หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 

เรื่อง สูงยาว ขาวดี พี่เอง "สารัชเครน"

การเรียนรู้ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6)

นกกระเรียนพันธุ์ไทย


ชื่อภาษาอังกฤษ : Eastern Sarus Crane

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Antigone antigone sharpii

การหายไปของนกกระเรียนพันธุ์ไทย

         “นกกระเรียนพันธุ์ไทย” เป็น 1 ในสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งเคยมีสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2517 และจัดอยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (VU)  ในปี พ.ศ. 2540 สวนสัตว์นครราชสีมาเริ่มขยายพันธุ์แบบธรรมชาติและการผสมเทียมเป็นผลสำเร็จ จากจำนวนเริ่มต้นเพียง 26 ตัว ได้ลูกนกที่เกิดมารวม 100 ตัว และพ.ศ. 2552 จึงได้เริ่มโครงการทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่เพาะพันธุ์ได้คืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ โดยใน พ.ศ. 2554 โดยปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยจำนวน 10 ตัวในบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และที่อ่างเก็บน้ำสนามบิน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ จากนั้นได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 มีการปล่อยนกกระเรียนไทยคืนสู่ธรรมชาติเพิ่มอีก 14 ตัว และเผยว่าพบมีชีวิตรอดขยายพันธุ์อยู่ตามธรรมชาติจำนวนถึง 133 ตัว

ที่มา : https://readthecloud.co/sarus-crane-buriram/  

ลักษณะทั่วไป : เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ ลำตัวและปีกสีเทา คอตอนบนและหัวไม่มีขนแต่มีลักษณะเป็นตุ่มหนังสีส้มหรือสีแดงสด บริเวณกลางกระหม่อมเป็นแผ่นหนังเปลือยสีเทาหรือเขียวอ่อน คอยาว เวลาบินคอและขาจะเยียดตรง ขายาวสีแดงอมชมพู มีแผ่นขนหูสีเทา ม่านตาสีส้มแดง ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย


พฤติกรรม : ดำรงชีวิตอยู่เป็นคู่ บางครั้งพบอยู่รวมกันเป็นฝูง หากินตอนกลางวันอยู่ตามชายน้ำ หนอง บึง ทะเลสาบ ทุ่งนา ทุ่งหญ้าที่มีน้ำขัง หรือทุ่งหญ้าโล่ง


อาหาร : กินพืชเป็นอาหารและสัตว์เป็นอาหาร ได้แก่ ธัญพืช เมล็ดหญ้า ราก และต้นอ่อนของพืช และสัตว์เป็นอาหาร ได้แก่ หนอน แมลง หอย ปู ปลา กบ เขียด สัตว์เลื้อยคลานตัวเล็กๆ เช่น งูน้ำ เป็นต้น


การสืบพันธุ์ : นกกระเรียนพันธุ์ไทยจะผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน แสดงพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีเพศตรงข้ามด้วยการส่งเสียงร้องดังกังวาน และกางปีกชูคอขึ้น แหงนหน้าและกระโดดไปมาคล้ายเต้นรำ เมื่อผสมพันธุ์แล้วทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันสร้างรังบนพื้นดิน ลักษณะรังทำด้วยหญ้าแห้งและใบไม้นำมาสุมรวมกันดูคล้ายกับกระจาดขนาดใหญ่ การวางไข่ในรังอาจมีไข่ประมาณ 1-3 ฟอง ไข่มีลักษณะรี ยาวๆ ขนาดของไข่เฉลี่ยความยาว 104 มม.  ความกว้าง 64 มม. น้ำหนัก 238 กรัม ระยะฟักไข่ประมาณ 31-34 วัน 


ปัจจัยคุกคาม :

1) การใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงในพื้นที่เกษตรกรรม

2) ไข่มักถูกนำไปจากรัง หรือถูกทำลาย โดยสัตว์ชนิดอื่น และมนุษย์

ที่มา : สวนสัตว์นครราชสีมา 

ที่มา : พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 

วีดีโอการเรียนรู้

ใบกิจกรรมการเรียนรู้

ช่องทางส่งใบกิจกรรม

ใบกิจกรรมผ่าน LIVEWORKSHEETS

แบบสอบถามความพึงพอใจ