แผนการจัดการเรียนการสอน

แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1

รายวิชา ว30104 โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

ชื่อหน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เรื่องโครงสร้างโลก เวลา 6 ชั่วโมง

เรื่อง โครงสร้างโลก เวลา 4 ชั่วโมง

มาตรฐานการเรียนรู้ / ตัวชี้วัด

            มาตรฐาน ว 6.1 เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกและภายในโลกความสัมพันธ์ของกระบวนการต่าง ๆ ที่มีผลต่อเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิประเทศและสัณฐานของโลก มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ ไปใช้ประโยชน์

ตัวชี้วัด ว.1 สืบค้นและอธิบายหลักการในการแบ่งโครงสร้างโลก

สาระสำคัญ

        โลกเป็นดาวเคราะห์หินดวงหนึ่งในระบบสุริยะภายในโลกยังคงมีอุณหภูมิสูงมากและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาและแบ่งโครงสร้างโลกโดยใช้ข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆทางธรณีวิทยาและทางฟิสิกส์ สามารถแบ่งโครงสร้างตามเกณฑ์ลักษณะ ทางกายภาพออกเป็น 3 ชั้นคือ ชั้นเปลือกโลก ชั้นเนื้อโลก ชั้นแก่นโลกและแบ่งตามเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงของคลื่นไหวสะเทือนได้ 5 ชั้น คือ ธรณีภาค ฐานธรณีภาค มีโซสเฟียร์ แก่นโลกชั้นนอกและแก่นโลกชั้นใน

จุดประสงค์การเรียนรู้

เมื่อจบบทเรียนนี้แล้วนักเรียนสามารถ

ด้านความรู้

- วิเคราะห์และอธิบายการแบ่งโครงสร้างโลก

ด้านทักษะ/กระบวนการ

1. สืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลการแบ่งโครงสร้างโลก

2. การสรุปและลงความเห็นข้อมูลการแบ่งโครงสร้างโลก

3. ออกแบบและวางแผนกิจกรรมการแบ่งโครงสร้างโลก

คุณลักษณะอันพึงประสงค์

1. ใฝ่เรียนรู้

2. มุ่งมั่นในการทำงาน

สมรรถนะสำคัญ

1. ความสามารถในการสื่อสาร

2. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

สาระการเรียนรู้

1. โครงสร้างโลก

2. การแบ่งลักษณะโครงสร้างโลก

กระบวนการจัดการเรียนรู้    ชั่วโมงที่ 1-2

จัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

1. ขั้นสร้างความสนใจ

     (1) นำเข้าสู่บทเรียนเตรียมความพร้อมประเมินความรู้พื้นฐานเดิมของนักเรียนเพื่อเชื่อมโยงสู่ความรู้ใหม่ แจ้งกติกาว่าก่อนขึ้นบทเรียนหรือเนื้อหารายวิชาครูจะให้นักเรียนที่เป็นแกนนำนำฝึกสมาธิ 1นาที ในโครงการ “หนึ่งนาทีมีสุข”ของโรงเรียน ให้ข้อคิดสมาธิและนักเรียนเริ่มปฎิบัติสมาธิ

(2) การสื่อสารระหว่างกัน มีแหล่งการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และเนื้อหารายวิชาได้ที่เว็บไซต์กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์

(3) ให้นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียนเรื่องโครงสร้างโลก จำนวน 20 ข้อ

(4) แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ชุดกิจกรรมที่ 1 เรื่องโครงสร้างโลก

(5) เริ่มเนื้อหาโดยกระตุ้นความสนใจโดยให้นักเรียน ให้ดูสื่อวีดีทัศน์เรื่องกำเนิดโลกแผ่นเปลือกโลกและผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโลก

ร่วมกันแสดงความคิดเห็นหลังจาการดูวีดีทัศน์และครูตั้งประเด็นตั้งคำถามเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหาโลกและการเปลี่ยนแปลง 

