การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานการศึกษา โดยโรงเรียนจะได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุก 5 ปี การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกระบวนการทางการศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจและ ให้หลักประกันต่อผู้เรียน ผู้ปกครอง ชุมชนและสังคมว่าสถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน อันก่อให้เกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในสังคมโลก
การกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
“มาตรฐานการศึกษา” เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์ และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่งและเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแลการตรวจสอบ การประเมินผลและการประกันคุณภาพทางการศึกษามาตร ฐานการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหลายระดับ เช่น มาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการศึกษา ขั้นพื้นฐาน มาตรฐานการศึกษาปฐมวัย มาตรฐานการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
การกำหนดค่าเป้าหมายมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษานั้นต้องกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ เอกลักษณ์ของสถานศึกษาและมาตรฐานการศึกษาและนำลงสู่แผนพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน
การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐาน
การศึกษาของสถานศึกษา
แผน (Plan) เป็นเอกสารที่แสดงโครงการ กิจกรรม วิธีการที่ได้ผ่านการคิดมาแล้วล่วงหน้า โดย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันคิดและพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ สำหรับเป็นเครื่องชี้นำ การดำเนินการใดๆที่สอดรับกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร การวางแผนมักมีการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายและกรอบเวลาของการดำเนินการตามแผนอย่างชัดเจน
ในโรงเรียนต้องมีการจัดทำแผน 2 ประเภท คือ
1) แผนพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งเป็นแผนที่มีรอบระยะเวลาการพัฒนาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา อาจเป็นแผน 3 ปี แผน 4 ปี หรือแผน 5 ปี แล้วแต่ความเหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษา แผนประเภทนี้จะสะท้อนกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่จะใช้ในการพัฒนาหรือปรับปรุงเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่วางไว้ (Strategic Plan / Improvement Plan)
2) แผนปฏิบัติการประจำปี (Action Plan / Operation plan) ซึ่งแตกออกมาจากแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเพื่อการดำเนินงานเป็นรายปี แผนปฏิบัติการประจำปีแต่ละปีควรมีจุดเน้นที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมนอกจากความชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมตามกรอบเวลา สถานที่ งบประมาณ ผู้รับผิดชอบแล้ว โรงเรียนต้องกำหนดกิจกรรมการติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ความก้าวหน้าของการดำเนินงาน การปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ราบรื่น คล่องตัว มีการประเมินตนเอง อันนำไปสู่การได้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อนำไปเขียนรายงานประจำปีที่เป็นรายงานการประเมินคุณภาพภายในของโรงเรียนว่าบรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดในมาตรฐานการศึกษาไว้หรือไม่
การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนต้องผ่านการคิดและวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์มาแล้วอย่างรอบด้านและรอบคอบโดยอาจใช้วิธี SWOT Analysis, Balanced Scorecard หรือวิธีการอื่น ๆ ที่สถานศึกษาเห็นว่าเหมาะสมสำหรับเป็นเข็มทิศชี้นำการดำเนินงานตามกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่การบรรลุตามวิสัยทัศน์และมาตรฐานการศึกษาที่สถานศึกษาวางเป้าหมายไว้ส่วนการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีจะมีการระบุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย การจัดสรรทรัพยากรและกรอบเวลาของการดำเนินงานตามแผนอย่างชัดเจน
แผนพัฒนาที่มีคุณภาพพิจารณาจากประเด็นที่ต้องดำเนินการ ดังนี้
(1) ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการที่จำเป็นของโรงเรียนอย่างเป็นระบบ
(2) กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายและความสำเร็จสอดคล้องกับค่าเป้าหมายมาตรฐานการศึกษาเพื่อการพัฒนาไว้อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม
(3) กำหนดวิธีดำเนินงานที่มีหลักวิชา ผลการวิจัยหรือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่อ้างอิงได้ ให้ครอบคลุมการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาด้านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ การส่งเสริมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล การพัฒนาบุคลากรและการบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่มาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้
(4) กำหนดแหล่งวิทยาการภายนอกที่ให้การสนับสนุนทางวิชาการ
(5)กำหนดบทบาทหน้าที่ให้บุคลากรของโรงเรียนและผู้เรียนรับผิดชอบและดำเนินงานตามที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
(6) กำหนดบทบาทหน้าที่และแนวทางการมีส่วนร่วมของบิดา มารดา ผู้ปกครอง และองค์กรชุมชน
(7) กำหนดการใช้งบประมาณและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
(8) จัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี
แผนพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนนั้นเปรียบเสมือนเข็มทิศชี้ทางการทำงานเพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายมีเป้าหมายตอบโจทย์เป้าหมายของมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดเอาไว้และมีการเปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษารวมทั้งเป็นแนวทางการดำเนินงานที่ไม่ขัดแย้งกันแต่แผนจะไม่มีความหมายถ้าการดำเนินงานของบุคลากรในโรงเรียนไม่ดำเนินงานตามแผน
ผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำทางวิชาการควบคู่กับการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพและระบบคุณธรรมย่อมสร้างคนที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นได้ไม่ยากนักผู้บริหารจะทำหน้าที่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ดูแล กำกับ ติดตามและนิเทศงานของบุคลากรทุกคน/ทุกฝ่ายเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ปฏิบัติงานตามแผนที่กำหนดไว้ให้ความสำคัญการดำเนินงานและปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องจนเป็นปกติวิสัยครูต้องทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนอย่างเต็มศักยภาพและเต็มเวลา แบ่งเวลาหรือบริหารเวลาในการปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการประจำปีได้อย่างเหมาะสมและบรรลุผลสำเร็จตามแผนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานซึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติตามหน้าที่และบทบาทของตนเองอย่างดีที่สุดและภาคภูมิใจในความสำเร็จร่วมกัน ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาสถานศึกษาผู้บริหารจึงควรเป็นผู้นำในการปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่กำหนดไว้รวมทั้งมีการส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ติดตามและให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรทุกคน/ทุกฝ่ายให้สามารถปฏิบัติงานได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้
ดังนั้นมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้ช่วยให้ผู้ปฏิบัติและองค์กรไม่หลงทางและมีค่าเป้าหมายในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานว่าบรรลุหรือไม่ในแต่ละปีการศึกษาหรือปีงบประมาณ ผู้บริหารและครูร่วมกันกำหนดค่าเป้าหมายเพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาการศึกษาโดยบรรจุลงไปในแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนลงสู่แผนปฏิบัติการประจำปีเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดและบรรลุเป้าหมายการศึกษาของชาติ