ภาพถ่ายทางอากาศ

1.3 รูปถ่ายทางอากาศ

รูปถ่ายทางอากาศ คือ รูปที่ได้จากการถ่ายทางอากาศ โดยผ่านเลนส์กล้องและฟิล์ม หรือข้อมูลเชิงเลข ซึ่งถ่ายด้วยกล้องที่นำไปในอากาศยาน อันได้แก่ บัลลูน เครื่องบิน เป็นต้น ในสมัยปัจจุบันมีการถ่ายรูปทางอากาศจากยานอวกาศได้ด้วย ปกติการถ่ายรูปทางอากาศจะถ่ายจากเครื่องบินที่มีการวางแผนการบิน และกำหนดมาตราส่วนของแผนที่มาแล้วเป็นอย่างดี กล้องถ่ายรูปทางอากาศคล้ายกับกล้องถ่ายรูปทั่วไปในอดีตแต่มีขนาดใหญ่กว่า เลนส์ยาวกว่า และใช้ฟิล์มขนาดใหญ่ ซึ่งปกติจะมีขนาดประมาณ 24 x 24 เซนติเมตร รูปถ่ายทางอากาศจะให้ข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียด นอกจากนี้ รูปถ่ายทางอากาศมีการถ่ายรูปซ้อนทับพื้นที่บนรูปที่ต่อเนื่องกัน จึงสามารถดูเป็นภาพสามมิติ หรือทรวดทรงของผิวโลกได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในด้านภูมิศาสตร์

1) ประเภทของรูปถ่ายทางอากาศ รูปถ่ายทางอากาศ มี 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะการถ่ายรูปดังนี้

1.1) รูปถ่ายทางอากาศแนวดิ่ง เป็นรูปถ่ายทางอากาศที่ถ่ายรูปในแนวตั้งฉากกับผิวโลกและไม่เห็น แนวขอบฟ้า

1.2) รูปถ่ายทางอากาศแนวเฉียง เป็นรูปถ่ายที่เกิดจากการกำหนดแกนของกล้องในลักษณะเฉียง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1) รูปถ่ายทางอากาศแนวเฉียงสูง ลักษณะรูปถ่ายจะเห็นแนวขอบฟ้าเป็นแนวกว้างใหญ่

2) รูปถ่ายทางอากาศแนวเฉียงต่ำ เป็นรูปถ่ายทางอากาศที่ไม่ปรากฏเส้นขอบฟ้าในภาพรูปถ่ายทางอากาศแนวเฉียงสูงและแนวเฉียงต่ำใช้แสดงภาพรวมของพื้นที่แต่มีมาตราส่วนบนรูปถ่ายทางอากาศ แตกต่างกัน รูปถ่ายทางอากาศแนวดิ่งมีมาตราส่วนในรูปค่อนข้างคงที่ จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ทำแผนที่

2) หลักการแปลความหมายจากรูปถ่ายทางอากาศ มีหลักการ ดังนี้

2.1) ความแตกต่างของความเข้มของสี วัตถุต่างชนิดกันจะมีการสะท้อนคลื่นแสงต่างกัน เช่น ดินแห้งที่ไม่มีต้นไม้ปกคลุมจะสะท้อนคลื่นแสงมาก จึงมีสีขาว น้ำดูดซับเคลื่อนแสงมากจะสะท้อนคลื่นแสงน้อย จึงมีสีดำ บ่อน้ำตื้นหรือมีตะกอนมากจะสะท้อนคลื่นแสงได้ดีกว่าบ่อน้ำลึกหรือเป็นน้ำใส ป่าไม้หนาทึบจะสะท้อนคลื่นแสงน้อยกว่าป่าไม้ถูกทำลาย ดังนั้น ป่าไม้แน่นทึบจึงมีสีเข้มกว่าป่าถูกทำลาย เป็นต้น

2.2) ขนาดและรูปร่าง เช่น สนามฟุตบอลรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เป็นต้น

2.3) เนื้อภาพและรูปแบบ เช่น ป่าไม้ธรรมชาติจะมีเรือนยอดเป็นจุดเล็กบ้างใหญ่บ้างมีระดับสูงต่ำ และไม่เรียงเป็นระเบียบ ส่วนป่าปลูกจะมีเรือนยอดสูงใกล้เคียงกันละเรียงเป็นระเบียบ เป็นต้น

2.4) ความสูงและเงา ในกรณีที่วัตถุมีความสูง เช่น ต้นไม้สูง ตึกสูง เป็นต้น เมื่อถ่ายรูปทางอากาศในระดับไม่สูงมาก และเป็นช่วงเวลาเช้า หรือเวลาบ่ายจะมีเงา ทำให้ช่วยในการแปลความหมายได้ดี

2.5) ตำแหน่งและความสัมพันธ์ เช่น เรือในแม่น้ำ เรือในทะเล รถยนต์บนถนน ต่างแสดงตำแหน่งความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เป็นต้น

2.6) ข้อมูลประกอบ เช่น ใช้แผนที่การใช้ที่ดิน แผนที่ป่าไม้ประกอบการแปลความหมายด้าน การใช้ที่ดินและป่าไม้ เป็นต้น

2.7) การตรวจสอบข้อมูล ผู้แปลจะต้องมีความรู้ที่จะนำองค์ประกอบมาผสมผสานกัน การตรวจสอบข้อมูลภาคสนามจะช่วยให้การแปลความหมายถูกต้องแม่นยำ แต่รูปถ่ายทางอากาศที่ถ่ายในช่วงปีที่แตกต่างกันจะช่วยทำให้เห็นลักษณะการใช้ที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งโดยกิจกรรมของมนุษย์และตามสภาพธรรมชาติ

3) ประโยชน์ของรูปถ่ายทางอากาศ มีดังนี้

1. การสำรวจและทำแผนที่ภูมิประเทศ

2. การใช้ในกิจการทหารและความมั่นคงของประเทศ

3. การสำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4. การสำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การใช้ที่ดิน

5. การวางผังเมืองและการสำรวจแหล่งโบราณคดี

6. การสำรวจและการติดตามด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคงของชาติ