ปราสาทหินพิมาย

ชื่อเรื่อง : “ปราสาทหินพิมาย” ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้นแบบนครวัด

ชุมชน : อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ปราสาทหินพิมาย นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ของจังหวัดนครราชสีมาแล้ว ยังเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณของอณาจักรขอมที่ใหญ่โต และงดงามอลังการ เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บนพื้นที่ 115 ไร่ ที่รอให้ชนรุ่นหลังได้มาเยี่ยมชม ศึกษา

ปราสาทหินพิมาย ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เป็นปราสาทหินที่มีความงดงาม และใหญ่ที่สุดในประเทศไทยจุดเด่นของปราสาทหินพิมาย ที่แตกต่างไปจากปราสาทหินแห่งอื่น คือ ปราสาทหินแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ ให้ตรงกับตำแหน่งที่ตั้งของเมืองพระนคร อันเป็นเมืองหลวงของอณาจักรขอมในสมัยนั้น ส่วนปราสาทหินอื่น ๆ จะหันไปทางทิศตะวันออก ปราสาทหินพิมายห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา ประมาณ 60 กิโลเมตรเป็นศาสนาสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายานชื่อ “พิมาย” นั้นน่าจะเป็นคำเดียวกันกับชื่อ “วิมายะ” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินกรอบประตูโคปุระระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทพิมายคำว่า“พิมาย”นั้นปรากฏเป็นชื่อเมืองในศิลาจารึกพบในประเทศราชอาณาจักรกัมพูชาประชาธิปไตยหลายแห่ง แม้รูปคำจะไม่ตรงกันว่าเมืองวิมาย หรือวิมายะปุระ (จารึกปราสาทพระขรรค์

พุทธศตวรรษที่ 18) โดยเฉพาะข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ที่กล่าวว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง จากราชธานีมาเมืองพิมายรวม 17 แห่งแสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเมืองพิมายกับอาณาจักรเขมรและแสดงว่าเป็นเมืองสำคัญ บริเวณที่ตั้งของปราสาทพิมายเมื่อดูจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นได้ชัดว่าเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคู และ กำแพงเมืองล้อมรอบมีศาสนสถานอยู่กลางเมืองแวดล้อมด้วยชุมชนใหญ่น้อยรายรอบเป็นกลุ่มใหญ่ ตัวเมืองพิมายเองตั้งอยู่ที่ทำเลที่ดีและอุดมสมบูรณ์ เพราะมีลำน้ำไหลผ่านรอบเมือง ได้แก่ แม่น้ำมูลพิมายเป็นเมืองโบราณในลุ่มแม่น้ำมูลที่มีอดีตอันรุ่งเรืองและมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากตัวเมืองโบราณมีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีประตูเมืองทั้ง 4 ทิศก่อด้วยศิลา ที่สำคัญคือประตูเมืองด้านทิศใต้ที่หันหน้าไปสู่ เมืองพระนครในประเทศกัมพูชาปัจจุบันกลางเมืองมีศาสนสถานขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยหินตั้งอยู่คือปราสาทพิมายนั่นเอง

ปราสาทพิมายนับเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายานที่สร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 กล่าวคือสร้างขึ้นก่อนปราสาทนครวัด เชื่อว่าส่วนยอดหรือหลังคาปราสาทพิมายเป็นต้นแบบของการก่อสร้างปราสาทนครวัดของเขมรในสมัยต่อมา เนื่องจากปราสาทพิมายนี้หันหน้าไปทางทิศใต้จึงเข้าใจว่าเพื่อรับกับถนนที่ตัดมาจากกัมพูชา และมีการสร้างอโรคยาศาลาและที่พักเดินทาง ขึ้นตามแนวถนนจนถึงพิมายในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของกัมพูชาโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเมืองพิมาย มีอยู่หลายแห่งทั้งนอกเมืองและในเมืองที่สำคัญได้แก่ปราสาทพิมาย เดิมมีสภาพปรักหักพังทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในพุทธศักราช 2507 กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศฝรั่งเศสบูรณซ่อมแซมปราสาทประธานของปราสาทพิมายจนแล้วเสร็จ ในพุทธศักราช 2512 ต่อมาเมืองพิมายและปราสาทพิมายก็ได้รับการพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์พิมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ดำเนินการบูรณะโบราณสถานตั้งแต่ พุทธศักราช 2525 เป็นต้นมา จนแล้วเสร็จและเปิด เป็นอุทยานประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธี

ปัจจุบันปราสาทหินพิมาย ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเมืองพิมาย รอให้ทุกท่านมาเยี่ยมชม ศึกษาถึงอดีตของอณาจักรโบราณว่ามีความรุ่งเรืองเพียงใด การเดินทางสู่ปราสาทหินพิมาย สามารถเดินทางได้ทางรถยนต์ จากตัวเมืองโคราช เดินทางโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ตรงทางแยก

ตลาดแค เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 206 ประมาณ 10 กิโลเมตร ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และว่ากันว่าต้นแบบปราสาทหิรนครวัด รอทุกท่านอยู่

แหล่งท่องเที่ยวปราสาทหินพิมาย

ข้อมูล เนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย : นายนัฐพล คู่พิมาย

ครู กศน.ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ขอขอบคุณ ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : Sunchai Krongsuk

เพจเฟสบุ๊ค : อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย Phimai Historical Park

ข้อมูบล TKP อ้างอิง https://sites.google.com/view/nattapon304/home