๒๓. รู้ รัก สามัคคี

รู้ รัก สามัคคี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสในเรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็น คำสามคำ ที่มีค่าและมีความหมาย ลึกซึ้ง พร้อมทั้งสามารถปรับใช้ได้ กับทุกยุคทุกสมัย รู้: การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัย ทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา รัก : คือความรัก เมื่อเรารู้ครบถ้วนกระบวนความแล้ว จะต้องมี ความรักการพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ สามัคคี: การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่า เราจะทำงาน คนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กรเป็นหมู่คณะ จึงจะมี พลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาทให้แก่ผู้ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีหนึ่ง ณ ศาลาดุสิตาลัย เป็นการเตือนสติ เป็นการชี้แนะถึงเทคนิคการทำงานร่วมกัน โดยได้รับสั่งเป็นประโยคสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งกว้างขวางว่า "รู้ รัก สามัคคี”หากจะหยิบยกนำเอาประโยคสั้นๆ ดังกล่าวมาพิจารณาวิเคราะห์ขยายความออกไปในเชิงรัฐศาสตร์ น่าจะได้ใจความว่า

๑. "รู้" คือ ปัญญา มีความรู้ความเข้าใจในงานที่จะต้องทำ

๒. "รัก" คือ การมีความรัก ความพอใจในงานที่จะต้องทำนั้น

๓. “สามัคคี” คือ การร่วมกันทำงานด้วยความจริงใจ อย่างพร้อมเพรียง กัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง อิจฉาริษยากัน ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก ทำงานนั้น เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน เพื่อเข้าพกเข้าห่อของตน หรือ ญาติมิตรพรรคพวกของตน อย่างไรก็ตาม หากได้นำความหมายของคำทั้งสามดังกล่าวข้างต้นมาศึกษาวิเคราะห์ในเชิงพุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่บนรากฐานของความเป็นจริง ที่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ด้วยเหตุ และผล ทุกกาลเวลา ดังคำศัพท์บาลีที่ว่า "อะกาลิโก เอหิปัสสิกโก" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในบทสวดมนต์สรรเสริญพระธรรมคุณคือ "สวากขตา ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิกโก โอปะนะยิโก....." จะได้เนื้อหาสาระเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

คำว่า "ปัญญา" ซึ่งตรงกับคำว่า "รู้" นั้นเป็นคุณสมบัติประจำตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์ จัดเป็นนามธรรม มีสมองซึ่งเป็นรูปธรรมเป็นฐานกำเนิด การทำงานของสมองที่กระตุ้นให้จิตเกิดปัญญา หรือมีความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านทวาร หรือ อายาตนะทั้งหกเข้ามา ผู้ที่มีอวัยวะส่วนสมองไม่สมบูรณ์เนื่องจากมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ไม่สอดคล้องกับอายุวัยเท่าที่ควร จึงถูกเรียกว่า เป็นคนปัญญาอ่อน หรือ ผู้ที่มีอวัยวะส่วนสมองเสื่อมสภาพไปตามอายุวัย จะมีอาการหลงๆ ลืมๆ สติปัญญาไม่แตกฉานเช่นแต่ก่อน ทางการแพทย์เรียกว่า เป็นโรคความจำเสื่อม หรือ "อัลไซเมอร์" พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเรื่องวิธีการสร้างปัญญา ไว้ดังนี้

"การเรียนรู้ทุกอย่างนั้น จะต้องเรียนความรู้ของผู้อื่นก่อนเป็นเบื้องต้น เมื่อรู้แล้วจึงมาพิจารณาด้วยเหตุผลให้เห็นเด่นชัดละเอียดลงไปอีกชั้นหนึ่ง ให้ถึงเนื้อหาสาระ จึงจะอ้างอิงเป็นหลักฐานได้ ไม่ใช่เป็นความรู้อย่างเลื่อนลอย แต่แม้ถึงขั้นที่สองแล้ว ก็ยังถือว่า นำมาใช้ให้ได้ผลจริงๆ ไม่ได้ ยังจำเป็นจะต้องนำความรู้นั้นมาปฏิบัติฝึกฝนอีก เพื่อให้ผลประจักษ์แจ้ง และเกิดความคล่องแคล่วชำนิชำนาญขึ้นพร้อมกันไปด้วย จึงจะนำไปใช้ปฏิบัติงานให้เกิดผลได้ไม่ ขัดข้อง

