ก้ำ จิตรกรไร้นิ้วแห่งเมืองรถม้า

ใครจะคิดว่า คนของชุมชนศรีเกิดในอดีตเป็นคนดัง ได้ออกรายการโทรทัศน์ที่ดังที่สุด มารู้จักเรื่องราวดี ๆ ของคนในอดีต กันเถอะ

ก้ำ วงศ์มหา เป็นผู้ที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าคนพิการ แต่พ่อแม่ก็เลี้ยงดูก้ำไม่เคยรังเกียจหรืออับอายขณะที่พี่สาวสองคนแรกที่เกิดก่อนร่างกายสมบูรณ์แต่ไม่แข็งแรงและจบชีวิตตั้งแต่วัยเด็กก้ำยกมือสาธุเมื่อเล่าเรื่องเก่าแต่หนหลังผ่านที่ดินที่เป็นที่ตั้งบ้านเก่าที่ก้ำเคยอยู่กับพี่สาวทั้งสองแม้จะไม่หลงเหลือแต่ความทรงจำของก้ำยังไม่ลืมเลือน

ก้ำเป็นลูกคนที่3ในบรรดาพี่น้อง13 คนพ่อเป็นช่างไม้จน ๆ มากัน 2 คนพี่น้องกับลุงจากบ้านนาคตอำเภอแม่ทะเพื่อมาหากินในเมืองจนมามีครอบครัว นอกจากยึดอาชีพเป็นช่างไม้แล้วพ่อยังเป่าขลุ่ยและตีระนาดเก่งอยู่วงเครื่องสายของเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของนครลำปาง นามสกุลของก้ำเจ้าหลวงก็ประทานให้ “เจ้าหลวงบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ ของก้ำเป็นวงศ์มหา” ก้ำเล่าด้วยความปลาบปลื้ม“

แม่ก้ำเป็นคนบ้านศรีเกิด อยู่หลังวัดเดี่ยวนี้เรียกตรอกศรีนวลชื่อเมียเจ้าหลวงบ้านเก๊า(บ้านต้นตระกูล)ของแม่ก็ยังอยู่เมื่อก่อนเป็นเรือนไม้สองหลังเดี๋ยวนี้ทำเป็นหลังเดียวก้ำก็เคยอยู่ที่นั่นแต่พ่อแม่ปลูกเป็นกระต็อบอยู่” ก้ำเกิดและเติบโตเรียนรู้ทุกๆ อย่างในชีวิตที่ตรอกศรีนวล “มองไปจะเห็นคุ้มเจ้าหลวงบุญวาทย์ฯบ้านไม้ 2 ชั้นหลังใหญ่กลางวันมคนเดินเข้าออกขวักไขว่ผู้ชายนุ่งผ้าโจงกระเบนผู้หญิงนุ่งซิ่นแต่กลางคืนจะเงียบวังเวงบริเวณตรอกศรีนวลเป็นที่เล่าลือกันว่าผีดุมีต้น ขามใหญ่กอไผ่ใหญ่ผีทักจับไข้กันหลายรายกลางคืนจึงไม่ค่อยมีใครกล้าเดินลัดทางบ้านเรือนมีไม่กี่หลังมีหลุมหลบภัยเวลาได้ยินเสียงหวอช่วงสงครามโลกครั้งที่2มีคอกควายเช้าๆควายจะถูกต้อนออกจากคอกเดินย่ำไปตามทางที่เป็นดินโคลนเย็นก็จะกลับมาเข้าคอก”

บ้านของก้ำหลังแรกคือบ้านติดคุ้มพี่สาวของก้ำสองคนเกิดและเสียชีวิตที่นั่นตมาหน่อยพ่อแม่พาย้ายไปเช่าห้องแถวไม้ข้างวัดหมื่นกาด ริมแม่น้ำวังซึ่งอยู่บริเวณใกล้ๆกันเมื่อแม่ไปทำงานเป็นนักการภารโรงที่โรงเรียนประถมศึกษาที่เจ้าหลวงบุญวาทย์ฯสร้างขึ้นสำหรับลูกหลานคนลำปางแล้วกลับมาอยู่หลังวัดศรีเกิดอีกครั้ง คราวนี้เป็นกระต็อบไม้ไผ่ปลูกบนที่ดินของบ้านเก๊า(ต้นตระกูล) ของแม่นับได้ว่าก้ำเกิดและเติบโตอยู่กลางเวียงอย่างแท้จริง