ชุดกิจกรรมที่ 1 เรื่องโครงสร้างโลก ประเด็นคำถามมีดังนี้

- เหตุใดโลกถึงมีการเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟ

- แผ่นดินไหวสร้างความเสียหายให้มนุษย์หรือไม่

- ภูเขาไฟที่ประทุขึ้นมาจากส่วนใดของโลก

- นักเรียนทราบหรือไม่ว่าอุณหภูมิ ความร้อนและความดันภายในโลกจะเป็นอย่างไร ครูตั้งประเด็นตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความสนใจนักเรียนในเบื้องต้นเท่านั้น

(6) นำเสนอสไลด์เรื่องโครงสร้างโลกและการเปลี่ยนแปลงของโลกให้นักเรียนดูภาพและให้ครูตั้งคำถามประกอบเพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้

- ตามภาพเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างกับโลกเรา เหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น

- การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างไร

- ที่ผิวโลกและโครงสร้างภายในโลกที่อยู่ลึกลงไปมีสารและแร่ธาตุอะไรบ้าง

- ภายในโลกสารมีสถานะและอุณหภูมิความร้อนเป็นอย่างไร

- นักเรียนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกว่าอย่างไร

- นักเรียนรู้หรือไม่ว่าโลกมีโครงสร้างเป็นอย่างไร

- ถ้านักเรียนเดินทางเข้าไปในใจกลางโลก ผลจะเป็นอย่างไรเพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น

- ลักษณะพื้นผิวโลกภายนอกสามารถสังเกตและมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้แต่ภายในโลกมนุษย์ใช้วิธีการใดถึงทราบโครงสร้างภายในโลก

- นักเรียนคิดว่านักวิทยาศาสตร์ ศึกษาโครงสร้างของโลกได้อย่างไร

(7) ให้นักเรียนช่วยกันตอบคำถามและแสดงความคิดเห็น โดยครูยังไม่เน้นคำตอบที่ถูกต้องมากนัก

2. ขั้นสำรวจและค้นหา

(1) ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มปฏิบัติกิจกรรม กิจกรรมที่ 1 กล่องปริศนา โดยครูให้คำแนะนำให้นักเรียนได้ปฏิบัติ ทำตามขั้นตอนกิจกรรมและโดยบันทึกผลลงในใบกิจกรรมให้ตัวแทนกลุ่มออกมานำเสนอผลการทำกิจกรรม

(2) ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายสรุปผลของการปฏิบัติกิจกรรมโดยใช้แนวคำถามหลังการปฏิบัติกิจกรรม

- การค้นหาสิ่งที่อยู่ภายในกล่อง ภายใต้ข้อจำกัดว่า ต้องไม่เปิดดูกล่องปริศนาวิธีที่นักเรียนเลือกใช้คือวิธีใด เพราะเหตุใด (แนวคำตอบ การเขย่าฟังเสียงการยกเพื่อคาดคะเนน้ำหนัก)

- เมื่อพิจารณากล่องปริศนา วิธีการค้นหาตรวจสอบกับสิ่งที่อยู่ภายในกล่องเปรียบเทียบกับการค้นหาการศึกษาโครงสร้างโลก มีลักษณะเป็นอย่างไรบ้างนักวิทยาศาสตร์ศึกษาโครงสร้างโลกอย่างไร(แนวคำตอบวิธีการตรวจสอบกล่องปริศนาเปรียบเทียบได้กับวิธีการค้นหาข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงโครงสร้างภายในโลกของนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์มีวิธีการการศึกษาโครงสร้างภายโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อมการศึกษาทางตรงเช่น การเจาะหลุมสำรวจเพื่อเก็บตัวอย่างแร่และหิน ในแต่ละชั้นโครงสร้างโลกส่วนการศึกษาทางอ้อม เช่น นักวิทยาศาสตร์ศึกษาแร่ธาตุจากอุกกาบาตที่มาจากนอกโลกและชิ้นส่วนวัตถุจากภายในโลกที่พ่นออกมาเนื่องจากการระเบิดของภูเขาไฟและคลื่นไหวสะเทือนผ่านชั้นหินต่างๆ ภายในโลก)

