แหล่งท่องเที่ยว

ชื่อเรื่อง แหล่งท่องเที่ยว โบราณสถาน วัดรังสีปาลิวัน

ชุมชน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์

“พระอริยเวที” หรือ “หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล” เป็นพระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นที่น่าเคารพสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้ง เป็นเพื่อนสหธรรมิกกับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) และ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ตั้งแต่ครั้งสมัยที่ท่านทั้งสามยังมีอายุพรรษาไม่มากนัก

หลวง ปู่เขียน มีนามเดิมว่า เขียน ภูสาหัส เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู ณ บ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายสังข์ และนางค้อม ภูสาหัส


๏ การบรรพชาและอุปสมบท


เมื่ออายุครบ ๑๕ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ วัดบ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์


ครั้น อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ พัทธสีมาวัดสุทธจินดา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระโพธิวงศาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระธรรมปิฎก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พ.ศ. ๒๔๗๕ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก

พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๘๑ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓-๗ ประโยค สำนักเรียนวัดสุทธจินดา อ.เมือง จ.นครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๘๒ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๔๘๔ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พร้อมกับ เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


๏ งานด้านการศึกษาสงฆ์

พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๘๑ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดสุทธจินดา และวัดศาลาทอง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ และสำนักเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ


๏ ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์


พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสังฆสภา

พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา


๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับพระราชทางแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระอริยเวที”

๏ ข้อวัตรและปฏิปทา

เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ หลวงปู่เขียนได้เข้ากราบฟังธรรม ปฏิบัติธรรม และถวายตัวเป็นศิษย์ในสำนักของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลังจากที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคใหม่ๆ โดย เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้นำไปฝาก ทั้งนี้ เพื่อประสงค์ให้หลวงปู่ท่านได้เป็นศาสนทายาทที่มีความหนักแน่นมั่นคง ทั้งด้านปริยัติธรรมและด้านปฏิบัติ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุสามเณรในภายภาคหน้า เมื่อได้ฟังธรรม และรับคำแนะนำในการปฏิบัติเป็นอย่างดีแล้ว ท่านจึงได้ออกเดินธุดงค์กัมมัฏฐานไปตามป่าเขาลำเนาไพรในจังหวัดต่างๆ จนออกไปถึงประเทศลาว และแวะเวียนมาเข้ากราบฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นเป็นระยะๆ

ด้วยผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติธรรมจากสำนักของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทางด้านวิปัสสนาธุระของประเทศไทย โดยเมื่อครั้งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น กัณฑ์แรกเรื่อง “โทษของการเกิด” และกัณฑ์ที่สองเรื่อง “มุตโตทัย” (ธรรมะเป็นเครื่องพ้น) หลวงปู่เขียนถึงกับลุกจากที่นั่งไปกราบพระอาจารย์มั่น พร้อมกล่าวคำปฏิญาณตนอย่างเด็ดเดี่ยวต่อหน้าพระอาจารย์มั่นเป็นภาษาบาลีว่า


“สา สเน อุรํ ทตฺวา ขอมอบกายถวายชีวิตทั้งหมดนี้แก่พระพุทธศาสนา ชีวิตทั้งชีวิตนี้ขอมอบไว้ในพระศาสนา ขอให้ท่านพระอาจารย์โปรดเป็นสักขีพยานด้วยเถิด”

จากนั้นตราบ จนสิ้นอายุขัย หลวงปู่เขียนได้กระทำสัจจวาจานั้นให้เป็นที่ปรากฏแก่ชนทั้งหลาย ถึงความเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ผู้บริสุทธิ์หมดจดงดงามในธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

๏ พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม

หลวงปู่เขียนเป็นพระมหาเถระผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นศิษย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่สำคัญรูปหนึ่ง ท่านชำนาญทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ทรงความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งหาได้ยากยิ่งนักในคณะกัมมัฏฐานยุคปัจจุบัน ท่านละทิ้งเกียรติยศตำแหน่งในการบริหาร คณะสงฆ์ มุ่งเพียงเกียรติอันยิ่งใหญ่ คือ พระนิพพาน ละจากความเป็นพระบ้านเข้าสู่ความเป็นพระป่าได้อย่างสนิทใจ เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังที่ติดหลงจมในลาภยศสรรเสริญได้เป็นอย่างดี


