หน่วยที่ 1 เรื่องเครื่องมือทางภูมิศาสตร์

และเวลาโลก

ความหมายและประเภท

ของเครื่องมือทางภูมิศาสตร์

1. เครื่องมือทางภูมิศาสตร์

เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ คือ วัสดุ อุปกรณ์ ในรูปแบบต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นสื่อเพื่อการศึกษาการสำรวจ การเก็บรวบรวม การบันทึก การวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลทางภูมิศาสตร์

เครื่องมือทางภูมิศาสตร์จำแนกตามหน้าที่หลักของการใช้งานได้ 2 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 เครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็นสื่อความรู้ทางภูมิศาสตร์ สื่อความรู้ทางภูมิศาสตร์ หมายถึงวัสดุ อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ให้ความรู้ สำหรับการศึกษาเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์ อาจอยู่ในรูปของตัวหนังสือ รูปภาพ แผนภูมิ แบบจำลอง สื่อดิจิทัล เสียง และภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ตัวอย่างเครื่องมือเหล่านี้ เช่น ตำราเรียนภูมิศาสตร์ เว็บไซต์ที่เผยแพร่ความรู้ทางภูมิศาสตร์ แผนที่ประเภทต่างๆ ลูกโลกจำลอง ภูมิประเทศจำลอง รูปถ่ายทางอากาศ ภาพจากจานดาวเทียม เป็นต้น

ประเภทที่ 2 เครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็นสื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์ สื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์ หมายถึง วัสดุ อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำหน้าที่เพื่อสำรวจ ตรวจวัด บันทึก เก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ตัวอย่างเครื่องมือเหล่านี้ เช่น สมุดจดบันทึก เข็มทิศ เทปวัดระยะทาง กล้องสามมิติ (Stereoscope) เทอร์โมมิเตอร์ (Thermometer) ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก หรือจีพีเอส (Global Positioning System : GPS) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือจีไอเอส (Geographic Information System : GIS) ข้อมูลจากการรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing : RS) เป็นต้น

เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการเรียนวิชาภูมิศาสตร์เป็นอย่างมากเนื่องจากการเรียนวิชานี้ต้องกล่าวถึงสถานที่ที่มีขนาดต่างกัน ทั้งที่เป็นธรรมชาติและสิ่งที่มุนษย์สร้างขึ้น ตลอดจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวโลก และสิ่งที่จะสามารถนำมาใช้อธิบายสภาพพื้นที่ สถานที่ได้ดีที่สุด คือ แผนที่

1.) ความหมายของแผนที่ พจนานุกรมศัพท์ทางภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของแผนที่ไว้ว่า “แผนที่ หมายถึง สื่อรูปแบบหนึ่งที่ถ่ายทอดข้อมูลของโลกในรูปกราฟิก โดยการย่อส่วนให้เล็กลงด้วยมาตราส่วนขนาดต่างๆ และเส้นโครงแผนที่แบบต่างๆ ให้เข้าใจตรงตามวัตถุประสงค์ด้วยการใช้สัญลักษณ์” ดังนั้น จึงกล่าวไว้ว่า แผนที่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแสดงลักษณะของพื้นผิวโลก และสิ่งที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลก และสิ่งที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลก ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ด้วยการย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลงตามอัตราส่วนที่ต้องการและใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่จริงบนผิวโลก ทั้งนี้จะคงความเหมือนจริงทั้งขนาด รูปร่าง ทิศทาง และตำแหน่งที่ตั้งไว้

2.) ชนิดของแผนที่ แผนที่สามารถแบ่งออกได้หลายชนิดหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ทั้งนี้โดยทั่วไปนิยมแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

2.1) แผนที่ภูมิประเทศ (Topographic Map) เป็นแผนที่แสดงข้อมูลรายละเอียดของผิวโลกที่เกี่ยวกับภูมิลักษณ์แบบต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบ แม่น้ำ ทะเล ทะเลสาบ เป็นต้น และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น เมือง หมู่บ้าน พื้นที่เกษตรกรรม อ่างเก็บน้ำ ถนน ทางรถไฟ เป็นต้น

