เรื่อง กระทงจากเปลือกข้าวโพด

(ภูมิปัญญาท้องถิ่น) เรื่อง กระทงจากเปลือกข้าวโพด

ชุมชน : บ้านเลขที่ 64 หมู่ที่ 1 ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร

ความเป็นมาของกระทงเปลือกข้าวโพด

การประดิษฐ์กระทง สมัยก่อนใช้วัสดุพื้นบ้านหรือตามธรรมชาติ เช่น ทำจากใบตอง หยวกกล้วยมาพับตกแต่งประดับด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และวัสดุตามธรรมชาติมาประดิษฐ์ เป็นวัสดุย่อยสลายง่าย แต่ปัจจุบันกลับนิยมใช้วัสดุโฟม ซึ่งย่อยสลายยาก ทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรก เน่าเหม็น เกิดมลภาวะเป็นพิษ ต่อมาชาวบ้านได้เริ่มทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ โดยเริ่มจากหาเก็บเปลือกมะพร้าว ตามบ้านชาวบ้านที่ปอกทิ้ง เก็บเปลือกข้าวโพดจากชาวนาที่หักข้าวโพดไปแล้วและดอกกก หรือหญ้ากกซึ่งมักจะออกช่วงหน้าฝน โดยเริ่มเก็บตั้งแต่ช่วงต้นปี พอใกล้จะถึงเทศกาลลอยกระทง ก็จะมานั่งรวมกลุ่มกันทำกระทง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำบายศรีที่มีอยู่ มาใช้ในการพับกลีบเปลือกข้าวโพด ทำกลีบกระทงแทนใบตองสด ซึ่งมีราคาสูงและพับเปลือกข้าวโพดทำเป็นดอกไม้ ร่วมกับดอกกก ดอกหญ้ามุ้งในท้องนา นำมาตากแห้งแล้วย้อมสี นำมาประกอบกันกับฐานที่ใช้จากเปลือกลูกมะพร้าวแห้ง ตัดเป็นรูปทรงตามต้องการ เช่น ทรงกลม ทรงรี รูปทรงหัวใจ จากนั้นประดับตกแต่งให้มีสีสันที่สดใสสวยงามอีกนิดหน่อย ก็จะออกมากระทงสีสันสดใสสวยงาม จะได้กระทงทรงกลม กระทงรูปดาว รูปหัวใจ ซึ่งตอนนี้มีด้วยกันทั้งหมด 9 แบบ ถ้าจะเน้นความสวยงามสำหรับตั้งโชว์ก็จะเป็นกระทงรูปนกยูงรำแพน กระเช้าหงส์ กระทงนกคู่ ที่มีความสวยงามละเอียดอ่อน ซึ่งวัสดุที่นำมาประดิษฐ์นั้นล้วนใช้วัสดุธรรมชาติทั้งสิ้น


การถ่ายทอดภูมิปัญญา ของชาวบ้านในการทำบายศรีมาพับกลีบเปลือกข้าวโพดและตกแต่งให้ดูสวยงาม จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน

วัสดุผลิตภัณฑ์

1. เปลือกข้าวโพด ใช้ทำกลีบกระทง

2. เปลือกมะพร้าว ใช้ทำฐานกระทง

3. ดอกหญ้า ใช้ตกแต่งกระทง


4. กระดาษย่น สีต่าง ๆ ใช้ทำเป็นฐานติดกับเปลือกมะพร้าว

5. กาว ใช้ทายึดให้ดอกหญ้าติดกับฐาน

6. สีย้อมกก ใช้ย้อมเปลือกข้าวโพดและดอกหญ้าให้มีสีสันที่สวยงาม

7. ลวดเย็บกระดาษ ใช้เย็บกระดาษย่น



กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน

1. นำเปลือกมะพร้าวมาตากให้แห้ง ใช้มีดฝานให้เป็นแผ่นบาง ๆ สำหรับเป็นฐานกระทง แล้วแต่ว่าเปลือกมะพร้าวที่ฝานออกมาแล้วจะได้ออกมาในลักษณะไหน ถ้าได้มาแบบยาวก็สามารถนำมาทำฐานที่เป็นรูปเรือได้ ถ้าได้สั้นก็สามารถทำเป็นรูปวงกลม และรูปหัวใจ