ชีวิตต้องสู้ของก้ำเริ่มตั้งแต่วัยเด็กด้วยสภาพร่างกายที่พิการก้ำฝึกหัดใช้สองมือประคองดินสอหัดเขียนหนังสือด้วยความยากลำบากด้วยกำลังใจและความรักจากแม่ลายมือของก้ำใครเห็นก็ชมก้ำเรียนด้วยความอุตสาหะครูไม่ให้เลื่อนชั้นเพราะอ่านหนังสือไม่ชัดแต่ลายมือสวยกว่าจะจบประถมศึกษาภาคบังคับก้ำก็อายุมากกว่าเพื่อนเมื่อจบประถมศึกษาภาคบังคับเด็กส่วนใหญ่ในสมัยนั้นรวมทั้งน้องชาย2คนที่เหลืออยู่ของก้ำจะหยุดการศึกษาไว้เพียงนั้นแต่ก้ำสอบเข้าเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัดก้ำสอบได้แต่ทางโรงเรียนไม่รับเพราะเห็นว่าพิการโชคชะตาให้ก้ำเจอครูที่มีเมตตาช่วยต่อสู้อ้างถึงสิทธิที่ก้ำพึงได้เพราะก้ำสอบเข้าได้เองพูดจาให้กับทางโรงเรียนจนในที่สุดก้ำได้เรียนต่อจนจบระดับมัธยมศึกษา

วัยเด็กของก้ำ ก้ำจะสนุกสนานนอกบ้านที่บริเวณหลังวัดศรีเกิด เรียนรู้และเล่นทุกอย่างที่เด็กผู้ชายในสมัยนั้นทำกัน ก้ำทำได้หมดและบางครั้งแกร่งเกินเด็กปกติ ไม่ว่าจะไปเล่นน้ำแม่วังก้ำก็ดำน้ำได้อึดกว่า ขี่จักรยานที่เป็นเรื่องปกติของคนธรรมดาก้ำก็ใช้ความพยายามมากกว่าและขี่ได้ในที่สุด การยิงนกก็เป็นสิ่งที่ชื่นชอบด้วยการใช้ปากคาบด้าม สองมือจับสายหนังสติ๊กที่มีลูกกระสุนดิน เกมส์ที่นิยมของเด็กผู้ชายอีกอย่างคือโยนสตาค์แดงเข้าหลุม จัดเป็นเกมส์การพนันเกมส์แรก หลังจากนั้นไม่ว่าไพ่ ไฮโล ก้ำจะเล่นเป็นหมดและใจใหญ่ถึงกับเป็นเจ้ามือ ผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของก้ำจึงมีหลากหลาย

ด้วยสภาพครอบครัวที่ยากจนแม่ของก้ำนอกจากเป็นนักการภารโรงแล้วเวลาว่างที่เหลือยังรับจ้างหาบน้ำไปส่งตามบ้านต่างๆในละแวกนั้นขณะที่พ่อก็ทำงานช่างไม้ประกอบกับก้ำมีเพื่อนฝูงหลากหลายชีวิตการศึกษาของก้ำเริ่มกระท่อนกระแท่นก้ำต้องหาเงินเรียนด้วยตนเองด้วยการรับจ้างเลี้ยงชีวิตทั้งที่สุจริตและไม่สุจริต ภาพที่คนเห็นคือรับจ้างล้างชามร้านก๋วยเตี๋ยว ขัดสีเสียด (คนชราใช้กินกับหมาก) อีกมุมมืดของชีวิตที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นคือการคุ้มกันฝิ่นโดยต้องไปอยู่บนม่อนพระยาแช่เป็นเดือนๆเดินเท้าข้ามยอดเขาที่นั่นก้ำได้เรียนรู้ชีวิตที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลกก้ำเรียนขับรถจากกะเหรี่ยงเรียนการใช้อาวุธก้ำใช้ชีวิตเยี่ยงทหารพรานแต่ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่มีทั้งที่พ่ายแพ้และได้รับชัยชนะก้ำเคยฆ่าคนด้วยการยิงที่ใบหน้าเพราะถือคติที่ว่าเราไม่ฆ่าเขาเขาต้องฆ่าเราและรับจ้างขนฝิ่นโดยผูกติดกับตัวแขนขานั่งรถไฟไปก็มีแม้ถูกตำรวจจับได้ความเป็นผู้พิการทำให้ก้ำรอดปลอดภัยมาได้และความเป็นผู้พิการที่ไม่เหมือนใครดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงจำก้ำได้ก้ำทำในสิ่งที่ไม่คาดคิดในช่วงวัยรุ่นด้วยความคะนองหรือเพื่อลบปมความพิการแม้แต่ก้ำเองยังไม่สามารถตอบได้แต่ทั้งหมดสร้างความแกร่งให้ชีวิตของก้ำ

