สร้างสุขครอบครัว

ลักสร้างสุขในครอบครัว

1. ย. ยืดหยุ่น

การอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวนั้น ต้องรู้จักอดทนอดกลั้น รู้จักให้และรับอย่างเหมาะสม โอนอ่อนผ่อนตามในบางครั้ง เรียนรู้ที่จะพบกันครึ่งทาง และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพื่อให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวสมดุล และแน่นแฟ้น ไม่ตึง หรือหย่อนจนเกินไป

2. ย. ยอมให้

เมื่อเราต้องการรับอะไรจากใคร ก็ควรหัดเป็นผู้ให้เสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความห่วงใย ความเอาใจใส่ ความอบอุ่น การให้กำลังใจในเรื่องต่าง ๆ หรือแม้แต่สิ่งของ และการดูแลหรือทำงานต่าง ๆ ภายในบ้าน เพราะการให้ จะทำให้ผู้รับรู้สึกดี มีคุณค่าในตัวเอง และเสริมสร้างความสุขในครอบครัวได้อย่างเป็นดี

3. ย. ยกย่อง

คำพูดที่อ่อนหวาน ไพเราะ คำที่แสดงความห่วงใย ให้เกียรติ ให้กำลังใจ รวมไปถึงคำชม ขอโทษ และขอบคุณ คำพูดเหล่านี้ มันถูกมองข้ามเพราะความใกล้ชิด คิดว่าเมื่อเป็นครอบครัวเดียวกัน เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น และหลงลืมไปว่า การพูดจาต่อกันดี ๆ นั้น สร้างความสุขให้กับคนในครอบครัวได้ง่ายดายเพียงใด

4. ย. ยอมแพ้

หากมีเรื่องขัดแย้ง หรือทะเลาะกัน การมุ่งจะเอาชนะ นอกจากจะไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเสมอไปแล้ว ยังอาจเป็นการสร้างความร้าวฉานภายในครอบครัวได้อีกด้วย การยอมเป็นคนแพ้บ้าง เพื่อความสุขของคนอื่นในครอบครัว หันมาชื่นชมยกย่องคนในครอบครัว จะช่วยสร้างกำลังใจ และความสุขให้เกิดขึ้นได้

5. ย. แยกแยะ

ควรแยกแยะปัญหาแต่ละเรื่องออกจากกัน ไม่นำปัญหาที่ได้รับจากภายนอก มาใส่อารมณ์กับคนในบ้าน เหมือที่โบราณกล่าวไว้ว่า ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า รวมถึงการคิดก่อนพูด และทำ ไม่พูดหรือทำตามอารมณ์ชั่ววูบ ก็จะช่วยลดความยุ่งยาก และความขัดแย้งต่าง ๆ ลง

6. ย. ยอมเงียบ

ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น หากมีแต่ผู้พูด ไม่มีผู้ฟัง ก็จะไม่มีวันที่จะสามารถปรับความเข้าใจหากันได้เลย การยอมเป็นฝ่ายเงียบบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะอารมณ์ที่รุนแรง ลดการโต้เถียง ก็สามารถช่วยทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็กลงมาได้

7. ย. ยืนหยัด

แม้ว่าการยอมให้และยืดหยุ่นผ่อนปรน จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ครอบครัวเกิดความสุข แต่เพราะเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างไร้ปัญหาได้ตลอดเวลา ความมั่นคง และมีหลักการในการแก้ปัญหา ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลย การยืนหยัดในบางเรื่องที่สำคัญ ก็สามารถช่วยให้ครอบครัวของคุณมีความมั่นคงมากขึ้นได้เช่นกัน

8. ย. ยอมรับความต่าง

ครอบครัวจำนวนมากมีคนต่างวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน ความเข้าใจต่อเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน ความคิดที่ต่างมุมมอง มุมผู้ใหญ่ มุมวัยรุ่น หรือแม้แต่ในมุมของเด็ก สามารถทำให้เกิดความขัดแย้ง และความไม่เข้าใจกันได้อย่างง่ายดาย

การแลกเปลี่ยนทัศนคติ และปรับความเข้าใจให้ตรงกัน แลกเปลี่ยนมุมมอง ให้แต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นของตน เข้าใจและยอมรับในความคิดที่แตกต่าง จะช่วยลดความขัดแย้ง และเสริมสร้างความปรองดองให้กับครอบครัวได้