สรีรวิทยาระบบสืบพันธุ์ และสุขปฏิบัติสำหรับอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง-เพศชาย

อวัยวะเพศหญิง และระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

อวัยวะเพศหญิง หมายถึง อวัยวะของระบบสืบพันธุ์ภายนอกทั้งหมดของเพศหญิงที่ประกอบด้วย หัวหน่าว แคมใหญ่ แคมเล็ก คลิตอริส และรูเปิดของท่อปัสสาวะ ซึ่งไม่รวมกับอวัยวะอื่นในระบบที่เกี่ยวข้อง

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง หมายถึง ระบบอวัยวะทั้งหมดของเพศหญิงที่มีหน้าที่สำหรับสืบพันธุ์ โดยประกอบด้วยอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน

อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก

อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก (Valva) ได้แก่ หัวหน่าว แคมใหญ่ แคมเล็ก คลิตอริส และรูเปิดของท่อปัสสาวะ มีหน้าที่ปกคลุมอวัยวะเพศของหญิงไว้ทั้งหมด

1. หัวหน่าว (Mons Pubis)

หัวหน่าว อยู่ใต้ท้องน้อยบนกระดูกหัวหนาวระหว่างขาหนีบทั้งสองข้าง มีลักษณะเป็นผิวหนังนูน ประกอบด้วย ไขมันเป็นจำนวนมาก เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะเกิดขนปกคลุม ขนมีลักษณะหยิกงอ สีดำ เส้นใหญ่ ยาว มีลักษณะการปกคลุมรูปสามเหลี่ยมตามลักษณะของหัวหน่าว แต่ลักษณะขน และปริมาณแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม

2. แคมใหญ่ (Labia Majora)

แคมใหญ่ มีลักษณะเป็นเนื้อนูนสองกลีบ ปิดช่องคลอด และอวัยวะภายใน

3. แคมเล็ก (Labia Minora)

แคมเล็ก เป็นกลีบเล็กๆ อยู่ด้านในของแคมใหญ่ มีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อจากภายนอกเข้าสู่ช่องคลอด

4. เม็ดละมุด/คลิตอริส (Clitoris)

เม็ดละมุด/คลิตอริส หรือปุ่มกระสัน เป็นอวัยวะที่เทียบกับอวัยวะเพศชาย คือ องคชาต ตั้งอยู่เหนือรูเปิดท่อปัสสาวะ มีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 0.5-1 ซม. เป็นส่วนที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก มีความไวต่อการสัมผัส และทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศ

5. รูเปิดของท่อปัสสาวะ (Urethra)

รูเปิดของท่อปัสสาวะ ตั้งอยู่บริเวณด้านบนของปากช่องคลอด มีลักษณะเป็นตุ่มยื่นขนาดเล็ก บริเวณตรงกลางมีรูที่เป็นรูเปิดของท่อปัสสาวะสำหรับถ่ายปัสสาวะออกนอกร่างกาย

อวัยวะสืบพันธุ์ภายใน

1. ช่องคลอด (Vaginal Canal)

ช่องคลอด เป็นช่องอวัยวะภายในที่ตั้งอยู่ระหว่างช่องปัสสาวะกับช่องทวารหนัก ยาวประมาณ 7 – 8 เซนติเมตร เป็นช่องสำหรับผ่านของตัวอสุจิเพื่อเข้าไปปฏิสนธิกับไข่บริเวณปีกมดลูกหรือท่อนำไข่ รวมถึงเป็นทางออกของทารกในขณะคลอด ผนังภายในของช่องคลอดเป็นเยื่อเกือบติดกัน และสามารถแยกออกจากกันได้ สามารถยืดหดได้มาก และบริเวณปากช่องคลอดมีต่อมขนาดเล็กทำหน้าที่ขับน้ำเมือกมาเลี้ยงช่องคลอด เรียกว่า ต่อมบาร์โทลิน (Bartholin Grand)

ในภาวะปกติ ช่องคลอดจะมีมีสภาพเป็นกรดที่มาจากการเปลี่ยนไกลโคเจนให้เป็นกรดแลกติก (Lactic Acid)แบคทีเรียชนิดหนึ่ง จึงเป็นสภาวะที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อจุลินทรีย์ได้ และที่ปากช่องคลอดเยื่อบางๆ เรียกว่า เยื่อพรหมจารี (Hymen) ปกคลุมอยู่ เยื่อนี้ จะขาดไปเมื่อมีเพศสัมพันธุ์ครั้งแรกหรือกรณีอื่นๆ เช่น การเล่นกีฬา การทำงานหนักที่ทำให้เกิดการฉีกขาดของเยื่อพรหมจารี แต่ในบางคนอาจจะขาดมาแล้วตั้งแต่กำเนิด