ล้างจาน

สีเสียด

ม่อนพระยาแช่

คุ้มกันฝิ่น

เรียนหนังสือด้วยความยากลำบากพร้อมกับการเรียนรู้ชีวิตในมุมมืดกว่าจะจบออกมาหางานทำ ก้ำได้ทำงานที่โรงภาพยนตร์ทำงานตั้งแต่กวาดพื้นถูพื้นล้างห้องน้ำผู้ช่วยเขียนป้าย รวมไปถึงพากย์หนังจนวันหนึ่งคนเขียนป้ายไม่มาโปรแกรมหนังที่ต้องเอาไปติดที่ต่างๆ ไม่พอ เจ้าของหนังจึงให้ก้ำลองเขียนดูในตอนนั้นก้ำนั่งร้องไห้เลยทีเดียวถึงจะมีความรู้มานิดหน่อยแต่ต้องเขียนให้ตรงตามเส้นที่คนเขียนป้ายตัวจริงเขียนไว้การทำงานโรงหนังที่เจ้าของโรงเป็นคนจีนและด้วยความชอบเรียนรู้ไม่นานก้ำสามารถพูดภาษาจีนได้อีกหนึ่งภาษาและรู้จักผู้คนเพิ่มมากขึ้นก้ำทำงานอยู่โรงภาพยนตร์จากโรงที่หนึ่งพอกิจการไม่ดีก็ย้ายโรงไปเรื่อย ๆ กล่าวได้ว่าโรงภาพยนตร์ทุกโรงในจังหวัดลำปางก้ำผ่านมาแล้วทั้งสิ้นจนมาถึงช่วงความซบเซาของโรงภาพยนตร์มาเยือนเมื่อมีสถานีโทรทัศน์งานของก้ำเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์จึงต้องอำลาแต่งานเขียนป้ายโฆษณาของก้ำไม่จบก้ำออกมาทำงานที่บ้านโดยรับเขียนป้ายทั่วไป

ด้วยฝีมือ พรสวรรค์และความสงสาร จากปากต่อปาก จึงมีคนมาให้เขียนป้ายตลอดเวลา บางคนมาพิสูจน์ดูว่าก้ำจะเขียนได้ตามคำที่บอกเล่าหรือเปล่า ก้ำเขียนป้ายติดหน้ารถสองแถว รถสิบล้อ ป้ายโฆษณา หรือแม้แต่ป้ายชื่อโลงศพ ทุกอย่างตามที่มีคนจ้าง ก้ำได้รับฉายาว่าจิตรกรไร้นิ้ว ก้ำไม่เคยไปรบกวนเงินจากใครเลย ก้ำสามารถสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ บ้านหลังแรกที่เป็นของครอบครัวก้ำ แม้จะตั้งอยู่บนที่ดินเช่าของราชพัสดุ ที่มีเศษซากอิฐกำแพงเมืองเก่า บริเวณที่เป็นป่าขี้ของชาวบ้าน ก้ำกับน้องชายทั้ง 2 คน ซึ่งทำงานช่าง ช่วยกันก่อสร้างโดยก้ำเป็นแรงเงิน น้องชายก้ำเป็นแรงงาน ก้ำ พ่อ-แม่ น้องชาย ครอบครัวของน้องชายทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมีหลานให้ก้ำพ่อ-แม่ ได้ชื่นใจ ก้ำใช้ชีวิตอยู่อย่างคนมีความสุข เงินทอง เพื่อนฝูง และที่ขาดไม่ได้คือการสรวลเสเฮฮา โดยมีเหล้าเบียร์ เป็นตัวชูโรง เสียงบ่นจากเพื่อนบ้านใกล้เคียงมักแว่วมากระทบแต่ก้ำไม่สนใจและไม่ใส่ใจ ด้วยทุกอย่างในบ้านคือน้ำพักน้ำแรงของก้ำทั้งสิ้น บ้านหลังเล็ก ๆ หนึ่งหลังพร้อมทั้งเงินค่าใช้จ่ายเลี้ยงพ่อแม่และบรรดาพี่น้องที่เหลืออยู่ บนที่ดินของคนทุกข์คนยาก

