จักสานหวาย จากภูมิปัญญาสู่อาชีพ

ประเภทกลุ่มข้อมูล

อาชีพท้องถิ่น :ตะกร้าหวาย – เก้าอี้หวาย กลุ่มจักสานหวาย บ้านหลวง

ประวัติความเป็นมา

ปัจจุบันคนเริ่มมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเห็นได้จากการหันไปใช้สิ่งของทดแทนหรือภาชนะวัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติมากขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือที่ผลิตมาจากสิ่งของตามธรรมชาติกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง เช่นผลิตภัณฑ์จากเครื่องจักสานไม้ไผ่ หวาย ย่านลิเภา หวายคือพืชเศรษฐกิจในสมัยก่อนและมีมากมายตามท้องถิ่น และหาได้ง่ายในต่างจังหวัด

บ้านหลวง ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย คือชุมชนแห่งหนึ่งที่มีป่าหวายมากกว่า อยู่ใกล้ๆกับหมู่บ้าน จึงมีอาชีพตัดหวายควบคู่กับกลุ่มจักสาน หวายในหมู่บ้านหลวง ที่มีมานานกว่า 30 ปี

ป่าหวายที่รกทึบเต็มไปด้วยหนามแหลมหากใครโดนตำเข้า ทำให้เป็นหนองได้กว่าจะหายใช้เวลาหลายวัน จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หวายที่เหมาะสมคือส่วนตั้งแต่โคนจนถึงส่วนกลาง ปลายของหวายไม่เป็นที่ต้องการต้องตัดทิ้ง วิธีตัดหวายจำเป็นต้องมุดดงหวายเพื่อไปตัดตั้งแต่ส่วนโคนของหวาย เมื่อตัดแล้วจะต้องไปดึงตรงส่วนปลาย เพราะหวาอยู่รวมกันเป็นกอมีหลายๆเส้น มันมักจะพันกันจำเป็นจะต้องออกแรงในการดึงให้หวายหลุดออกมาจากกอและต้องใช้แรงงานคนดึงประมาณ 3-4 คน

กลุ่มจักสานหวายบ้านหลวง เป็นการรวมตัวของคนในชุมชน มามากกว่า 30 ปีแล้วและยังอนุรักษ์การจักสานหวายแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมสืบทอดต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน หวายที่ได้แต่ละขนาด ก็เหมาะกับชิ้นงานแต่ละชนิดต่างกัน เช่นทำโคลงจะต้องมีการดัดตามรูปโคลงของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ส่วนงานจักสานที่ต้องใช้ "ตอก" จำเป็นต้องใช้ความชำนาญความสามารถ ความอดทนของผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีประสบการณ์มาช้านาน จึงได้งานที่ปราณีตและสวยงามและด้วยงานที่มีคุณภาพแข็งแรง จึงมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมชมชอบจากการบอกต่อๆกัน ปัจจุบันจึงเป็นอาชีพหนึ่งซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการจักสานหวาย ผลิตภัณฑ์สำหรับเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะหวาย เก้าอี้หวาย หรือตะกร้าสำหรับไปจับจ่ายตลาดและผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกมากมาย

การทำตะกร้าหวาย

1. เหลาหวายเพื่อเป็นการทำให้หวายมีขนาดพอเหมาะที่จะใช้ในการสานตะกร้า หวายเหลาเป็นเส้นยาว เล็กและยาวเสมอกัน โดยนำเข้าเครื่องชักหวาย หรือ เลียด เพื่อให้เป็นตามขนาดที่ต้องการ หรือใช้ ฝาหม้อ หรือจานสังกะสี นำมาเจาะรูไล่ขนาดเล็ก ใหญ่ ขนาดใหญ่เท่ากับเส้นหวาย ไล่ลำดับขนาด เล็กลงไปจนเท่ากับเส้นด้าย