แผนที่ภูมิประเทศแสดงความสูงต่ำของผิวโลกด้วยเส้นชั้นความสูง (contour line) และหมุดระดับ (bench mark) จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร แผนที่ภูมิประเทศที่ใช้กันมากมี 2 มาตราส่วน ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนเล็ก คือ มาตราส่วน 1 : 250,000 และแผนที่มาตราส่วนใหญ่ คือ มาตราส่วน 1 : 50,000 เนื่องจากแผนที่ภูมิประเทศทั้งสองมาตราส่วนจัดทำขึ้นจากข้อมูลที่ได้มาจากรูปถ่ายทางอากาศและภาพจากดาวเทียม จึงได้ข้อมูลที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลกที่ถูกต้องและทันสมัย มีจุดพิกัดภูมิศาสตร์อ้างอิงได้ จึงเป็นแผนที่ที่มีความนิยมใช้ในงานสาขาอื่นๆ เช่น การสร้างถนน การสร้างเขื่อน การสร้างเมืองใหม่ การป้องกันอุทกภัย เป็นต้น

2.2) แผนที่เฉพาะเรื่อง (Thematic Map) เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงข้อมูลหลักเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น แผนที่ประชากร แผนที่อากาศ แผนที่ป่าไม้ แผนที่ท่องเที่ยว แผนที่เหล่านี้จะมีการสำรวจเพิ่มเติมหรือปรับแก้ไขข้อมูลให้ทันสมัยเป็นระยะๆ ไปมาตราส่วนของแผนที่เฉพาะเรื่องมีความหลากหลายตามลักษณะข้อมูลที่ต้องการแสดง แต่ส่วนมากจะเป็นมาตราส่วนเล็ก เช่น มาตราส่วนเล็กกว่า 1 : 1,000,000 1 : 500,000 หรือ 1 : 250,000 เป็นต้น ส่วนแผนที่เฉพาะเรื่องที่มีลักษณะเชิงวิชาการ เช่น แผนที่ชุดดิน แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนที่ธรณีวิทยาและแหล่งแร่ อาจทำเป็นแผนที่มาตราส่วน 1 : 100,000 หรือ 1 : 50,000 แต่พื้นที่เฉพาะเรื่องบางชนิดที่ต้องการแสดงเฉพาะพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น ทรัพยากรธรรมชาติในตำบลหรือหมู่บ้านอาจจะมีการจัดทำแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้

เนื่องจากแผนที่เฉพาะเรื่องมีความหลากหลายชนิดมาก จึงได้นำเสนอตัวอย่างเพียงบางชนิด ดังนี้

(1) แผนที่ท่องเที่ยว มีการจัดทำทั้งในระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด โดยเน้นข้อมูลด้าน การเดินทาง ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ ที่ตั้งจังหวัด อำเภอ สถานที่ ท่องเที่ยว สถานที่พัก ร้านอาหาร แผนที่ท่องเที่ยวมีรูปแบบที่เข้าใจง่าย ดังนั้นจึงมักจัดพิมพ์มาตราส่วนเล็ก เช่น 1 : 1,000,000 หรือ 1 : 2,000,000 หรือเล็กกว่า เป็นต้น

(2) แผนที่แสดงเส้นทางคมนาคม แผนที่นี้จัดทำโดยกรมทางหลวง เพื่อแสดงรายละเอียดของเส้นทางคมนาคม ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ สนามบิน เป็นหลัก แผนที่แสดงเส้นทางคมนาคมมีประโยชน์เพื่อใช้กำหนดเส้นทาง ระยะทางโดยประมาณ และการหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีปัญหา เนื่องจากมีข้อมูลไม่มากนัก แผนที่ที่พิมพ์ออกมาจึงมีมาตราส่วนเล็ก เช่น 1 : 1,000,000 หรือเล็กกว่า เป็นต้น