หลวง ปู่เขียนท่านมีอุปนิสัยพูดจริงทำจริง เรียนจริงปฏิบัติจริง บากบั่นมุมานะ ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคที่มาถึง รักสงบ สำรวมระวัง ปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่ชอบคลุกคลี ซึ่งตรงต่อธรรมวินัย หนักแน่นด้วยหิริโอตตัปปะธรรม มักน้อย สันโดษ เรียบง่าย มีระเบียบบริบูรณ์ด้วยข้อปฏิบัติในไตรสิกขา ได้ถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ฝึกอบรมกัมมัฏฐานกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ) อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ท่านได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทั้งด้านการศึกษา ด้านการปกครอง และด้านการเผยแผ่ ตั้งแต่บรรพชาอุปสมบทเป็นต้นมาจนตลอดอายุขัย


ครั้งหลวงปู่เขียนท่าน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา ลำดับที่ ๓ ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านมีแนวคิดกว้างไกล ทั้งหลักการและแนวทางปฏิบัติการบริหารภายในวัด ตั้งเป้าหมายไว้สูง มีระเบียบให้พระภิกษุ สามเณร ตลอดถึงคณะศิษย์วัด ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมทั้ง มีการคัดเลือกหมู่คณะให้เข้าไปรับการอบรมเป็นนักเรียนครูและนักเรียนการ ปกครอง ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เพื่อให้กลับมาเป็นบุคลากรบริหารวัดช่วยเจ้าอาวาส อนุสรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านได้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ “สุทธจินดาราชสีมามูลนิธิ” ซึ่งได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ ทุนทรัพย์เติบใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อ ได้วางรากฐานการปกครองและการศึกษาเข้าสู่ความเจริญในระดับหนึ่งตามเป้าหมาย แล้ว ด้วยสาวกบารมีญาณมาเตือน หลวงปู่เขียนท่านได้ประกาศท่ามกลางคณะสงฆ์วัดสุทธจินดาอย่างอาจหาญว่า “จะออกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในป่า” ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ท่านได้สร้างวัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์ และได้ออกบำเพ็ญตามถ้ำ เงื้อมผา จำพรรษาในที่หลายแห่งตามสถานที่วิเวก สัปปายะ สมเจตนาที่ท่านตั้งไว้


หลวงปู่เขียนท่านปรารภถึงชีวิตของท่านขณะเป็นพระอยู่ในเมือง ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ชีวิต วันหนึ่งคืนหนึ่ง รู้สึกว่าจะน้อยมากสำหรับที่จะทำความพากเพียร ไม่เพียงพอเลย วันหนึ่งๆ มีแต่ต้อนรับผู้คน พูดคุยเรื่องราวต่างๆ เสียเวลาทำความเพียร เป็นการทำชีวิตให้เป็นหมัน เพราะเรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องข้างนอกทั้งนั้น นอกจากนั้นยังเป็นการคลุกคลีด้วยหมู่คณะจนเกินไป อันเป็นทางให้เกิดความประมาทเป็น “ปปัญจธรรม” คือธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้าในคุณธรรมอันยิ่งขึ้นไป หลงตัวลืมตัวมัวเมามืดมนอนธการ คิดๆ ดูแล้วก็สงสารหมู่คณะที่อยู่ในเมือง ถ้าจะให้เรากลับมาอยู่ในเมืองอีก ให้ตายเสียยังจะดีกว่า เพราะรู้สึกอึดอัดคับแค้นใจมาก ฟังคิด พิจารณา เกิดมากี่ภพกี่ชาติจึงจะมีโอกาสงามสำหรับการาบำเพ็ญสมณธรรมเช่นชาตินี้ “ทุลฺลภขณ สมฺปตฺติ” สมณศักดิ์ ตำแหน่ง ห้ามอบายภูมิไม่ได้ แต่คุณความดี และศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ที่ห้ามอบายภูมิได้”


คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ


๏ คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ทำนายหลวงปู่เขียน ฐิตสีโล


ในสมัยที่หลวงปู่เขียนออกฝึกหัดปฏิบติอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านเล่าว่า มีแม่ชีอยู่คนหนึ่งชื่อ แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ซึ่งแม่ชีผู้นี้ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า เป็นผู้ที่มีธรรมะ เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ได้ทำนายท่านไว้ว่า

“ท่านมหา บวชมาแล้วชาตินี้เป็นชาติที่ ๓ และจะอยู่ในเพศบรรพชิตนี้ตลอดไปจะไม่สึก ชาติที่บวชครั้งแรกนั้นท่านมหาบวชเป็นสามเณรอายุได้ ๑๗ ปี ก็สึก ชาติต่อมาก็บวชเป็นสามเณรอีกอายุได้ ๑๙ ปี ย่างเข้า ๒๐ ปี แต่ยังไม่ได้บวชเป็นพระก็สึกอีก ชาตินี้เป็นชาติที่ ๓ และได้บวชเป็นพระอีก ทั้งจะอยู่ต่อไปได้ตลอดจะไม่ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส จะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ตลอดไป”