2. นำไม้ไผ่สีสุก เหลาให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ (เรียกว่าดิ้ว) นำไปต้มเพื่อย้อมสี (สีที่ใช้เป็นสีจากธรรมชาติ) คือ ขมิ้น ผิวมะกรูด ประมาณ 1 ลูก ขมิ้นทุบรากยอ ให้สีเหลือง เปลือกลำต้นคาง (ต้ม) ให้สีน้ำตาลส่วนผสมของสี เกลือ 1 กำมือมะกรูด 2-3 ลูก น้ำประมาณ 2 ขัน ขมิ้นทุบ ประมาณ ครึ่งกิโลกรัม ต้มให้เดือด น้ำสีจะออกมา ใส่เส้นดิ้วลงไปต้มประมาณครึ่งชั่วโมงนำเส้นดิ้วไปล้างให้สะอาด จนน้ำใสกันสีตก จากนั้นนำไปตากแห้ง จะได้เส้นดิ้วตามที่เราต้องการ

3. นำปั้นจั่น หรือ หลัก ทำขึ้นเอง ใช้ต่อกับแบบหรือรองเพื่อยึดรูปทรงตะกร้าตามแบบ

4. นำไม้สักขนาดที่เราต้องการหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร เลื่อยตามรูปทรงของตะกร้าทำเป็นพื้นตะกร้า จากนั้นนำเส้นหวายมาตอกตะปู ติดกันได้ก้นตะกร้าโดยรอบ

5.นำเส้นดิ้วมาเสียบกับก้นตะกร้าโดยรอบ

6.นำเส้นหวายมาจักสานตามลายที่เราต้องการ ซึ่งการถักตะกร้าใช้หวาย 1 เส้นถัก มีหวายวางบนขอบตะกร้า 2 เส้น เพื่อให้ลายขอบบนนูนสวย มีขั้นตอนการทำ ดังนี้

6.1 หวายถักสอดระหว่างขอบนอกและขอบใน

6.2 แทงทะลุพัน 1 รอบ ข่มหวายกลมที่อยู่บนขอบเส้น 1 ยกเส้น 2 (2 ครั้ง)

6.3 นำไปสอดหลังหวายที่พัน 1 รอบมาทะลุหลังเส้นหน้า แล้วข่มเส้น 1 ยกเส้น 2

7.การใส่ขอบตะกร้าเหลาไม้แล้ววัดเนื้อตะกร้าโดยใช้ดินสอขีดไว้ให้เท่ากันทุกด้านใส่ขอบในก่อนแล้ว จึงเอาขอบนอกทาบนำคีมล็อคช่วยจับไว้ใช้ลวดเบอร์เล็กสุดมัดไว้ให้แน่น ทำโดยรอบก็สำเร็จเป็นรูปลายตะกร้า การใส่ขอบระวังอย่าให้ข้อไม้ไผ่ตรงกับมุมตะกร้า เมื่อใช้คีมบีบโค้งทำมุมจะทำให้ขอบหักได้ควรหลีกเหลี่ยงแต่ถ้าตะกร้าเป็นรูปไข่หรือทรงกลมต้องเหลาและโค้งไว้ก่อนเพื่อให้ใส่ขอบตะกร้าได้ง่ายขึ้น

8. การใส่งวงตะกร้า ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดของตะกร้า เลือกรูปแบบการทำงวงตะกร้าและขนาดลวดตามความเหมาะสมนำลวดไปขดกับแท่นสำหรับโค้งลวดตามต้องการ นำปลายลวดไปตีด้วยค้อนหงอนกับแท่นเหล็กดันให้ลวดแบนใช้เหล็กหมุดเจาะรูที่ก้นตะกร้าเป็นจุดที่เราใส่ลวดงวงตะกร้าลงไปแล้วใช้คีมบีบลวดให้งอเข้าไปด้านในจะได้ไม่หลุด

9. การพันงวงตะกร้า คือ การนำหวายมาพันรอบเส้นลวด (งวงตะกร้า) พันงวงตรงเนื้อตะกร้า ประมาณ 3 ที่เป็นระยะจนพ้นเนื้อตะกร้า พันให้ครบทุกงวงพันเสร็จ 1 งวงนำกระดาษกาวติดไว้ไม่ให้หวายที่พันไว้หลุด การเหลาไม้ทำมือจับ ใช้ไม้ไผ่สีสุกที่เป็นไม้แก่ เพื่อความทนทาน เหลาไม้มีขนาดเหมาะสมกับตะกร้า วางทาบบนงวงที่กำหนดไว้ให้เป็นมือจับ นำหวายมาพันทับไม่ให้เห็นไม้แล้วถักหวายบนมือจับให้สวยงาม

