ที่ทำการหนังสือพิมพ์เอกราช

หนึ่งในสถานที่ที่มีเรื่องราวควรที่คนในชุมชนและคนลำปาง ควรรับรู้ด้วยความภาคภูมิใจ บ้านของแม่เล็ก พิชญกุล กลิ่นทอง หญิงเหล็กแห่งเมืองลำปาง เจ้าของหนังสือพิมพ์เอกราช นสพ. ท้องถิ่นลำปางฉบับแรกและเก่าแก่ที่สุด ที่สามารถดำรงอยู่ได้เป็นเวลานานกว่า 57 ปี

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้ก่อตั้งและวางจำหน่ายฉบับแรก เมื่อวันที่ 24มิถุนายน พ.ศ. 2500 ที่สามารถดำรงอยู่ได้เป็นเวลานานกว่า 57 ปี มีปรัชญาประจำว่า“ปชาสุขํ มหุตตมํ”แปลว่า ความสุขของปวงชนเป็นใหญ่ พิมพ์ออกจำหน่ายทุกๆ 5 วัน ตามใบตรวจลอตเตอรี่ ดังนั้นค่ำคืนวันหวยออก จะได้ยินเสียงเด็กร้องขายหนังสือพิมพ์ นับว่าเป็นการสร้างรายได้สำหรับเด็กผู้ชายของชุมชนศรีเกิด และได้ออกบ้านตอนกลางคืนที่พ่อแม่ไม่ว่า นอกจากนี้ยังแพร่หลายไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พะเยาแพร่ น่าน ลำ พูน ฯลฯ ได้อาศัยฝากไปกับรถโดยสารประจำทางสายต่างๆ ที่มาลำปาง


กิจการของหนังสือพิมพ์ มีนายปราโมทย์ ศิริธร เป็นบรรณาธิการควบคุมการผลิตทั้งหมด มีนักเขียนนักหนังสือพิมพ์มาร่วมงานมากมาย มีนักเขียน ที่กล้าต่อสู้กับอำนาจเผด็จการได้มาเขียนมาพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เอกราชอยู่เนือง ๆ จนทำให้นักเขียนเหล่านั้นมีประชาชนรู้จักชื่อเสียงในฐานะนักข่าวจนบางคนได้เป็น ส.ส. ก้าวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เช่น จังหวัดเชียงราย จ่าสิบเอกทรงธรรม ปัญญาดี นายอินทร์หล่อ สรรพศรี นายวรวิทย์ คำเงิน จังหวัดพะเยา ส.ต.อ. สงคราม เทียมดาว จังหวัดแพร่ นายสิงโต จันทร์มณี จังหวัดน่าน นายประพันธ์ พิชา จังหวัดเชียงใหม่ นายส่งสุข ภัครเกษม และนางผนินทรา ภัครเกษม จึงนับว่า ผู้คนในชนบท ยังมีโอกาสที่จะให้ตัวแทนของตนได้ใช้ หนังสือพิมพ์เอกราชเป็นเวทีแสดงความเห็นต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารจนสามารถปั้นนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายๆคนได้เข้าสภาผู้แทนราษฎรไปได้อย่างสวยงาม


ตั้งแต่ พ.ศ.2535-2543 หนังสือพิมพ์เอกราชต้องต่อสู้กับสภาพความเปลี่ยนทางทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของลำปางมาตลอดเวลา พร้อมกับมีหนังสือพิมพ์น้องใหม่เกิดขึ้นหลายฉบับ ทำให้หนังสือพิมพ์เอกราชต้องปรับปรุงราคา จำหน่ายทุกสัปดาห์ราคาฉบับละ 5 บาท

หลังจากแม่เล็ก ถึงแก่กรรม เมื่อ 18 กันยายน 2543 บุตรชายคือนายอัครินทร์ พิชยกุล มาเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาแทน มีนายไชยันต์เปรมทอง เป็นบรรณาธิการบริหาร พิมพ์ครั้งละ 1,000 ฉบับ จำหน่ายฉบับละ10บาท และปิดตัวลงในที่สุด

บ้านเลขที่ 39 แห่งนี้ จึงเป็นตำนานบทหนึ่งของชุมชนศรีเกิด ที่ควรแก่การจดจำ