(3) ให้นักเรียนศึกษาใบความรู้ที่ 1 วิธีการศึกษาโครงสร้างโลกและดูวีดีทัศน์เรื่องโครงสร้างโลกโดยครูใช้สไลด์อธิบายเนื้อหาโครงสร้างโลกประกอบเพิ่มเติมและเพื่อให้นักเรียนตอบคำถามให้ได้ว่า

- เราแบ่งโครงสร้างโลกเป็นอย่างไรบ้าง (แนวคำตอบ เปลือกโลก เนื้อโลก แก่นโลก)

-นักเรียนคิดว่านักวิทยาศาสตร์จะศึกษาโครงสร้างของโลกได้อย่างไร(แนวคำตอบวิเคราะห์ข้อมูลจากคลื่นแผ่นดินไหวแต่ละชนิด พิจารณาจากจุดที่เกิดคลื่นแผ่นดินไหวและสถานีตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวในโลก )

(4) ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มปฏิบัติกิจกรรม กิจกรรมที่ 2 พลังคลื่นแผ่นดินไหวทำตามขั้นตอนกิจกรรมและโดยบันทึกผลลงในใบกิจกรรม

(5) ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายสรุปผลของการปฏิบัติกิจกรรม โดยใช้แนวคำถามหลังการปฏิบัติกิจกรรมในประเด็นที่กำหนดยืนเข้าแถวหน้ากระดานโดยให้ไหล่ชิดไหล่กัน

- การเคลื่อนที่ของคลื่นชนิดนี้มีทิศทางใด (แนวคำตอบ ทิศทางตามแนวนอน)

- คลื่นชนิดนี้เคลื่อนที่ได้เร็วหรือช้าอย่างไร (แนวคำตอบ เคลื่อนที่ได้เร็ว)

- จากกิจกรรมเปรียบเทียบคล้ายกับการเกิดคลื่นในตัวกลางชนิดใด (แนวคำตอบ คลื่นปฐมภูมิ)ยืนเข้าแถวหน้ากระดานกอดคอกัน

- การเคลื่อนที่ของคลื่นชนิดนี้มีทิศทางใด (แนวคำตอบ ทิศทางขึ้น-ลง ในแนวดิ่ง)

- คลื่นชนิดนี้เคลื่อนที่ได้เร็วหรือช้าอย่างไร (แนวคำตอบ เคลื่อนที่ได้ช้ากว่าชนิดแรก)

- จากกิจกรรมเปรียบเทียบคล้ายกับการเกิดคลื่นในตัวกลางชนิดใด (แนวคำตอบ คลื่นทุติยภูมิ)

ชั่วโมงที่ 3-4

3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป

(1) ให้นักเรียนศึกษาจากใบความรู้ที่ 2 คลื่นไหวสะเทือนและครูใช้สไลด์อธิบายเนื้อหาคลื่นไหวสะเทือนเพิ่มเติมให้นักเรียนและตอบ

คำถามให้ได้ว่า

- เราแบ่งโครงสร้างโลกโดยใช้เคลื่อนไหวสะเทือนเป็นเกณฑ์แบ่งเราแบ่งได้เป็นอย่างไร(แนวคำตอบ ธรณีภาค ฐานธรณีภาค มีโซสเฟียร์ แก่นโลกชั้นนอกและแก่นโลกชั้นใน)

- คลื่นไหวสะเทือนชนิดใดที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ศึกษาโครงสร้างของโลก(แนวคำตอบ คลื่นในตัวกลาง

คลื่นปฐมภูมิและคลื่นทุติยภูมิ)