ก้ำทำในสิ่งที่คนปกติไม่กล้าทำกัน ก้ำแปรเปลี่ยนความเศร้าจากความตายของแม่มาเป็นพลังด้วยการขี่จักรยานจากลำปางไปถึงกรุงเทพ แวะไปหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รวมถึงได้ออกทีวีช่อง 5 รายการดังในสมัยนั้น คือรายการป้อบทอพ ของผู้การการุณ เก่งระดมยิง ทำไมก้ำถึงทำเพราะก้ำอยากให้คนรู้ว่าถึงก้ำจะพิการแต่ก้ำสามารถทำได้มากกว่าคนปกติ มีคนลำปางชอบส่งเรื่องของก้ำไปให้หนังสือและรายการต่าง ๆ มีมาทำสารคดีชีวิต ก้ำได้เงินบ้างไม่ได้เงินบ้าง แต่เพื่อนบางคนของก้ำบอกว่าก้ำทำเองเพราะอยากดัง

พรสวรรค์ในการเขียนตัวหนังสือและพรแสวงที่แสดงธาตุความทรหดให้ประจักษ์ ก้ำทำได้ในสิ่งที่คนปกติทำได้ ก้ำสามารถขี่รถจักรยาน จักรยานยนต์ ขับรถยนต์ ก้ำชอบบันทึกเรื่องราวด้วยภาพ ภาพถ่ายของก้ำทำให้ย้อนภาพของเมืองลำปางในอดีต ไม่ว่าจะเป็นพิธีฟ้อนผีที่หอออม็อกซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหมอกมุงเมือง ทหารกล้าเมืองลำปาง ซึ่งเป็นพิธีกรรมการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่เรียกกันว่าผีบ้านผีเมืองให้ลงมาร่วมสนุกสนานและปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยให้ลูกหลานประจำปี ที่ก้ำเห็นมาแต่เล็กแต่น้อย ชีวิตชีวาของการอบรมลูกเสือชาวบ้านที่ก้ำได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งสะท้อนความรักชาติ ความสมานสามัคคีและและความสนุกสนานของคนไทย ก้ำแม้พิการแต่ก้ำสมัครเป็นอาสาสมัครชุมชนคอยอยู่เวรยามในยามกลางคืนร่วมกับตำรวจ

ภาพของก้ำที่เจนตาคน จากอดีต คือ สองมือประคองพู่กันทาสี ยืนต่อเก้าอี้เขียนป้ายหน้ารถ ป้ายคัทเอ้าท์หน้าโรงหนัง ชายพิการหน้าเล็ก ๆ ตัวเล็กเหมือนเด็ก สวมหมวกแก็ป ใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้นยาวเสมอเข่า สวมร้องเท้าบู๊ตพลาสติก ใช้ส่วนที่ควรจะเป็นมือแตะที่แฮนด์จักรยาน ขี่รถจักรยานสองล้อคันเล็กของเด็กอย่างคล่องแคล่ว เวลาไปไหนมาไหน เขยิบมาเป็นรถ มอเตอร์ไซค์ รถปิ๊กอัพ จากชีวิตที่รุ่งเรืองหลังการสิ้นสุดของโรงภาพยนตร์ ชะตาชีวิตพลิกผันอีกครั้ง ก้ำเริ่มสูงอายุ ขณะที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในช่วงหลัง งานเขียนของก้ำลดลง เพราะคนสมัยใหม่ต้องการความรวดเร็ว สุขภาพของก้ำแย่ลง ก้ำเริ่มเจ็บป่วยตามประสาผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปัญหาไส้เลื่อนต้องเข้ารับการผ่าตัด งานก็ไม่มี ก้ำคิดจะฆ่าตัวตาย ใช้ผ้าขาวม้าจะมัดกับขื่อและมัดคอตนเอง ตั้งใจจะตายไปจากโลกนี้ แต่เหมือนมีเหตุ หมาที่บ้านของก้ำซึ่งแสนดุในสายตาชาวบ้านกลับมาเลียแข้งเลียขาก้ำ ก้ำจึงรู้สึกตัวและจากนั้นก้ำไม่เคยคิดฆ่าตัวตายอีกเลย

ภาพของก้ำยามสูงอายุ ในวัย 75 ปี นาน ๆ ครั้ง คนในชุมชนศรีเกิดจะเห็นก้ำค่อย ๆ เดินออกจากบ้าน มาแวะที่ร้านขายของชำ เพื่อซื้อขนมเปี๊ยะ หรือดูหนังสือพิมพ์

