แผนการจัดการเรียนการสอน

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 9

วิชาโลกดาราศาสตร์และอวกาศ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา เวลา 9 ชั่วโมง

เรื่อง ภูเขาไฟ เวลา 2 ชั่วโมง

มาตรฐานการเรียนรู้ / ตัวชี้วัด

     มาตรฐานที่ 6.1 เข้าใจกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกและภายในโลก ความสัมพันธ์ของกระบวนการต่างๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และสัณฐานของโลกมีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์

ตัวชี้วัด ว.3 ทดลองเลียนแบบและอธิบายกระบวนการเกิดภูเขา รอยเลื่อน รอยคดโค้ง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด

สาระสำคัญ

       ภูเขาไฟเป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ของเปลือกโลกการระเบิดของภูเขาไฟเกิดจากการปะทุของแมกมา แก๊ส และเถ้าจากใต้เปลือกโลก เมื่อเกิดการระเบิด แมกมาเศษหิน ฝุ่นละออง และเถ้าถ่านของภูเขาไฟจะพ่นออกมาทางปล่องของภูเขาไฟหรือออกมาทางช่องด้านข้างของภูเขาไฟ หรือจากรอยแตกแยกของภูเขาไฟ

จุดประสงค์การเรียนรู้

ด้านความรู้

1. อธิบายกระบวนการเกิดและลักษณะทั่วไปของภูเขาไฟได้

2. สำรวจและบอกลักษณะของหินภูเขาไฟจากตัวอย่างหินที่นำมาทดสอบได้

3. อธิบายแหล่งภูเขาไฟและลักษณะของหินภูเขาไฟที่พบในประเทศไทยได้

ด้านทักษะ/กระบวนการ

1. สืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูล

2. มีทักษะการสรุปและลงความเห็น

คุณลักษณะอันพึงประสงค์

1. ใฝ่เรียนรู้

2. มุ่งมั่นในการทำงาน

สมรรถนะสำคัญ

1. ความสามารถในการสื่อสาร

2. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

สาระการเรียนรู้

ภูเขาไฟและกระบวนการเกิดภูเขาไฟกระบวนการจัดการเรียนรู้จัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

ชั่วโมงที่ 1

1. ขั้นสร้างความสนใจ

(1) นำเข้าสู่บทเรียน ทบทวนและประเมินความรู้เดิม เพื่อเชื่อมโยงสู่ความรู้ใหม่เรื่องภูเขาไฟ

(2) แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้

(3) กระตุ้นความสนใจให้นักเรียนดูวีดีทัศน์เกี่ยวกับภูเขาไฟ (5นาที)

(4) กำหนดประเด็นคำถามประกอบให้นักเรียนช่วยกันตอบ เช่น ภูเขาไฟมีลักษณะพิเศษอย่างไร (สามารถพ่นสารละลายและเถ้าร้อนตลอดจนเศษหินจากภายในโลกออกสู่พื้นผิวโลกได้) สิ่งที่ถูกพ่นออกมาจากการปะทุของภูเขาไฟมีอะไรบ้าง (ลาวา แก๊ส เถ้าถ่าน) การปะทุของภูเขาไฟมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อมในลักษณะใด

(การเดินทางขนส่งสิ่งก่อสร้างเสียหาย ถ้าอยู่ในพื้นที่ภูเขาไฟผู้คนไม่ได้เตรียมตัวอาจบาดเจ็บล้มตาย)

(5) นักเรียนช่วยกันตอบคำถามและแสดงความคิดเห็นโดยยังไม่เน้นคำตอบที่ถูกต้องมากนัก

2. ขั้นสำรวจและค้นหา

(1) ให้นักเรียนศึกษาจากใบความรู้ที่ 5 ภูเขาไฟประกอบเพิ่มเติม

(2) ให้แต่ละกลุ่มศึกษาและปฏิบัติกิจกรรมที่ 5 การเกิดภูเขาไฟ

(3) ร่วมกันสรุปและอภิปรายผลหลังทำกิจกรรม ในประเด็นคำถามท้ายกิจกรรม ดังต่อไปนี้

- เราเปรียบเทียบจากกิจกรรมการทดลองกับการระเบิดของภูเขาไฟได้อย่างไรบ้าง (แนวคำตอบเหตุการณ์ก่อนเกิดภูเขาไฟ อยู่ในสถานการณ์ปกติขณะเกิดภูเขาไฟจะมีการปล่อยลาวาออกมาทางปล่องภูเขาไฟและหลังการเกิดภูเขาไฟคงเหลือแต่ร่องรอยลาวาที่เย็นตัวลง)

- หลังจากกิจกรรมการทดลอง เหตุการณ์เป็นอย่างไร (แนวคำตอบหลังกิจกรรมการทดลองเหตุการณ์ต่างๆจะสงบลง ร่องรอยการไหลของน้ำ ฟองน้ำ อื่นๆเปรียบได้กับภูเขาไฟเมื่อสงบจะคงเหลือร่องรอยการไหลของลาวา ซึ่งจะกลาวเป็นหินบะซอลต์ต่อไป)