(2) ให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดที่ 1 สมบัติคลื่นในตัวกลางและแบบฝึกหัดที่ 2การเคลื่อนที่ของคลื่นในตัวกลาง ครูและนักเรียนร่วมกันเฉลยแบบฝึกหัดที่ 2 การเคลื่อนที่ของคลื่นในตัวกลาง

(3) ให้นักเรียนศึกษาจากใบความรู้ที่ 3 การแบ่งโครงสร้างโลก

(4) ครูใช้สไลด์อธิบายเนื้อหาคลื่นไหวสะเทือนเพิ่มเติมโดยครูและนักเรียนร่วมกันสรุปอภิปรายโครงสร้างโลกโดยใช้แนวคำถาม

­ นักวิทยาศาสตร์ศึกษาโครงสร้างของโลกด้วยวิธีการใดบ้าง (แนวคำตอบศึกษาจากองค์ประกอบทางเคมีและการศึกษาความเร็วของคลื่นไหวสะเทือนในชั้นโครงสร้างโลก)

- ศึกษาจากองค์ประกอบทางเคมีของโลกเป็นเกณฑ์ เราแบ่งชั้นโครงสร้างโลกได้เป็นอย่างไร

(แนวคำตอบ 3 ชั้น คือ ชั้นเปลือกโลก เนื้อโลก และแก่นโลก ซึ่งแต่ละชั้นมีลักษณะแตกต่างกัน)

- ศึกษาจากการใช้เคลื่อนไหวสะเทือนเป็นเกณฑ์ เราแบ่งชั้นโครงสร้างโลกได้เป็นอย่างไร

(แนวคำตอบ ธรณีภาค ฐานธรณีภาค มีโซสเฟียร์ แก่นโลกชั้นนอกและแก่นโลกชั้นใน)

4. ขั้นขยายความรู้

(1) ให้นักเรียนร่วมกันร่วมกันวางแผนการสร้างแบบจำลองโครงสร้างโลกโดยปฏิบัติตามกิจกรรมที่ 3 แบบจำลองโครงสร้างโลก

(2) ออกแบบและสร้างแบบจำลองโครงสร้างโลกตามวัสดุที่เตรียมไว้

(3) แต่ละกลุ่มนำเสนอผลกิจกรรมหน้าชั้นเรียนอธิบายแบบจำลองชั้นของโครงสร้างโลก

(4) ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปอภิปรายผลจากการปฏิบัติกิจกรรมให้ได้ข้อสรุป(แนวคำตอบ ถ้าใช้องค์ประกอบทางเคมีแบ่งโครงสร้างของโลก แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือชั้นเปลือกโลกแบ่งเป็นเปลือกโลกทวีป เปลือกโลกสมุทร

ชั้นเนื้อโลกและแก่นโลกแบ่งเป็นแก่นโลกชั้นในและแก่นโลกชั้นนอกซึ่งแต่ละชั้นมีลักษณะแตกต่างกัน)

(5) ครูประเมินผลงานการทำงานกลุ่มของนักเรียน

5. ขั้นประเมิน

(1) ให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดที่ 3 การแบ่งโครงสร้างโลกและแบบฝึกหัดที่ 4 องค์ประกอบภายในโครงสร้างโลก พร้อมกับครูและนักเรียนร่วมกันเฉลยแบบฝึกหัดที่ 4 องค์ประกอบภายในโครงสร้างโลก

(2) ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปอภิปรายเนื้อหาโครงสร้างโลกในส่วนที่นักเรียนยังไม่เข้าใจหรือยังมีข้อสงสัยให้นักเรียนได้สอบถาม

ครูช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้นักเรียนเข้าใจ

(3) ข้อคิดเห็น ความสงสัยในเนื้อหาในภายหลัง นอกเวลาเรียนนักเรียนสามารถส่งคำถามเพิ่มเติมตามช่องทางสื่อสารที่กำหนดไว้ข้างต้น เว็บไซต์กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์