หออะม๊อก

"หออะม็อก" เป็น (พม่า) แปลว่า "หอปืน" เป็นป้อมปืนใหญ่โบราณ ตั้งอยู่บนถนนศรีเกิด บ้านศรีเกิด (ชุมชนศรีเกิด) ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง นครลำปาง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2351 ในรัชสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 3 แห่งทิพย์จักรวงศ์สัตตราชา เจื้อเจ้าอันเป็นเค้าอยู่หนเหนือ ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนนครลำปาง สกุลปงยางคก-ป่าหนาดคำ (บ้านเอื้อม) (ทรงครองนครตั้งแต่ปี พ.ศ. 2337 - 2367 รวมเวลา 31 ปี) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงเป็นราชบุตรของเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ราชธานี ผู้ราชบุตรองค์ที่ 3 ของ "พ่อเจ้าทิพย์ช้าง" พญาสุลวะฤๅชัยสงคราม ปฐมกษัตริย์แห่งทิพย์จักรวงศ์ ต้นราชสกุล ณ ลำปาง ณ ลำพูน ณ เชียงใหม่ เชื้อเจ้าเจ็ดตน แห่งเชียงรายและเชียงแสน เจ้าผู้ครองนคร หัวเมืองฝ่ายเหนือแห่งราชอาณาจักรล้านนา

พระเจ้าหอคำดวงทิพย์ได้รับพระราชทาน สุพรรณบัฏเป็นเจ้าประเทศราช มีฐานะเทียบเท่า กษัตริย์เป็นใหญ่แก่ลานนาทั้งมวล พระเดชรนุภาพ กว้างไกลถึงแคว้นเชียงตุง "หออะม็อก" เป็นอาคารขนาดใหญ่ รูปแปดเหลี่ยมเกือกม้าวงรี ก่อด้วยอิฐสอดินดิบ เป็นป้อมปืนใหญ่ ป้องกันข้าศึกศัตรู และเป็นหอสังเกตการณ์ ตรวจความเรียบร้อยทั้งโดยรอบบริเวณ และภายในกำแพงนคร พื้นที่ภายในป้อมกว้างประมาณ 13 เมตร ยาวประมาณ 17 เมตร สูงประมาณ 10.25 เมตร ฐานของกำแพงจะลดหลั่นขึ้นไปเป็นตอนๆ ยอดกำแพงป้อมหน้าประมาณ 1.50 เมตร ส่วนยอดสุดของกำแพงป้อมเป็นรูปใบเสมา กว้าง 1.50 เมตร หนา 1 เมตร มีช่องทางเข้า-ออก ด้านตะวันตกด้านเดียว ซึ่งเป็นด้านในของ กำแพงเวียง ด้านซ้าย-ขวาของช่องทางนี้ เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ 2 กระบอก ดูน่าเกรงขาม (โดยอาจารย์สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย นำมาติดตั้งภายหลัง) ภายในป้อมป้อมปืนเป็นนั่งร้านไม้ 3 ชั้น ชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3 เป็นนั่งร้านไม้มีช่องสำหรับลำเลียงกระสุนปืนใหญ่ดินปืนอยู่ตรงกลางนั่งร้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ จากช่องสามเหลี่ยมรอบๆ ป้อมปืน หันปากกระบอกปืนไปด้านนอกป้อมปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยของโครงสร้างนั่งร้านไม้บางส่วนที่เหลือจากการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลากว่า 200 ปี