2. มดลูก (Uterus)

มดลูกเป็นอวัยวะสืบพันธ์เพศหญิงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีรูปร่างลักษณะคล้ายผลชมพู่ ตั้งอยู่ในอุ้งเชิงกราน และอยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่ด้านหน้า และทวารหนักซึ่งอยู่ด้านหลัง มีส่วนที่ติดต่อกับช่องคลอดทีเป็นปากมดลูก เรียกว่า เซอวิก (Cervix) ภายในมดลูกมีลักษณะเป็นโพรงแคบๆ มีเยื่อบุโพรงมดลูกที่เป็นกล้ามเนื้อหนา และมีความแข็งแรง มีเส้นเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทุกรอบเดือนจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน และโปรเจสเตอร์โรน เยื่อผนังมดลูกจะหลุดลอกขณะมีประจำเดือน แต่เมื่อตั้งครรภ์จะขยายตัวใหญ่เป็นที่ฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิจากเชื้ออสุจิแล้ว และค่อยๆเจริญเติบโตเป็นทารกในครรภ์ หลังการคลอดผนังมดลูกจะกลับคืนสู่สภาพเดิมภายใน 45 วัน

หน้าที่ของมดลูก

• การมีประจำเดือน ที่เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุมดลูก ภายหลังที่ไม่มีไข่มาฝั่งตัว ซึ่งจะมีการฉีกขาดของเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลออก หรือที่เรียกทั่วไปว่า การเป็นประจำเดือน

• การตั้งครรภ์ เป็นที่ฝังของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว และพัฒนาเป็นตัวอ่อนจนกระทั้งเจริญเติบโตเป็นทารก

• การคลอด อันมาจากการครบกำหนดของการเติบโตของทารกในครรภ์ ขณะคลอดผนังมดลูกจะมีการหดตัวเป็นระยะๆ เพื่อให้ทารกคลื่นออกผ่านมาถึงช่องคลอด

3. รังไข่ (Ovary)

รังไข่ เป็นอวัยวะขนาดเล็ก สีขาวมัน มีรูปร่างคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ขนาดเท่าเมล็ดมะปราง มี 2 อัน อยู่บริเวณปีกมดลูกซ้าย-ขวา ทั้งสองข้าง เชื่อมติดกับมดลูกด้วยปีกมดลูกหรือท่อนำไข่

หน้าที่ของรังไข่

• สร้างเซลล์สืบพันธ์ ได้แก่ เซลล์ไข่ (Ovum)

• สร้างฮอร์โมนเพศ ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอร์โรน และแอนโดรเจน แต่ที่สำคัญมากสำหรับเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางอวัยวะสืบพันธุ์ให้เจริญเติบโต รวมถึงพัฒนาลักษณะของเพศหญิงให้เด่นชัดขึ้น เช่น การเกิดเต้านมโต การมีขนที่อวัยวะสืบพันธุ์ และเสียง เป็นต้น

เซลล์ไข่ (Ovum) หรือไข่ของเพศหญิงจะสุก และเคลื่อนออกมาที่ท่อนำไข่ ที่เรียกว่า การตกไข่ เดือนละ 1 ใบ โดยสุกสลับกันจากรังไข่แต่ละข้าง แต่ในบางครั้ง อาจพบการเจริญ และสุกของไข่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง และหากมีการปฏิสนธิพร้อมกันก็จะเกิดเป็นตัวอ่อนทั้ง 2 ฟอง หรือที่เรียกว่า การตั้งครรภ์แฝด

รังไข่จะมีไข่ (Ovum) ที่ยังไม่เจริญเต็มที่หลายพันฟอง เมื่อเด็กเติบโตเข้าอายุ 12 – 13 ปี ไข่จะเริ่มสุก เพราะเกิดการกระตุ้นจากฮอร์โมนของต่อมพิทูอิตารี (Pituitary grand) ไข่ที่สุกแล้วจะตกจากรังไข่เดือนละ 1 ใบ ของแต่ละข้างสลับกัน และจะเคลื่อนเข้าสู่ท่อนำไข่ และหากมีการปฏิสนธิจากตัวอสุจิก็เข้าฝังตัวในเยื่อบุมดลูก ซึ่งขณะที่ไข่เคลื่อนผ่านท่อนำไข่ ต่อมรังไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุมดลูกเพื่อเตรียมการฝังตัวของไข่