" คำว่า "รู้ หรือ ปัญญา" นี้ จึงเป็นแกนนำที่ทำให้บรรลุประโยชน์แก่ตนโดยเฉพาะ เน้นการพึ่งตนเองได้ในทุกระดับ เพื่อไม่ต้องเป็นภาระของผู้อื่น หรือ ถ่วงหมู่คณะ และเพื่อพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งส่วนรวม

ส่วนคำว่า "รัก" คือ การมีความรัก ความพอใจในงานที่จะต้องทำ นั้น ตรงกับคำพระที่ว่า "ฉันทะ" ซึ่งเป็นองค์ธรรมหนึ่งของ "อิทธิบาท ๔ " ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ มีองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทะ คือ มีความต้องการ มีใจรัก มีความพอใจในงานที่จะต้องทำ มีใจปรารถนาอยากให้งานที่จะทำ หรือกำลังทำ ประสบความสำเร็จบังเกิดเป็นรูปธรรมให้ได้

๒. วิริยะ คือ มีความพากเพียรขยันขันแข็ง มีความตั้งใจจริงที่จะทำงานที่รักนั้นให้สำเร็จ ไม่ท้อถอย เบื่อหน่าย เมื่อมีปัญหาอุปสรรค

๓. จิตตะ คือ มีความตั้งใจจริง มีจิตฝักใฝ่จดจ่อ หมั่นเฝ้าสังเกตเรื่องราวข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนรักอยู่อย่างใกล้ชิดทุกระยะ

๔. วิมังสา คือ รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรอง เฝ้าตรวจตรา ตรวจสอบงานที่ตนกระทำด้วยเหตุด้วยผล

เมื่อใดก็ตาม เมื่อมีความรัก ความพอใจในงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำก็ดี โดยความริเริ่มของตนเองก็ดี ความพากเพียร คือ วิริยะ ความตั้งใจจริง มีจิตใจฝักใฝ่จดจ่อ คือ จิตตะ และการทุ่มเทความรู้สติปัญญาเพื่อให้งานนั้นประสบความสำเร็จ คือ วิมังสา ย่อมเกิดขึ้นมาเป็นเงาตามตัว

คำว่า "รัก" ตามพระบรมราโชวาทนั้น มิได้จำกัดอยู่เพียงนี้ ยังมีความหมายขยายความออกไปเพิ่มเติม รวมไปถึง ความรักแบบพรหม คือ ความรักที่มีความเมตตา กรุณา เป็นพื้นฐาน นำไปสู่ความปรารถนาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนให้บุคคลอื่นบรรลุประโยชน์ หรือเข้าถึงจุดหมายของชีวิตของเขาในระดับต่างๆ ประคับประคองให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้

สำหรับความว่า “สามัคคี”นั้น เป็นองค์ธรรมสำคัญที่จำเป็นต้องมีอยู่ในหมู่คณะบุคคล เป็นแกนนำที่ทำให้บรรลุประโยชน์ทั้งให้แก่ตน ให้แก่บุคคลอื่น และให้แก่หมู่คณะ แก่สังคม หรือแก่ชุมชนอันเป็นส่วนรวมได้ทั้งสามประการในคราวเดียวกัน เป็นพฤติกรรมที่เกื้อกูล พึงประสงค์ ที่สังคมพึงต้องการโดย

ตามหลักพระพุทธศาสนา ท่านได้แสดงให้เห็นถึงผลที่จะได้รับจากสามัคคีธรรม ไว้มีสาระสำคัญว่า เมื่อความสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่คณะ ชุมชนใด ย่อมจะเกิดความรัก มีแต่ความ สุขความบันเทิง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แก่งแย่งแข่งดี ร่วมกันช่วยเหลือทำงานเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างพร้อมเพรียงกัน

ดังนั้น พระบรมราโชวาทด้วยประโยคสั้นว่า "รู้ รัก สามัคคี”เมื่อได้นำมาอธิบายขยายความตามหลักวิชาพุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะเห็นได้อย่างแน่ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งพระทัยที่จะอบรมสั่งสอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้จักเข้าใจใน "เทคนิคการทำงานร่วมกัน" นั่นเอง