10.การทาน้ำมันเคลือบ

10.1 ทาน้ำมันเคลือบครั้งที่ 1 เมื่อยังอยู่ในรอง เพื่อให้อยู่ทรงทาพอหมาดๆ ก็เอาออกจากรองแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ต้องรีบเหลาขอบและใส่ไว้เลยไม่ควรทิ้งไว้นาน จะทำให้เนื้อตะกร้าหลุดออกมาได้ แปรงที่ใช้ทาน้ำมันเมื่อใช้แล้วควรล้างด้วยทินเนอร์

10.2 ทาน้ำมันครั้งที่ 2 เมื่องานทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะนำไปจำหน่ายการทาน้ำมันนอกจากจะทำให้อยู่ทรงแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อรา และมอดกัดแทะ ช่วยรักษาเนื้อไม้ และหวายให้มีความแข็งแรงทนทาน และสวยงามมากขึ้น

บ้านหลวง อำเภอเชียงของ จึงเป็นที่รู้จักในหมู่ที่ชื่นชอบในผลิตภัณฑ์จักสานหวาย สินค้าที่นี่จึงได้รับความนิยมจาก นักท่องเที่ยวมากมาย จึงทำให้เกิดรายได้ให้ชุมชนจากการขายผลิตภัณฑ์ และสร้างอาชีพให้กับผู้คนในชุมชนอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตัวเองและนี่ถือว่าเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งใช้วิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติและรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ในหมู่บ้านนำมารวมกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยตามความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน เป็นหมู่บ้านแบบอย่างที่น่าศึกษาวิถีแห่งการดำเนินชีวิตได้ร่วมสมัยได้อย่างลงตัว

ตำแหน่งที่ตั้ง : กาดชุมชน ตำบลครึ่ง บ้านหลวง หมู่ 4 ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

การเดินทาง : การเดินทางสะดวกทุกฤดูกาล สามารถเดินทาง โดยเส้นทางแนะนำ 2 เส้นทาง

1.เส้นทางห้าแยกพ่อขุน ขับจาก ถนนหมายเลข 1233, ถนนหมายเลข 1173 และ ถนนหมายเลข 1326 ไป ตำบล แม่เปา อำเภอพญาเม็งราย เดินทางประมาณ 45 นาที (39.4 กม.) และ เดินทางต่อไปยัง ตำบล เม็งราย อำเภอพญาเม็งราย 6 นาที (5.7 กม.) และตาม ถนนหมายเลข 1174 ไปทาง ถนนหมายเลข 1020 มุ่งไป ตำบล ครึ่ง ขับไปผ่านสถานีตำบลภูธรบุญเรือง ประมาณ 2.6 กิโลเมตร มีป้ายบอกทาง หมู่บ้านหลวง หมู่ 4 กลับรถ มาประมาณ 400 เมตร ถึง กาดชุมชน ตำบลครึ่ง กลุ่มจักสานหวาย

2.เส้นทางจาก ที่ว่าการอำเภอเชียงของ ถึงบ้านหลวง หมู่ 4 ตำบลครึ่ง ระยะทางประมาณ 26.3 กิโลเมตร จะเจอป้ายบอกทาง กาดชุมชนตำบลครึ่ง ซ้ายมือถึงกลุ่มจักสานหวายตำบลครึ่ง

ขอบคุณข้อมูลจาก นายประพัตน์ แก้วตา ประกลุ่มจักสานหวาย บ้านหลวง ตำบลครึ่ง

เพจ : https://intrend.trueid.net/north/

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวนันทพร บุดดี

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวนันทพร บุดดี

เพจ :กลุ่มจักสานหวายบ้านหลวงเชียงของเชียงราย