(3) แผนที่ธรณีวิทยา เป็นแผนที่ที่แสดงอายุของหิน หน่วยหิน ชนิดหิน และโครงสร้างทางธรณีวิทยา นอกจากนี้ยังแสดงข้อมูลประกอบอื่นๆ เช่น ทางหลวงสายสำคัญ ที่ตั้งของจังหวัด เป็นต้น โดยข้อมูลประกอบจะแตกต่างกันไปตามมาตราส่วน แผนที่ธรณีวิทยามาตราส่วน 1 : 1,000,000 1 : 250,000 และ 1 : 50,000 จะมีการนำมาใช้งานมาก ซึ่งแผนที่นี้จัดทำโดยกรมทรัพยากรธรณี

(4) แผนที่การใช้ที่ดิน แผนที่นี้แสดงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเฉพาะด้านการเกษตร มาตราส่วนที่จัดทำ เช่น 1 : 1,000,000 และ 1 : 250,000 และ 1 : 50,000 และเนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงมากและรวดเร็ว แผนที่การใช้ที่ดินจึงต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดและต้องใช้เวลามาก แต่ในปัจจุบันมีการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อจัดทำแผนที่การใช้ที่ดินทำให้การทำงานรวดเร็วมากขึ้น แผนที่นี้จัดทำโดยกรมพัฒนาที่ดินหรือสำรักงานเศรษฐกิจการเกษตร

3.) องค์ประกอบแผนที่ แผนที่โดยทั่วไปมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

4.) การอ่านแผนที่ แผนที่เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตหลายประการ เช่น ใช้แผนที่ในการเดินทาง การวางแผนการท่องเที่ยว การศึกษาสภาพของพื้นที่เพื่อการป้องกันและ แก้ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ใช้หรือผู้ศึกษาแผนที่จึงควรมีความรู้และความเข้าใจองค์ประกอบต่างๆ ของแผนที่ และฝึกฝนการอ่านแผนที่อยู่เสมอ จึงจะสามารถอ่านแผนที่ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และนำข้อมูลที่ต้องการจากแผนที่ไปใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์

จากแผนที่ภูมิประเทศบริเวณเขาพนมรุ้ง มาตราส่วนเดิม 1 : 50,000 ของกรมแผนที่ทหาร มีข้อมูลและข่าวสารด้านภูมิลักษณ์ ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มุนษย์สร้างขึ้นแสดงด้วยสัญลักษณ์แผนที่ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

5.) ประโยชน์ของแผนที่ แผนที่เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่มีความจำเป็นสำหรับการศึกษาสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ และเป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ดังนี้

1. ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้แสดงเส้นทางคมนาคมในการเดินทาง เป็นต้น

2. ใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว แผนที่มีประโยชน์ในการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว การวางแผนการท่องเที่ยว รวมถึงการตัดสินใจเลือกสถานที่ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว

3. ใช้ในการรายงานปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น แผนที่แสดงอุณหภูมิ แผนที่แสดงการเคลื่อนที่ของพายุ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

4. ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น วางแผนการตัดถนน วางระบบโทรคมนาคม วางสายไฟฟ้า วางท่อประปา การสร้างเขื่อน เป็นต้น

5. ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น แผนที่แสดงความหนาแน่นของประชากร แผนที่แสดงแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำไปวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป เป็นต้น

6. ใช้ในกิจการทางทหาร โดยนำไปเป็นข้อมูลในการวางแผนทางยุทธศาสตร์ เช่น การเลือกตั้งที่ค่ายทหาร การทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศ เป็นต้น

7. ใช้ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ใช้เป็นข้อมูลในการสำรวจและปักปันเขตแดน เป็นต้น

8. ใช้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่ เช่น ศึกษาชนิด คุณภาพ และการกระจายดิน ธรณีวิทยา ป่าไม้ เป็นต้น