เนื้อหา

ไม้กวาดดอกหญ้า : ประวัติไม้กวาดดอกหญ้า

จากการสืบค้นเอกสารที่ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำไม้กวาดดอกหญ้า พบว่า มีการริเริ่มทำครั้งแรกที่เมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีพระศรีพนมมาศเป็นผู้ริเริ่ม และส่งเสริมให้ราษฎรทำเป็นอาชีพ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงการรับราชการของพระศรีพนมมาศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444-2451 หรือหลังจากนั้น

พระศรีพนมมาศ คนไทยเชื้อสายจีน เกิดในปี พ.ศ. 2404 ซึ่งมีชื่อเดิม คือ นายทองอิน ทำอาชีพพ่อค้าหาบเร่ และต่อมาค่อยผันอาชีพเข้ามารับราชการในตำแหน่งนายอาการสุราโดยในปี พ.ศ. 2444 ได้ชักชวนราษฎรในพื้นที่ร่วมกันสร้างถนนจากเมืองลับแลไปถึงบางโพ (ท่าอิฐ) รวมระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ซึ่งการก่อสร้างนั้นไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงทราบถึงความดี จึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุนพิศาลจีนะกิจ” และในปี พ.ศ. 2447 ได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงศรีพนมมาศ” และหลังจากนั้น ได้พัฒนาบ้านเมืองให้รุ่งเรือง จนในปี พ.ศ. 2451 จึงได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์อีกครั้งเป็น “พระศรีพนมมาศ” ซึ่งพระศรีพนมมาศ ถือเป็นนายอำเภอคนแรกของเมืองลับแล หรือ อำเภอลับแล ในปัจจุบัน และท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2464 สิริอายุได้ 60 ปี และชาวเมืองได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ไว้บริเวณทางแยกตลาดลับแล เพื่อให้ผู้คนได้สักการะ และระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างไว้

สำหรับไม้กวาดดอกหญ้าเมืองลับแล ถือเป็นไม้กวาดดอกหญ้าดั้งเดิมที่ผลิตกันมาช้านาน โดยมีเอกลักษณ์ประจำ คือ จะมีผ้าแดงผูกติดกับปลายด้ามไม้กวาด เพราะในช่วงแรกนั้น ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ไม้กวาดถือเป็นของต่ำ ไม่เป็นสิริมงคลที่จะเก็บไว้ในบ้าน ดังนั้น ชาวบ้านจึงแก้เคล็ดด้วยการนำผ้าแดงมาผูกติดที่ปลายด้าม ซึ่งเปลี่ยนความเชื่อเป็นว่า ผู้ใดที่ได้ไม้กวาดดอกหญ้าจากเมืองลับแลที่มีผ้าแดงผูกติดนี้ ถือว่าผู้นั้นจะมีโชคลาภ และเรื่องสิริมงคลตามมา


วิธีทำไม้กวาดดอกหญ้า ?

– ตัดก้านดอกตองกงที่ยังมีความเขียวอยู่ ด้วยการตัดยาวประมาณ 80 เซนติเมตร จากนั้น นำมาตากแดดให้แห้งประมาณ 2-5 วัน

– นำก้านดอกหญ้ามาฟาดหรือเข้าเครื่องเพื่อแยกปุยดอกออกให้หมด ก่อนนำไปตากอีก ประมาณ 7 วัน ทั้งนี้ หากใช้วิธีฟาด ควรฟาดในช่วงวันที่แดดออกมาก และควรสวมผ้าปิดจมูก และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพราะจะทำให้เกิดฝุ่น และปุยดอกลอยฟุ้งมาก

– นำก้านดอกหญ้าประมาณ 1 กำมือ มามัดรวมกันให้เป็นวงกลม

– นำเข็มที่ร้อยเชือกฟางแทงเข้ากลางมัด พร้อมร้อยพัน 3 รอบ ไม่ให้แน่นมากก่อนคลี่ และจัดเรียงให้ก้านดอกหญ้าแผ่เป็นผืนแบน และมัดโคนก้านให้แน่น

– นำมัดดอกหญ้าผัดรัดเข้ากับด้ามไม้กวาดที่เจาะรูไว้ให้แน่น หรือตอกตะปูยึดให้แน่น ทั้งนี้ ต้องจัดเรียงแผ่นดอกหญ้าให้สวยงามก่อน

– นำชัน 2 ส่วน และผสมกับน้ำมันกาด 1 ส่วน โอบทาบริเวณเชือกถัก และบริเวณโดยรอบ เพื่อให้ก้านดอกหญ้าติดกับด้ามไม้กวาดได้แน่นขึ้น

ทั้งนี้ วิธีทำไม้กวาดดอกหญ้าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งมักใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอย่าง อาทิ ใช้เครื่องตีดอกหญ้า ใช้แผ่นประกบแทนชัน เป็นต้น นอกจากนั้น เทคนิคการเข้าก้านดอกหญ้ากับด้ามไม้กวาดยังแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น 

วิธีใช้ไม้กวาดดอกหญ้าที่ถูกต้อง
1. สำหรับไม้กวาดดอกหญ้าที่ถักเป็นข้อยาว ให้จับด้ามไม้กวาดด้วยการหันปลายแหลมของส่วนถักหันออกจากตัว
2. การกวาดพื้นที่มีความสูงไม่เท่ากันจะต้องกวาดจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ
3. ไม่กดด้ามไม้กวาดมากเกินไปจนทำให้ปลายดอกหญ้าโค้งงอ
4. ขณะกวาดจะต้องค่อยกวาด ไม่ควรเหวี่ยงด้ามไม้กวาดอย่างรวดเร็ว เพราะจำทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย
5. ไม่ใช้ไม้กวาด กวาดวัสดุขนาดใหญ่ หรือมีน้ำหนักมาก เพราะจะทำให้ผืนดอกหญ้าแยกเป็นร่องได้ รวมถึงไม่กวาดพื้นที่มีน้ำอยู่ เพราะจะทำให้ก้านดอกหญ้าเปราะหักได้เร็วขึ้น
6. หลังจากกวาดวัสดุมากองรวมกันแล้ว ไม่ควรใช้ไม้กวาด 2 อัน มาประกบสำหรับตักเก็บ แต่ควรใช้ที่ตักแทน

วิธีเก็บรักษาไม้กวาดดอกหญ้า

    1. สำหรับด้ามไม้กวาดที่มีเชือกแขวน หลังจากใช้แล้วให้แขวนไว้ โดยมีความสูงที่ผืนดอกหญ้าไม่พับวางบนพื้น

    2. หากด้ามไม้กวาดไม่มีเชือกห้อย ให้วางด้ามไม้กวาด โดยให้ผืนแผ่นหญ้าตั้งขึ้นอยู่ด้านบน เพราะหากวางผืนดอกหญ้าพับบนพื้นจะทำให้ก้านดอกหญ้างอพับได้ แต่บางตำรามองว่า การชันตั้งขึ้นอาจทำให้ฝุ่น และเชื้อโรคมาติดกับด้ามได้ และบางครั้งอาจทำให้ก้านดอกหญ้าโค้งงอลงด้านล่างได้เช่นกัน

    3. ไม่ควรเก็บไม้กวาดด้านนอกที่เสี่ยงต่อน้ำฝน และหากก้านดอกหญ้าถูกน้ำจนเปียก จะต้องนำออกผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้