เนื้อหา

ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ จึงยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น การศึกษาเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์และตีความจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับที่ทำจากหิน โลหะ และโครงกระดูกมนุษย์

ปัจจุบันการกำหนดอายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย อาศัยพัฒนาการทางเทคโนโลยี แบบแผนการดำรงชีพและสังคม ยุคสมัยทางธรณีวิทยา นำมาใช้ร่วมกันในการกำหนดยุคสมัย โดยสามารถแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้ดังนี้

1.1) ยุคหิน เริ่มเมื่อประมาณ 500,000 ถึง 4,000 ปี ล่วงมาแล้ว แบ่งเป็น 3 ยุคย่อย ดังนี้

ยุคหินเก่า (500,000 – 10,000 ปีมาแล้ว ) เป็นช่วงเวลาแรก ๆ ของมนุษยชาติ มนุษย์รู้จักใช้เครื่องมือขวานหินกะเทาะ ในระยะแรก เครื่องมือจะมีลักษณะหยาบ โดยนำหินกรวดแม่น้ำมากะเทาะเพียงด้านเดียวและไม่ได้กะเทาะหมดทั้งก้อน ใช้สำหรับขุดสับและสับตัด มนุษย์

ในยุคหินเก่า ดำรงชีวิตอย่างเร่ร่อน ล่าสัตว์และหาของป่ากินเป็นอาหาร

ยุคหินกลาง (10,000 – 6,000 ปีมาแล้ว) เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์รู้จักทำเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับล่าสัตว์ด้วยหิน ที่มีความประณีตมากขึ้นและมนุษย์ในยุคหินกลางเริ่มรู้จักการอยู่รวมกลุ่ม เป็นสังคมมากขึ้น

ยุคหินใหม่ (6,000 – 4,000 ปีมาแล้ว) เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์รู้จักทำเครื่องมือด้วยหินขัดเป็นมันเรียบ เรียกว่า ขวานหินขัด ใช้สำหรับตัดเฉือนแบบมีดหรือต่อด้ามเพื่อใช้เป็นเครื่องมือขุดหรือถาก มนุษย์ยุคหินใหม่มีความเจริญมากกว่ายุคก่อน ๆ รู้จักตั้งถิ่นฐานเป็น หลักแหล่ง รู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำภาชนะดินเผา


1.2) ยุคโลหะ เป็นช่วงที่มนุษย์มี พัฒนาการด้านการทำเครื่องมือเครื่องใช้ โดยรู้จักการนำแร่ธาตุมาถลุงและหลอมใช้หล่อทำเป็นอาวุธหรือเครื่องมือและ เครื่องประดับต่าง ๆ แบ่งสมัยได้ตามวัตถุของโลหะ คือ

ยุคสำริด (4,000 – 2,500 ปีมาแล้ว) เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์รู้จักใช้โลหะสำริด(ทองแดงผสมดีบุก) ทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่ายุคหิน อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น รู้จักปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์

ยุคเหล็ก (2,500 – 1,500 ปีมาแล้ว) เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์รู้จักนำเหล็กมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งมีคุณภาพดีแข็งแกร่งกว่าสำริด การดำรงชีวิตด้วยการเกษตรกรรม มีการติดต่อค้าขายระหว่างชุมชนต่าง


สมัยประวัติศาสตร์

เป็นยุคสมัย ที่มนุษย์รู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาใช้แล้ว โดยได้มีการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ในยุคสมัยนั้นเป็นลายลักษณ์อักษร มักพบอยู่ตาม ผนังถ้ำ แผ่นดินเหนียว แผ่นหิน ใบลาน และแผ่นโลหะ

ชุมชนของมนุษย์ในภูมิภาคต่างๆ ก้าวเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ในระยะเวลาไม่เท่ากัน เนื่องด้วยความสามารถของมนุษย์ในการสร้างสรรค์อารยธรรมความเจริญที่แตกต่าง กัน ดังนั้น สมัยประวัติศาสตร์ในทางสากล จึงแบ่งเป็น 3 ยุคย่อยๆ ดังนี้


1 ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เริ่ม ตั้งแต่ความเจริญของแหล่งอารยธรรม เมโสโปเตเมีย อารยธรรมอียิปต์โบราณ และอารยธรรมกรีก โรมัน จนกระทั่งสิ้นสุดลงเมื่อกรุงโรม ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิถูกตีแตกโดยพวกอนารยชนในปี พ.ศ.1019

2 ประวัติศาสตร์สมัยกลาง เริ่ม ภายหลังจากที่กรุงโรม (จักรวรรดิโรมันตะวันตก)ถูกพวกอนารยชนตีแตกในปี พ.ศ.1019 จนกระทั่งในปี พ.ศ.1996 สมัยกลางจึงสิ้นสุดลง เมื่อชนชาติเติร์ก ที่นับถือศาสนาอิสลามเข้าโจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล(จักรวรรดิโรมันตะวันออก)

3 ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เริ่มภายหลังจากที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกตีแตก เมื่อ ปี พ.ศ.1996 เป็นต้นมา จนกระทั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2488 มีเหตุการณ์สำคัญในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลายประการ เช่น การปฏิรูปศาสนา การเกิดลัทธิหรือแนวความคิดแบบเสรีนิยม ประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ทางด้านเศรษฐกิจ มีการขยายตัวทางการค้าทางเรือสำเภา การแสวงหาดินแดนใหม่และปฏิวัติอุตสาหกรรม