงที่มาเกาะ แต่วิธีการนี้ใช้ได้ผลดีกับยุงที่ออกมาหากิน เวลากลางคืน แต่สำหรับยุงลายที่ออกหากินในเวลากลางวันนั้น ในทางปฏิบัติอาจไม่สะดวกในการนอนในมุ้งในเวลากลางวัน
2. การสวมเสื้อป้องกันร่างกายให้มิดชิด
    จากการศึกษาทางวิชาการพบว่า การสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิดนั้น สามารถลดการสัมผัสระหว่างคน และยุงได้ และเสื้อผ้าที่มีสีทึบ เช่น สีดำสีเข้มนั้นมีผลทางด้านการดึงดูดของยุงให้มากัด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงใส่เสื้อผ้า ที่มีสีทึบ สีดำ ควรใส่เสื้อผ้าสีอ่อนๆ และจากการศึกษาของ Stephen P. Frances, RodiSferopoulos และ Bin Lee พบว่าชุดทหารที่ชุบด้วยสารเพอร์เมทรินของประเทศออสเตรเลีย สามารถป้องกันยุงลายกัดได้
3. การใช้สารทาป้องกันยุง
    สารทาป้องกันยุง หรือสารไล่ยุง (Repellent) อาจเป็นสารเคมี หรือสมุนไพร ซึ่งเมื่อทาแล้วยุงจะได้กลิ่น และจะไม่เข้ามากัด หรือลดการกัดลงได้ สารทาป้องกันยุงที่พบในท้องตลาดส่วนใหญ่เป็นรูปแบบนํ้า ครีม หรือแป้ง ซึ่งแต่ละบริษัทจะผลิตออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน สารออกฤทธิ์ที่ใช้ในการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นการค้าในท้องตลาด ได้แก่ DEET (N,N-Diethyl-3-methylbenzamide), Icaridin(1-piperidinecarboxylic acid 2-(2-hydroxyethyl)-1-methylpropylester), Ethyl butylacetylaminopropionate (3-(N-acetyl-Nbutylaminopropionic acid ethylester), Citronella oil นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการไล่ยุงจากสมุนไพร เช่น ตะไคร้หอม มะกรูด ขมิ้นชัน ไพล สะระแหน่
เป็นต้น แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันยุงยังมีความแตกต่างกันในแต่ละแหล่งผลิต ประสิทธิภาพของสารไล่ยุงขึ้นอยู่ กับชนิดสารออกฤทธิ์รูปแบบการผลิต ซึ่งปัจจัยเกี่ยวกับบุคคลเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกันขณะนี้ยังไม่มีความ ชัดเจน ก่อนใช้ควรทา หรือพ่นที่ข้อพับแขนดูก่อนสังเกตดูประมาณ 3 ชั่วโมง ถ้าไม่เกิดอาการแพ้ หรือระคายเคือง จึงใช้บริเวณอื่นได้ ไม่ควรใช้บริเวณที่มีเสื้อผ้าปกคลุม หรือหากต้องการใช้สำหรับเสื้อผ้าบางๆ ให้ใช้เล็กน้อยเพียงบางๆ เท่านั้น ไม่ควรฉีดพ่นใกล้กับอาหาร หรือขณะรับประทานอาหาร หากผู้ที่ใช้สารทาป้องกันยุงแล้วรู้สึกร้อนที่ผิวหนังให้ล้างออกด้วยสบู่ และนํ้า สำหรับการใช้สารทาป้องกันยุงในหญิงมีครรภ์ ปัจจุบันยังไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด สามารถใช้สารทาป้องกันยุงได้ทุกชนิด

4. สารไล่ยุงชนิดใช้ชุบเสื้อผ้า ทารองเท้า ชุบมุ้ง
    สารออกฤทธิ์ที่นำมาใช้ ได้แก่ เพอร์เมทริน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นได้ทั้งสารไล่ยุง และสารกำจัดยุงด้วย สำหรับ DEET มีฤทธิ์ในการไล่ยุง ได้มีการนำสารออกฤทธิ์ทั้ง 2 ชนิดนี้มาผลิตเพื่อใช้พ่นเสื้อผ้า แถบรัดข้อมือ (wrist band) ตลอดจนวัสดุปูพื้น (patio grid) เช่นกัน
5. การใช้ยาจุดกันยุง
    ป้องกันได้โดยใช้สารระเหยออกฤทธิ์ขับไล่ยุง สารออกฤทธิ์บางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ดังนั้นในการเลื่อกซ์้อควรตรวจดสูารออกฤทธิ์  อย่างละเอียดควรเลือกสารที่มี อันตรายน้อย เช่น สารในกลุ่ม ไพรีทรอยด์ สังเคราะห์ หรือสารสมุนไพร ไม่ควรใช้ในห้องปิดที่ไม่สามารถถ่ายเทอากาศได้
6. การใช้ตาข่าย หรือมุ้งลวดป้องกันยุงกัด
    เป็นวิธีการที่ดี ตาข่ายที่ใช้อาจเป็นไนล่อน หรือลวด ติดตามประตู หน้าต่าง ซึ่งจะต้องมีการออกแบบอย่างดี ความถี่ของช่องมุ้งลวดที่เหมาะสมสามารถป้องกันยุง หรือแมลงอื่นได้ ควรไม่ตํ่ากว่า 256 ช่องต่อตารางนิ้ว