หลวงปู่ก็พูดว่า “ถ้าหากอาตมาอยากจะสึกจะทำอย่างไร คืออยากสึกมากๆ อดไม่อยู่แล้วก็สึกไป”

คุณ แม่ก็กล่าวว่า “ไม่เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าท่านมหาจะอยากสึกอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับชาตินี้แล้ว ท่านมหาจะต้องอยู่ในเพศพรหมจรรย์นี้ตลอดไป ไม่สึกแน่นอน”


หลวงปู่กล่าวว่า “ก็ได้แต่รับฟังไว้ คอยสังเกตดูตัวเองอยู่ตลอดมา”

๏ การมรณภาพ


ต่อ มาหลวงปู่เขียนได้ลาออกจากตำแหน่งหน้าที่บริหารงานคณะสงฆ์ คือ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา และตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา แล้วออกธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างจริงจังอยู่ในป่าในถ้ำ จนเป็นที่พอแก่กาลแล้ว จึงกลับมาสู่มาตุภูมิและสร้างวัดรังสีปาลิวันในปัจจุบัน เพื่อนำพาพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนทั่วไป ศึกษาธรรมและประพฤติธรรมจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต


วันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เมื่ออายุ ๗๑ ปี ท่านป่วยเป็นอัมพาตและเส้นโลหิตในสมองแตก ทำให้ประสาทสมองบางส่วนต้องสูญเสียไป ผลก็คือ พูดออกมาไม่เป็นคำพูด ฟังยาก แขนขาซีกขวาไม่ทำงาน ช่วยตัวเองไม่ได้ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านป่วยอยู่นานถึง ๑๙ ปี ลูกศิษย์ใกล้ชิดช่วยกันสับเปลี่ยนดูแลพยาบาลมาโดยสม่ำเสมอ


๓ ปีพรรษาสุดท้ายแห่งการอาพาธ ท่านต้องอยู่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ตลอด เมื่อคณะแพทย์เห็นว่าสุดวิสัยที่จะช่วยพยุงธาตุขันธ์ให้ดำรงอยู่ต่อไป จึงนิมนต์ท่านกลับวัดรังสีปาลิวัน กระทั่งท่านได้ละสังขารมรณภาพเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๒๐.๒๕ น. สิริรวมอายุได้ ๙๐ พรรษา ๖๘


๏ พระบรมธาตุเจดีย์ฐิตสีลมหาเถรานุสรณ์


คณะ ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้เห็นข้อวัตรปฏิปทาอันงดงาม หนักแน่นมั่งคงในหลักพระธรรมวินัย เป็นผู้มักน้อยสันโดษ มีปกติอยู่ในป่าของหลวงปู่พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) จึงพร้อมใจกันเพื่อจะจัดสร้าง “พระบรมธาตุเจดีย์ฐิตสีลมหาเถรานุสรณ์” ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยการนำพาของ พระอาจารย์บุญมี ธมฺมรโต เจ้าอาวาสวัดป่าศรัทธาถวาย (วัดถ้ำเต่า) ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี (ท่านเคยอยู่จำพรรษา ณ วัดรังสีปาลิวัน กับหลวงปู่เขียน ฐิตสีโล ประมาณ ๑๐ กว่าปี และ ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี กับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ประมาณ ๑๐ กว่าปีเช่นกัน) และ พระครูสันติธรรมประภาส (สงบ สุปภาโส) เจ้าอาวาสวัดรังสีปาลิวันรูปปัจจุบัน ทั้งนี้ ด้วยความอุปถัมภ์ของพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างขึ้นเพื่อการดังนี้


(๑) เป็นปูชนียสถานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประทานโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน), พระอรหันตธาตุ, อัฐิธาตุของพระบุรพาจารย์กรรมฐานสายพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล-พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และอัฐิธาตุของหลวงปู่พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) เป็นต้น

(๒) เป็นเจติยานุสรณ์แด่หลวงปู่พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดรังสีปาลิวัน

(๓) เป็นพิพิธภัณฑ์จัดเก็บอัฐบริขาร ชีวประวัติของหลวงปู่พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) และชีวประวัติของพระบูรพาจารย์สายกัมมัฏฐาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นศาสนสถานที่กราบไหว้ สักการบูชา ที่ศึกษาค้นคว้า ยึดถือเป็นทิฏฐานุคติ แล้วน้อมนำไปปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน เป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา อันเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ และจะยังหิตานุหิตประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดกัลปาวสาน


ผู้เขียน นายรณชัย จุนใจ

ที่มา ท้องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน