ประวัติโรงเรียน

                  โรงเรียนชลกันยานุกูล  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ  มีเนื้อที่จำนวนรวม 27 ไร่ 2 งาน 46 ตารางวา  เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  6  มีเขตพื้นที่บริการคือ เทศบาลเมืองชลบุรี  ได้แก่ ตำบลบางปลาสร้อย  ตำบลมะขามหย่ง  ตำบลบ้านโขด  ตำบลบ้านสวน (หมู่ 2, 3, 4, 5, 8)  ตำบลเสม็ด (หมู่ 1, 2, 3)  ตำบลห้วยกะปิ (หมู่ 1, 3) และตำบลหนองข้างคอก (หมู่ 1, 4)

                  โรงเรียนชลกันยานุกูล  ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2458  โดยพระยาปราศรัยสุรเดช ข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรี เปิดการเรียนการสอนเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยย้ายนักเรียนจากโรงเรียนพินิจบูรพากร (วัดต้นสน) และโรงเรียนอุดมพิทยา (วัดกำแพง) มาเรียน โดยมีนายชม ชมสุนทรี  เป็นครูใหญ่คนแรก ใช้ชื่อว่า  “โรงเรียนประจำจังหวัดชลบุรี”  เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่  6  แบบสหศึกษา 

                    ปี พ.ศ. 2474  กระทรวงธรรมการ  มีคำสั่งให้แยกนักเรียนหญิง-ชาย  เป็นคนละโรงเรียน     ทางฝ่ายโรงเรียนหญิงมีนางสาวอุ่นจิต  ติรัตนะ  เป็นครูใหญ่  และสถาปนาเป็นโรงเรียนชลกันยานุกูล  เมื่อวันที่ 10 กันยายน  พ.ศ. 2479  นับตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนถึงปัจจุบัน  โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 1 กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  เป็นนักเรียนหญิงล้วนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  เป็นนักเรียนชายและหญิงรวมกัน    

               ปัจจุบันโรงเรียนชลกันยานุกูล  มีอาคารเรียน  8 หลัง  หอประชุม 1 หลัง อาคารพลศึกษา 1 หลัง  อาคารอเนกประสงค์วิทยาการ 1 หลัง  เรือนเกียรติยศชลกันยา 1 หลัง  เรือนไทยกลางน้ำ 2 หลัง  มีมูลนิธิเพื่อการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 19  มูลนิธิ  และ 3  กองทุน  โรงเรียนดำเนินการจัดการเรียนการสอนเป็นที่ยอมรับของชุมชน  จนได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานขนาดใหญ่พิเศษ  6  ครั้ง  เมื่อปี พ.ศ. 2525, 2532, 2542, 2548, 2552 และ 2556  ได้รับรางวัลเกียรติบัตรทองคำจากการที่เป็นโรงเรียนที่มีระบบการจัดการศึกษามีคุณภาพยอดเยี่ยมจนได้รับรางวัลพระราชทาน 3 ครั้ง ภายใน 10 ปี  ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBECQA)  รุ่นที่ 1  โรงเรียนปฏิรูปการศึกษาดีเด่น  โรงเรียนต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  โรงเรียนจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดดีเด่น  สถานศึกษาสนับสนุนการใช้ภาษาไทยดีเด่น  รางวัลสถานศึกษาที่มีมารยาทไทยดีเด่นระดับจังหวัด  ของสำนักงานวัฒนธรรม  จังหวัดชลบุรี 

สรุปประวัติความเป็นมาของโรงเรียนชลกันยานุกูล  เรียงตามปีพุทธศักราช ดังนี้

ปีพุทธศักราช  2460  พระยาปราศรัยสุรเดช ข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรี เริ่มสร้างโรงเรียนประจำจังหวัดชลบุรีขึ้น  ในปี พ.ศ.2458  จนแล้วเสร็จเป็นทางการในปีพ.ศ.2460  โดยมี                                                     ร.บ.ชม สุนทรี ป.ป. เป็นครูใหญ่คนแรก  ทำพิธีเปิดโรงเรียนประจำจังหวัดชลบุรี (ต่อมาเป็นโรงเรียนอนุบาลแผนก ประถมศึกษาปัจจุบันรื้อเป็นสนาม ) โดยมี                                                         นักเรียนชายและนักเรียนหญิงรวมกัน

ปีพุทธศักราช  2474  แยกนักเรียนชายและนักเรียนหญิงออกเป็นคนละโรงเรียนตามคำสั่งของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) แต่เนื่องจากอาคารสถานที่ไม่เพียง                                                 พอจึงใช้สถานที่ร่วมกัน โดยแยกนักเรียน ชายและนักเรียนหญิงให้อยู่ฝ่ายละครึ่ง ทางฝ่ายนักเรียนหญิงมี  นางสาวอุ่น  ติรัตนะ  เป็นครูใหญ่

ปีพุทธศักราช  2505  ทำพิธีเปิดอาคารเรียน  (อาคาร1 หรือตึกสภาจังหวัดสงเคราะห์) ในบริเวณโรงเรียนที่ตั้งอยู่ปัจจุบัน ซึ่งนายนารถ มนตเสวี ผู้ว่าราชการ จังหวัดชลบุรีในขณะนั้น                                                   เป็นผู้จัดหาให้ และมีนางสาวสุภรณ์ วีรวรรณ เป็นครูใหญ่

ปีพุทธศักราช  2512  เป็นโรงเรียนในโครงการพัฒนาโรงเรียนชนบท  (คมช.) รุ่นที่ 6

ปีพุทธศักราช  2518  เป็นโรงเรียนในโครงการพัฒนาโรงเรียนส่วนภูมิภาค (คมภ.) รุ่นที่ 1

ปีพุทธศักราช  2520  จัดตั้ง "มูลนิธิชลกันยานุกูล" 

ปีพุทธศักราช  2524  จัดตั้ง "สมาคมศิษย์เก่าชลกันยานุกูล"

                                               จัดตั้ง "มูลนิธิคุณแม่พยุง นายแพทย์อำนวย-นางอรุณี ถาวรจิตต์"

ปีพุทธศักราช  2525  จัดตั้ง "สมาคมผู้ปกครอง และครูโรงเรียนชลกันยานุกูล"

ปีพุทธศักราช  2526  ทำพิธีเปิดหอประชุมสุภรณ์ วีรวรรณ

                          จัดตั้ง "มูลนิธิสุภรณ์ วีรวรรณ"

                          จัดตั้ง "มูลนิธิวีระพล" 

ปีพุทธศักราช  2528  จัดตั้ง "มูลนิธิเนื่อง-วิชัย อูนากูล" 

ปีพุทธศักราช  2531  จัดตั้ง "มูลนิธินายแพทย์สุกรี นางทำเนียบ สืบสงวน นางบุษกร สิงคาลวณิช"

                           จัดตั้ง "มูลนิธินายสมหวัง นางโกสุมภ์ จูตะกานนท์

ปีพุทธศักราช  2534  จัดตั้งกองทุน "มัทนา-ประเวศร์ โมนยะกุล"

ปีพุทธศักราช  2536  จัดตั้ง "มูลนิธินายล้วน นางเก็บ ถนอมสัตย์"

                           จัดตั้ง "มูลนิธิคุณแม่เซียะติว-นายสมภพ นางเง็กเฮียง ลีอุดมวงษ์

ปีพุทธศักราช  2540  จัดตั้ง "มูลนิธิเสงี่ยมพรพาณิชย์" 

                                                จัดตั้ง "มูลนิธินางบุษกร สิงคาลวนิช" 

                                                จัดตั้ง "มูลนิธินายแพทย์อำนวย นางอรุณี ถาวรจิตต์ กองทุนพัฒนาบุคลากร"

                                                จัดตั้ง "สอุน มารีพิทักษ์" กองทุน "ดร.ประโยชน์ นางรำแพน เนื่องจำนงค์"

 ปีพุทธศักราช  2541  ดำเนินการก่อตั้ง "มูลนิธินายแพทย์อำนวย - นางอรุณี ถาวรจิตต์"

ปีพุทธศักราช  2542  ดำเนินการก่อตั้ง "มูลนิธินายแพทย์สุชาติ - นางรื่นฤดี นิมมานนิตย์" 

                                               ดำเนินการก่อตั้ง "มูลนิธินายจิตติ - นางอาลัย พงศ์ไพโรจน์"

                                               ดำเนินการก่อตั้ง "มูลนิธินายมงคล - นางกันทิมา วิรัชศิลป์"

                                               ดำเนินการก่อตั้ง "มูลนิธิคุณแม่ธิวาพร สายพรชัย"

                                              ได้รับรางวัลพระราชทาน ประเภทโรงเรียนขนาดใหญ่ 

ปีพุทธศักราช  2543  ดำเนินการก่อตั้ง "มูลนิธินายทวี - นางประณอม ทิพย์สมุทรนาวิน" 

                                               ดำเนินการก่อตั้ง "มูลนิธิคุณแม่ลำใย บุญทวี"

                                               ดำเนินการก่อตั้ง "มูลนิธิคุณพ่อจิรัตถ์ สายสุพัฒน์ผล และนางทิพวรรณ เตพละกุล" 

                                              ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการพัฒนาคุณภาพการมัธยมศึกษา รุ่นที่ 1  กรมสามัญศึกษา (เงินกู้ธนาคารโลก) 

                                              ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา 

ปีพุทธศักราช  2544  ได้รับเป็นโรงนำร่องการประกันคุณภาพทางการศึกษา

                                                 ทำพิธีเปิดอาคารบุญส่ง โรจนัย (อาคาร7) และสร้างทางเชื่อมอาคาร 1-7 

ปีพุทธศักราช  2545  เปิดสอนตามโครงการเตรียมความพร้อมภาคภาษาอังกฤษ English Program

ปีพุทธศักราช  2547  สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนชลกันยานุกูล นำรายได้สมทบสร้างบ้านพักนักการภารโรง

ปีพุทธศักราช  2548  พิธีเปิดธนาคารออมสินโรงเรียนชลกันยานุกูล 

                          โดย นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธาน

ปีพุทธศักราช  2550  เปิดสอนห้องเรียนพิเศษส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Gifted)

ปีพุทธศักราช  2551  ประกอบพิธีย้ายศาลพระภูมิจากริมสระน้ำ  มาอยู่บริเวณประตูด้านข้างหอพระโรงเรียน

ปีพุทธศักราช  2552  พิธีเปิดห้องสมุดศรีวรรณา เขียวลี 

                           ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบมาตรฐานสู่สากล

ปีพุทธศักราช  2555  สร้างอาคารอเนกประสงค์วิทยาการ

ปีพุทธศักราช  2559  สร้างอาคารเรียนนานาชาติ