แหล่งเรียนรู้ในวัดถ้ำปลา

แหล่งเรียนรู้ในวัดถ้ำปลา

ภายในวัดถ้ำปลามีแหล่งเรียนรู้ให้ผู้ที่มีความสนใจได้เข้ามาศึกษาได้หลากหลายประเภท อาทิเช่น ปูชนียวัตถุ พระธาตุเจดีย์นพจุฑาเก้ายอด พระธาตุเจดีย์อินทร์แปลง แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ถ้ำเปลวปล่องฟ้า ถ้ำกู่แก้ว ถ้ำตุ๊ปู่ ถ้ำฆ้อง ถ้ำน้อย ถ้ำปลา ปลาพลวงเงิน ปลาหีบไม้ ลิงภูเขา ( ลิงอ้ายเงี๊ยะ) เป็นต้น สำหรับแหล่งเรียนรู้ที่มีผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจแวะเข้ามาเยี่ยมเยียนมากได้แก่ถ้ำปลา ถ้ำเปลวปล่องฟ้า พระธาตุเจดีย์อินทร์แปลง พระธาตุเจดีย์นพจุฑาเก้ายอด


ถ้ำปลา

เป็นถ้ำที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์มีลำธารน้ำไหลทะลุผ่านภูเขาหลายเส้นทางไหลออกทางหน้าปากถ้ำ ด้านทิศตะวันออกสายน้ำเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากน้ำตกห้วยแล้ง วัดความกว้างได้ประมาณ 2.50 เมตร ความสูงวัดจากฝั่งน้ำขึ้นไปสูงประมาณ 1.50 ม. น้ำลึกประมาณ 0.50 เมตร ซึ่งบริเวณน้ำเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของปลาดั้งเดิม คือ ปลาพลวงเงิน ปลาหีบไม้ ตลอดจนปลาที่นักท่องเที่ยวนั้นนำมาปล่อย ได้แก่ ปลาดุก ปลาคร๊าฟท์ ปลาไหล ปลาทับทิม เต่า ฯลฯ เป็นต้น อีกทั้งยังมีลิงภูเขา

( ลิงอ้ายเงี๊ยะ) อาศัยอยู่จำนวนมาก บางครั้งจะลงมาบริเวณนี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปและให้อาหาร



ถ้ำเปลวปล่องฟ้า

เป็นถ้ำที่อยู่ถัดจากถ้ำปลาไปทางทิศใต้ ถ้ำนี้ ตั้งอยู่บนยอดเขา มีลักษณะ เป็นถ้ำทะลุสู่ท้องฟ้า การขึ้นไปชมถ้ำน ี้นักท่องเที่ยวจะต้องเดินขึ้นบันได ซึ่งวัด ระยะทาง จากทางขึ้นบันได ขั้นแรก ถึงปากถ้ำประมาณ 180 เมตร ก่อนถึงหน้าถ้ำ ในระยะประมาณ 90 เมตร ด้านซ้ายมือ มีจุดชมวิว ซึ่งมีมีความสูง ประมาณ 17 เมตร บริเวณนี้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์บริเวณตำบลโป่งงามเมื่อเดินลงมาจากจุดชมวิว แล้วจะเป็นทางเดินเรียบระยะทาง ประมาณ 11 เมตรจะถึงบริเวณปากถ้ำช่วง แรก ซึ่งมีช่วงกว้างที่สุด วัดได้ ประมาณ 4.40 เมตร ช่วงแคบที่สุด วัดได้ ประมาณ 2.50 เมตรความสูงของถ้ำช่วงนี้วัดได้ประมาณ 1.90 เมตรภายในถ้ำได้รับการ บูรณะตกแต่งด้วยการปูพื้นถ้ำด้วย หินอ่อนมีพระพุทธรูปขนาดกว้างตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.50 เมตร ประดิษฐานไว้ให้บูชาภายในถ้ำวัดความกว้างประมาณ 21 เมตร ลึก ประมาณ 32.20 เมตร ส่วนด้านบนสุด เป็นช่อง (ปล่อง) ทะลุท้องฟ้า แสงอาทิตย์สามารถลอดผ่านได้ถึง 2 ช่องช่องที่ 1 กว้างที่สุด อยู่ทางทิศตะวันออกวัดความกว้างได้ประมาณ 8 เมตร สูงประมาณ 15 เมตรช่องที่ 2 อยู่ทางทิศตะวันตกวัดความกว้างได้ประมาณ 3 เมตรสูงประมาณ20 เมตร ช่องหรือปล่องที่แสงสามารถส่องลงมาภายในถ้ำทำให้เกิดความงดงาม เมื่อแสงสว่างส่องลงมากระทบกับพระพุทธรูปและสถูปเจดีย์ ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ถ้านี้ชาวบ้านจึงเรียกว่า ถ้ำเปลวปล่องฟ้า


พระธาตุเจดีย์อินทร์แปลง

เป็นพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนหน้าผาบริเวณบนวิหารวัด ถ้ำปลาโดยประวัติประมาณปี พ.ศ. 2455 – 2456 มีฤาษี

องค์หนึ่งเดินทางมาจากประเทศพม่าชื่อ อูส่วยหล่า มีอิทธิฤทธิ์ได้ฌานแก่กล้าได้สร้างเจดีย์นี้ไว้โดยอาศัยคนช่วยนำไม้ไผ่มาทำเป็นนั่งร้านขึ้นไปยึดกับหน้าผา ส่วนตัวท่านได้หิ้วปูนทรายไต่นั่งร้านขึ้นไปอย่างคล่องแคล่ว ทำการโบกฉาบพระเจดีย์เองจนเสร็จโดยที่ใครๆ ไม่กล้าที่จะขึ้นไปได้เพราะกลัวความสูงชัน ผู้คนส่วนมากต่างพากัน ชะเง้อดูท่านทำเอง ด้วยความแปลกใจ และระทึกไปตามๆกัน หลังจากสร้างพระเจดีย์บนยอดผาเสร็จแล้วท่านฤาษีองค์นี้ก็ได้ออกจากถ้ำปลานี้ไปโดยไม่มีใครทราบร่องรอยว่าท่านอยู่แห่งใด ท่านได้ฝากพระเจดีย์นี้ไว้ดูต่างหน้าท่านจนบัดนี้ พระเจดีย์องค์นี้จึงถูกเรียกว่า พระเจดีย์อินทร์แปลง อันหมายถึงพระอินทร์แปลงตัวเป็นฤาษีมาทำการก่อสร้างเพื่อผู้คนได้สักการบูชา


พระธาตุเจดีย์นพจุฑาเก้ายอด

เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดย พระคุณเจ้าหลวงพ่อสุมโนดาบส ท่านได้เป็นประธานก่อสร้างโดยอาศัยผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านร่วมกันก่อสร้าง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น แม้วัสดุที่ใช้ก่อสร้างก็มีผู้มาบริจาค อาหารเลี้ยงดูผู้คนก็มาด้วยน้ำใจผู้ศรัทธาในตัวท่าน พระเจดีย์องค์นี้ก่อสร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ภายในบรรจุพระสารีริกธาตุที่มีผู้นำมาถวายจากที่ต่างๆ เป็นต้นว่า อินเดีย พม่าสุโขทัย สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2523 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี ค่าก่อสร้างไม่ได้บอกไว้เพราะสำเร็จด้วยความศรัทธาของประชาชน และยังเป็นปูชนียวัตถุที่มีผู้คนมาสักการะกราบไหว้เป็นประจำและจัดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในวัดถ้ำปลาแห่งนี้


เรื่อง/ภาพ ยุวเรศ พลชัย