2.การเลือกพันธุ์ข้าวโพดที่ดีจะสามารถทำให้กลีบกระทงนั้นออกมาสวยและง่ายต่อคนทำ เช่น ข้าวโพดพันธุ์ 984 จะเป็นพันธุ์ข้าวโพดที่ดีที่สุด เพราะเปลือกบาง เนียน ไม่มีรอยที่เปลือก และไม่คันจึงทำให้ทำง่าย จากนั้นนำฝักข้าวโพดมาปอกเปลือกซักสองถึงสามใบเอามีดมาควั่นตรงคั่วฝักนิดหน่อยควั่นให้รอบ ดึงตรงจุกออกก็จะได้เปลือกข้าวโพด

3. นำเปลือกข้าวโพดไปตากแดดสักสองวันหรือจนแห้งแล้วนำมาย้อมสีโดยสีที่ใช้นั้นจะเป็นสีย้อมกก ตราช้าง การย้อมต้องตั้งน้ำให้เดือดแล้วใส่สีลงไปคนให้ละลายเข้ากับน้ำ จากนั้นนำเปลือกข้าวโพดที่ตากไว้ ลงไปจุ่มประมาณสองถึงสามครั้งหรือจนกว่าจะได้สีที่พอใจ แล้วนำมาตากให้สีแห้ง การเก็บรักษาเปลือกข้าวโพดหลังจากย้อมสีแล้วนั้นจะไม่นำไปตากแดดหรือโดนแดดเลย จะตากภายในบ้านหรือที่ร่มปล่อยให้แห้งไปตามลมไม่อย่างนั้นสีจะซีดและไม่สวย จากนั้นนำกลับมาเพื่อทำการฉีก ก่อนฉีกเอากรรไกรมาตัดตรงปลายฝักและแกะออกทีละเปลือกแล้วจึงทำการฉีกเปลือกละสองใบ นำมาพรมน้ำนิดหน่อยเพื่อให้เปลือกนิ่มจะได้พับง่ายขึ้น ตัดเปลือกข้าวโพดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการพับเป็นตัว(กลีบกระทง)เตรียมไว้ จำนวนตามที่ต้องการ


เปลือกข้าวโพดที่ย้อมสีและพับเป็นกลีบแล้ว

4. นำดอกหญ้ามาย้อมสีต่าง ๆ ก่อนนำมาย้อมดอกหญ้าต้องแห้งสนิทตากด้วยแดดจัด ๆ เท่านั้นไม่อย่างนั้นดอกหญ้าจะขึ้นรา โดยดอกหญ้าเอามาทำนั้นทำมาจากดอกกก ที่ตัวต้นกกสามารถนำไปทำเสื่อ ส่วนดอกที่คนส่วนใหญ่นำไปทิ้งก็เก็บมาตากและนำมาให้ตกแต่งกระทงให้สวยงาม

5. นำกระดาษย่นมาทา ชุบด้วยเทียนไข เย็บกลีบกระทงเป็นรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องการ เช่น วงกลม วงรี รูปหัวใจ เป็นไปตามรูปที่เราต้องการหรือตามที่เราได้ตัดไว้แล้ว

6. นำมาติดฐาน ก็คือเปลือกมะพร้าวนั่นเอง พอติดฐานเสร็จรอจนแห้งดีนำมาตกแต่งด้วยดอกกกที่เราย้อมสีและใส่ดอกไม้ที่ทำมาจากเปลือกข้าวโพด ตกแต่งให้สวยงาม

7. กระทงที่ได้ทำเสร็จแล้วคัดคุณภาพและขนาดก่อนส่งจำหน่าย เปลือกข้าวโพดเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะทำจากวัสดุจากธรรมชาติลดมลพิษ และมีความสวยงามแปลกตาเทคนิค

8. กรรไกร ใช้ตัดตกแต่งสิ่งที่เป็นส่วนเกินของกระทงออก

9. ลูกแม๊ก แม่แม็ก ใช้แม็กตัวเปลือกข้าวโพดมาทำเป็นกลีบ

10. กระบอกฉีดน้ำ ใช้ฉีดพรมบนเปลือกข้าวโพดให้อ่อนพับง่าย

11. ด้ายขาว ใช้มัดยึดเปลือกข้าวโพดกับดอกหญ้าเวลาทำดอก

ผู้ให้ข้อมูล

นายวชิรวิทย์ กรรณิกา

นางสาวสุดาพร แทนสมบัติ

นางสาวนิชานันท์ เอี่ยมทรัพย์

ผู้เรียบเรียบ

นายเสถียร อ่วมสถิตย์