ก้ำได้รับเงินยังชีพผู้พิการ ตอนก้ำแข็งแรงอยู่ก้ำจะนั่งรถสามล้อไปรับเอง ต่อมานั่งซ้อนรถจักรยานของหลานชายคนแรกไปรับ สมาชิกในบ้านก้ำตอนนี้เหลืออยู่ 5 คน หัวหน้าครอบครัวยังเป็นก้ำอยู่ แม้แต่ค่าเช่าที่ดินรายปี แม้เงินค่าเช่าจะไม่มาก ครอบครัวของหลานชายแม้จะอยู่บ้านเดียวกันแต่ก็เหมือนต่างคนต่างอยู่ ด้วยเหตุผลของหลานชายของก้ำว่าไม่สะดวกเพราะก้ำเป็นผู้ชาย ก้ำจึงผูกพันอยู่แต่กับหลานกำพร้าพ่อแม่ที่แม้จะเติบใหญ่แต่ยังเลี้ยงตัวไม่ได้ หลานชายคนนี้ของก้ำเคยทำงานแต่อยู่ไหนไม่ทน ใครว่ากระทบไม่ได้ ก้ำเป็นห่วงมาก ทุกวันก็ได้กินกับหลานคนนี้โดยก้ำเป็นคนจ่าย

เมื่ออายุ 75 ปี ก้ำบอกเล่าว่าดีใจที่ ยังมีชีวิตอยู่ได้ ยังมีงานทำ เพื่อนฝูงก้ำตอนนี้เป็นใหญ่เป็นโตกัน ที่ยังมีชีวิตอยู่ส่วนใหญ่จะแวะมาเที่ยวหาและเอารถมารับไปเที่ยวบ้าน มีการรวมรุ่นสังสรรค์ สุขภาพก้ำมีหลายโรคทั้งหัวใจตีบ ความดัน เบาหวาน ได้หลานชาย 2 คน ที่เป็นผลผลิตของน้องชายทั้งสองคอยดูแล คนหนึ่งพาซ้อนรถจักรยานยนต์ไปโรงพยาบาลตามที่หมอนัด และพาไปรับเงินคนพิการ อีกคนหนึ่งที่ช้า ๆ ซึม ๆเหมือนป่วยเป็นโรคจิต ช่วยดูแลกิจวัตรประจำวัน ซื้อหากับข้าวกับปลา ปูที่หลับปัดที่นอน กิจวัตรประจำวัน ก้ำเข้าร่วมกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ แต่ตอนนี้ไปไม่ไหวเดินเริ่มเซ เพื่อนสนิทชวนให้ก้ำเข้าวัดเข้าวา แต่ก้ำกลับนึกถึงธรรมชาติในป่าที่ก้ำเคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่ง ก้ำยังหูตาดี แต่หลงลืมบางอย่างเช่น ชื่อคน งานเขียนตัวหนังสือของก้ำยังมีอยู่บ้าง ก้ำทำเพื่อยังชีพและเลี้ยงหลานชายแต่ก้ำทำคนเดียวไม่ได้มือก้ำสั่น ก้มลงไม่ไหว ก้ำอยากเป็นเจ้าของกิจการร้านหนังสือเพราะก้ำชอบชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับป่าอย่างเรื่องล่องไพร เพชรพระอุมา ที่หลานชายจะไปยืมจากห้องสมุดประชาชนมาให้ ถ้าก้ำตายก้ำอยากตั้งศพไว้ที่บ้านเหมือนกับที่ก้ำตั้งศพพ่อและแม่ไว้ที่บ้าน บ้านแห่งความภาคภูมิใจของก้ำ และขอให้เผาศพที่สุสานไตรลักษณ์ จะได้อยู่ใกล้กับหลวงพ่อเกษมเขมโก พระเกจิอาจารย์ที่สิ้นบุญไปแล้วที่ก้ำนับถือ

ก้ำเสียชีวิตในเวลาต่อมา ลูกหลานตั้งศพไว้ที่วัดเชตวัน และเผาศพที่สุสานไตรลักษณ์ เหลือเพียงผลงานจากปลายพู่กัน ป้ายเจ้าพ่อหมอกมุงเมือง ของชุมชนศรีเกิด เป็นอันจบชีวิตของก้ำ จิตรกรไร้นิ้ว เป็นชีวิตชาวบ้านยากจนธรรมดา ที่ชะตาฟ้าลิขิตให้เป็นผู้พิการที่เป็นผู้ให้มาโดยตลอด