7. การชุบวัสดุด้วยสารเคมี (Insecticide-treated material)
    การใช้สารไพรีทรอยด์เพื่อชุบวัสดุ เช่น ผ้าม่านหน้าต่าง และประตู หรือห้อยแขวนไว้ เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถกำจัด และป้องกันยุงลายกัดได้

8. สมุนไพรป้องกันยุง
    มีสมุนไพร หลายชนิดที่มีฤทธิ์ในการป้องกัน และขับไล่ยุง ได้แก่
  1) มะกรูด ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus hystri ใช้ผล วิธีใช้ นำผิวของผลมะกรูดสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆแล้วนำมาโขลกผสมกับนํ้าโดยใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 1 แล้วกรองเอาแต่ส่วนที่เป็นนํ้ามาใช้
  2) สะระแหน่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Menthaarversis ส่วนที่ใช้ ใบ วิธีใช้ ขยี้ใบสะระแหน่สดทาถูที่ผิวหนังโดยตรง
  3) กระเทียม ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium sativum ส่วนที่ใช้ หัว วิธีใช้ นำหัวกระเทียมสดมาโขลกผสมกับนํ้าในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 แล้ว กรองเอาแต่ส่วนที่เป็นนํ้ามาทาผิวหนัง หรือจะใช้หัวกระเทียมสดทาถูที่ผิวหนังโดยตรงก็ได้
  4) กะเพรา ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimumsanotum ส่วนที่ใช้ ใบ วิธีใช้ ขยี้ใบสดหลายๆ ใบวางไว้ใกล้ตัวกลิ่นนํ้ามันกะเพราที่ระเหยออก มาจากใบจะช่วยไล่ยุงไม่ให้เข้ามาใกล้ หรือจะขยี้ใบสดแล้วทาถูที่ผิวหนังโดยตรงก็ได้ แต่กลิ่นนํ้ามันกะเพรานี้ระเหยหมดไปค่อน ข้างเร็วจึงควรหมั่นเปลี่ยนบ่อยครั้ง
  5) ว่านนํ้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Acoruscalamus ส่วนที่ใช้ เหง้า วิธีใช้ หั่นเหง้าสดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาโขลกผสมกับนํ้าในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 กรองเอาแต่ส่วนที่เป็นนํ้ามาใช้ทาผิวหนัง
  6) แมงลัก ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimumcitratum ส่วนที่ใช้ ใบ วิธีใช้ ขยี้ใบสดทาถูที่ผิวหนัง
  7) ตะไคร้หอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogonnardus ส่วนที่ใช้ ต้น และใบ วิธีใช้ นำต้น และใบสดมาโขลกผสมกับนํ้า ใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 1 แล้ว กรองเอาแต่ส่วนที่เป็นนํ้ามาใช้ทาผิวหนังหรือนำต้นสด 4-5 ต้นมา ทุบแล้ววางไว้ใกล้ตัว กลิ่นนํ้ามันตะไคร้หอมที่ระเหยออกมาจะช่วยไล่ยุงไม่ให้เข้ามาใกล้
  8) ต้นยูคาลิปตัส ชื่อวิทยาศาสตร์ Eucalyptus citriodara ส่วนที่ใช้ ใบ วิธีใช้ ขยี้ใบสดถูที่ผิวหนัง
  9) ต้นไม้กันยุง (มอสซี่ บัสเตอร์) ส่วนที่ใช้ ใช้ทั้งต้น โดยจะปลูกเป็นไม้ประดับ ในขณะเดียวกันก็จะช่วยไล่ยุง ไม่ให้เข้ามาใกล้ วิธีใช้ วางกระถางที่ปลูกต้นไม้กันยุงไว้ในห้อง สามารถไล่ยุงได้ตลอด24 ชั่วโมง แต่ต้นไม้ก็ต้องการแสงแดดเพื่อการสังเคราะห์แสง จึงควรนำต้นไม้ไปรับแสงแดดอย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมง และรดนํ้าให้ชุ่มในเวลาเช้า หากแสงแดดไม่จัด ควรให้นํ้าพอสมควรเพื่อป้องกันมิให้รากเน่า

9. ไม้ตบยุงไฟฟ้า
    การใช้ไม้ตบยุงไฟฟ้าเป็นวิธีป้องกันตนเองที่สะดวก ง่าย และสามารถฆ่ายุงให้ตายทันทีเป็นวิธีการที่ เหมาะสมควรซื้อหามาใช้ประจำบ้าน

