พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

ชื่อเรื่อง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ความทรงจำอันทรงคุณค่า


รื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ในสมัยโบราณ ในสมัยที่คนรุ่นเรานั้นเกิดไม่ทัน ส่วนมากจะเลือนหายไปตามกาลเวลา หากชนรุ่นหลังปล่อยปละละเลย ไม่สนใจถึงความทรงจำในอดีต ความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรม สิ่งก่อสร้าง วัตถุ สิ่งเหล่านั้นก็จะสลายหายไปจากความทรงจำตามกาลเวลา ดังนั้นหากเรายังอยากให้ความทรงจำ ความรู้ ความรุ่งเรือง ในอดีตยังคงอยู่ จึงจำเป็นที่พวกเราต้องช่วยกันเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้เรื่องราว พิพิธภัณฑ์ ก็เป็นสถานที่หนึ่ง ชึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเก็บรวบรวมเรื่องราวในอดีตให้อยู่ในความทรงจำของพวกเรา

เมืองพิมาย เป็นเมืองหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มานับพันปี และมีความสำคัญในทุกยุค ทุกสมัย มีโบราณสถานที่สำคัญ คือปราสาทหินพิมาย ความรุ่งเรือของอณาจักรขอมโบราณ ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และในเขตจังหวัดใกล้เคียงเมืองพิมาย ก็มีวัตถุโบราณที่ทรงคุณค่ามากมายเช่นกัน การเก็บรักษาความทรงจำในอดีตเหล่านี้จึงจำเป็นมีการเก็บรักษาเป็นอย่างดี โดยได้เก็บรักษาไว้ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เริ่มต้นมาจากการเป็นพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ.2507 โดยหน้าที่ขณะนั้นเพื่อการเก็บรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งบูรณะปราสาทพิมาย ร่วมกับโบราณวัตถุที่ได้จากการ เก็บรวบรวมจากจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่ง พ.ศ.2518 ได้โอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

พ.ศ.2532 กรมศิลปากร เสนอของบประมาณโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียว เพื่อดำเนินการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ให้ถูกต้องตามหลักพิพิธภัณฑสถานวิทยา โดยการจัดสร้างอาคารจัดแสดง สำนักงานและห้องประชุม และได้รับงบประมาณต่อเนื่องมาจนกระทั่ง ดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการถาวรแล้วเสร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย อย่างเป็นทางการ เมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2536

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี โดยเก็บรวบรวมหลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับรากฐานและพัฒนาการของวัฒนธรรมอีสานในอดีตที่เจริญรุ่งเรืองในพื้นที่อีสานตอนล่างแถบลุ่มแม่น้ำมูล-แม่น้ำชี ในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000ปี มาแล้วจนถึงสมัยปัจจุบัน

การเดินทางมาเยี่ยมชม ศึกษาหาความรู้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย สามารถเดินทางได้ทางรถยนต์ จากตัวเมืองโคราช เดินทางโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ตรงทางแยก

ตลาดแค เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 206 ประมาณ 10 กิโลเมตร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล ติดสะพานท่าสงกรานต์ ก่อนเข้าตัวเมืองพิมาย ใกล้ปราสาทหินพิมายเพียง 100 เมตร ศิลปะวัฒนธรมม วัตถุโบราณ ตลอดจนความทรงจำอันทรงคุณค่า รอทุกท่านมาเยี่ยมชมอยู่ครับ

แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

ข้อมูล เนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย : นายนัฐพล คู่พิมาย

ครู กศน.ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ขอขอบคุณ ภาพถ่าย/ภาพประกอบ

เฟสบุ๊ค phimai national museum:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

ข้อมูล TKP อ้างอิง https://sites.google.com/view/nattapon304/home