ชั่วโมงที่ 2

ให้แต่ละกลุ่มศึกษาและปฏิบัติกิจกรรมที่ 6 จำแนกหินภูเขาไฟเป็นกิจกรรมศึกษาตัวอย่างหินภูเขาไฟ เช่น หินบะซอลต์ หินแอนดีไซต์ หินไรโอไลต์และหินพัมมิซ ให้นักเรียนสังเกตรายละเอียดด้วยตาเปล่าและใช้แว่นขยายรวมทั้งทดสอบปฏิกิริยาเคมีด้วยกรดเกลือเจือจาง แล้วเขียนบรรยายสรุปเกี่ยวกับลักษณะชนิดและรูปร่างของหินภูเขาไฟ ตามสังเกตบันทึกลงในสมุดร่วมกันสรุปอภิปรายผลร่วมกัน หลังทำกิจกรรม ในประเด็นคำถาม เช่น

- การปะทุของภูเขาไฟทำให้เกิดหินชนิดใดบ้าง ยกตัวอย่าง (แนวคำตอบ หินบะซอลลต์ หินทัฟฟ์หินพัมมิซ หินสคอเรีย)

- การเย็นตัวช้าหรือเร็วของลาวา มีผลต่อลักษณะเนื้อหินอย่างไร (แนวคำตอบหินหลอมเหลวเย็นตัวและตกผลึกอย่างรวดเร็ว ผลึกที่มีขนาดเล็ก ถ้าผลึกถูกรบกวนขณะเย็นตัวลักษณะที่ได้ส่วนใหญ่เนื้อละเอียด จะเป็นเนื้อแก้วเช่นหินออบซิเดียนถ้าหินหลอมเหลวมีการเย็นตัวอย่างช้าๆผลึกที่ได้จะมีขนาดใหญ่ เนื้อจะหยาบ เช่น หินบะซอลลต์)

- ลักษณะการเกิดของหินอัคนีเป็นอย่างไร (แนวคำตอบหินอัคนีเกิดจากหินหลอมเหลวเย็นตัวและตกผลึก ชนิดของหินอัคนีขึ้นอยู่กับลักษะเนื้อหิน ขนาดผลึกการเย็นตัวช้าหรือเร็ว ความดัน อุณหภูมิและแร่ธาตุที่อยู่ในหิน)

- หินที่นักเรียนสังเกตมีลักษณะของเนื้อหินเป็นแบบใด และเมื่อทดสอบกับกรดเจือจางจะเกิดปฏิกิริยาเคมีหรือไม่ (แนวคำตอบ เนื้อหินมีหลายแบบ เช่น หินไรโอไลต์ มีเนื้อละเอียด อาจมีเนื้อดอก สีอ่อนขาว ชมพู เทา เมื่อทดสอบกับกรดเจือจางไม่เกิดปฏิกิริยาทางเคมี)

3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป

(1) นักเรียนสืบค้นข้อมูลในหนังสือเรียน วารสารวิทยาศาสตร์และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องทางอินเทอร์เน็ต และศึกษาจากใบความรู้ที่ 5 ภูเขาไฟและช่วยกันตอบคำถามในประเด็นต่อไปนี้ สาเหตุ กระบวนการเกิด ภูเขาไฟ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภูเขาไฟแผ่นดินไหวในประเทศไทย

(2) เนื้อเพิ่มเติมให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า ใบความรู้เพิ่มเติม คลื่นยักษ์สึนามิและให้นักเรียนดูวีดีทัศน์ เรื่องสินามิเหตุการณ์ในประเทศไทย (5 นาที)

(3) ใช้สไลด์อธิบายเกี่ยวกับคลื่นยักษ์สึนามิประกอบเพิ่มเติม

4. ขั้นขยายความรู้

(1) ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลหินภูเขาไฟและศึกษาใบความรู้ที่ 6 หินภูเขาไฟและหินบะซอลต์ในจังหวัดแพร่หาข้อมูลเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจากการปะทุของภูเขาไฟ และผลพลอยได้จากการประทุภูเขาไฟ

5. ขั้นประเมิน

(1) ครูให้นักเรียนพิจารณาว่า จากหัวข้อที่เรียนมามีข้อสงสัย ถ้ามีครูอธิบายเพิ่มเติม

(2) นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติกิจกรรมและการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์

(3) ครูทดสอบความเข้าใจของนักเรียนโดยการให้แนวคำถาม เช่น ภูเขาไฟมีกระบวนการเกิดอย่างไรผลที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟมีอะไรบ้าง

(4) ตรวจประเมินใบกิจกรรมที่ 5-6