10. กับดักยุงไฟฟ้า
    ในปัจจุบันกับดักยุงไฟฟ้ามีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ แต่ประสิทธิภาพในการกำจัดยุงรำคาญได้ดีกว่ายุงลาย

11. สายรัดข้อมือไล่ยุง
    สายรัดข้อมือไล่ยุงเป็นอีกทางเลือกในการป้องกันตัวเองจากยุงกัด เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบใช้ครีมทากันยุงหรือสเปรย์ไล่ยุง เนื่องจากสารเคมีที่ไล่ยุงจะผสมอยู่ในสายรัดข้อมือโดยไม่จำเป็นต้องทาตามร่างกาย

การป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาทางเพศสัมพันธ์
  1. ผู้เดินทางหญิงควรคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนการเดินทางไปยังประเทศเขตติดโรค 3 เดือน และ ในระหว่างที่อยู่ในประเทศเขตติดโรค จนกระทั่งเดินทางกลับออกมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน
  2. ทั้งชาย และหญิงควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยใช้ถุงยางอนามัย
  3. หากเป็นไปได้ผู้เดินทางหญิงควรงดการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค หรือหากมีความ จำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคควรปรึกษาแพทย์

การป้องกันที่ดีทีสุุด

     การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะกรณีหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรมีการดูแล และป้องกันเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกยุงที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด ควรมีการปฏิบัติตัว ดังนี้
  1. สวมใส่เสื้อผ้า (โดยเฉพาะสีอ่อน) ที่ปกปิดร่างกาย
  2. การใช้สารเคมีไล่ยุง ควรใช้ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (และปฏิบัติตามฉลาก และ คำแนะนำที่ระบุไว้ข้างขวด)
  3. ติดมุ้งลวดที่หน้าต่าง ประตู เพื่อป้องกันยุงกัดประตู และนอนในมุ้ง
  4. กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ุของยุง โดยการหลีกเลี่ยงการปล่อยให้นํ้าขังในภาชนะบรรจุนํ้ากลางแจ้ง (กระถางต้นไม้ดอกไม้ ขวด และภาชนะที่เก็บนํ้า) เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์

การดูแลรักษา

     ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงให้การดูแลรักษาตามอาการ และ Supportive treatment ห้ามให้ Aspirin และ NSAID เป็นยาแก้ปวด หรือลดไข้
    การวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาจะวินิจฉัยจากการซักประวัติอาการของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ เก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ โดยวิธี Reverse Transcriptase Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) และตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิด IgM
    การวินิจฉัยทางคลินิกของหญิงตั้งครรภ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา หญิงตั้งครรภ์จะมีอาการและอาการแสดงของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาคล้ายกับผู้ป่วยไข้ออกผื่นทั่วไป การวินิจฉัยโรคจะต้องเริ่มตั้งแต่การซักประวัติและตรวจร่างกาย
    การดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยหรือยืนยันติดเชื้อไวรัสซิกา 

1) การดูแลหญิงตั้งครรภ์
ให้ดูแลโดยสูติแพทย์ ร่วมกับอายุรแพทย์ทั่วไป/อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงให้ดูแลรักษาตามอาการและให้คำปรึกษาแนะนำ (Counselling) ทางจิตใจ สำหรับการดูแลรักษาตามอาการ มีดังนี้
•    อาการไข้
    o    เช็ดตัว หรืออาบน้ำอุ่นด้วยฝักบัว
    o    หากเช็ดตัวไม่ดีขึ้น ให้ Acetaminophen (325 mg/เม็ด) 2 เม็ด ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 4,000 mg/วัน หลีกเลี่ยงการใช้ Aspirin (ASA) และ NSAIDs
•    อาการขาดน้ำ
    o    ให้ดื่มน้ำ หรือน้ำผลไม้
•    อาการปวด
    o    ให้ยาแก้ปวด Acetaminophen ดังกล่าวข้างต้น
•    อ่อนแรง
    o    ให้พักผ่อน
•    ผื่น Maculopapular
    o    ให้ทา Calamine lotion
•    ตาแดงแบบไม่มีขี้ตา (Non-purulent conjunctivitis) หรือ Conjunctivitis hyperemia
    o    ให้ Loratadine 5 mg ทุก 12 ชั่วโมง หรือ 10 mg ทุก 24 ชั่วโมง เพื่อลดอาการ คันตา ตาแดง น้ำตาไหล

2)    การดูแลทารกในครรภ์
•    พยายามยืนยันอายุครรภ์ให้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด
•    ตรวจ Ultrasound ทันทีที่เริ่มดูแลเพื่อค้นหาความพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิดเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน (Baseline) ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์รายนี้ต่อไป
•    ตรวจ Ultrasound ติดตามเพื่อสืบค้นภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด และความพิการแต่กำเนิดอื่น ๆ เช่น สมอง
•    ประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ (Fetal surveillance) และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เช่น NST, Ultrasound
•    เมื่อพบความผิดปกติให้พิจารณาปรึกษาทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสมต่อไป



สื่อประชาสัมพันธ์