๑๘. พออยู่พอกิน

พออยู่พอกิน

การพัฒนาเพื่อให้พสกนิกรทั้ง หลายประสบความสุขสมบูรณ์ในชีวิตได้ เริ่มจากการเสด็จฯ ไปเยี่ยมประชาชนทุก หมู่เหล่าในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของ

ราษฎรด้วยพระองค์เอง จึงทรง สามารถเข้าพระราชหฤทัยใน สภาพปัญหาได้อย่างลึกซึ้งว่า มี เหตุผลมากมายที่ทำให้ราษฎรตก อยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ จากนั้น ได้พระราชทานความช่วยเหลือให้ พสกนิกร มีความกินดีอยู่ดี มีชีวิต อยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อน แล้วจึงขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป ในการพัฒนานั้น หากมองในภาพรวมของประเทศมิใช่งานเล็กน้อย แต่ต้องใช้ความคิดและกำลังของคนทั้งชาติ จึงจะบรรลุผลสำเร็จ ด้วยพระ ปรีชาญาณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทำให้คนทั้งหลายได้ ประจักษ์ว่าแนวพระราชดำริในพระองค์นั้น “เรียบง่าย ปฏิบัติได้ผล” เป็น ที่ยอมรับโดยทั่วกัน ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “...ถ้าโครงการดี ในไม่ช้า ประชาชนก็ได้กำไร จะได้ผล ราษฎร จะอยู่ดีกินดีขึ้น จะได้ประโยชน์ไป...”

พออยู่ พอกิน พอใช้ คือ คำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สอนคนไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่ลูกๆทั้งหลาย หาได้เอาใจใส่ ใส่ใจอย่างจริงจัง ตั้งแต่ ชาวบ้าน ประชาชนทั่วไป ข้าราชการทุกระดับชั้น นักการเมืองในทุกระดับชั้น บาง คนก็พูดเอาสวย เอาคะแนน ว่าขอรับใส่เกล้า และจะปฏิบัติตามคำสอน เขาก็ช่างใส่เกล้าจริงๆ คือ ใส่ไว้ ใส่แล้วใส่เลย แล้วก็ไม่ได้มีการนำออกมาใช้ มานำใช้ มาแนะนำต่อ มาขยายผลต่อใดๆทั้งสิ้น อย่างที่เราคนไทยเห็นกับสิ่งที่เป็นอยู่

อะไรคือ พออยู่ พอกิน พอใช้

พออยู่ คือ การที่เราปลูกป่าที่ให้ไม้ พืช ที่จำเป็นต่อการนำมาใช้ทำ ที่อยู่อาศัยต่างๆ เช่น ไม้ทำเสา ไม้ทำพื้น ไม้ทำฝา ไม้ทำโครงสร้างบ้านต่างๆ เป็นต้น ครั้นเมื่อเหลือใช้ เราก็แบ่งจ่ายแจก ขาย เป็นรายได้เสริมให้ครอบครัวได้

พอกิน คือ การที่เราปลูกป่าเพื่อให้ได้พืชที่เราจะนำมาใช้กินได้อย่างพอเพียง เช่น ข้าว ผัก ฯลฯ เมื่อเหลือกินแล้ว เราก็แบ่งออกขายหารายได้เสริมได้

พอใช้ คือ การปลูกป่าให้มีพืชที่เราจะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ยา ขนม ผลไม้ เครื่องปรุง เป็นต้น ครั้นเมื่อเราใช้ได้อย่างพอเพียงแล้ว เราก็แบ่งออกขายหารายได้แก่ครอบครัวได้

การปฏิบัติตนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

1. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้านลดละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีพอย่างจริงจังดังพระราชดำรัสว่าความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง…

2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพก็ตาม ดังพระราชดำรัสที่ว่าความเจริญของคนทั้งหลายย่อมเกิดมาจาก การประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพ ของตนเป็นหลักสำคัญ. . .

3. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าขายประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรงดังอดีต ซึ่งมีพระราชดำรัสเรื่องนี้ว่าความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนา และการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น. . .

4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางในชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยากครั้ง นี้ โดยต้องขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้เกิดมีรายได้เพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียง เป็นเป้าหมายสำคัญ พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ให้ความชัดเจนว่าการที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่ จะหาความรู้ และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้า ที่มีความสุข พอมีพอกินเป็นขั้นหนึ่ง และขั้นต่อไป ก็คือให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตัวเอง. . .

5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดีลดละสิ่งยั่วกิเลสให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้ด้วยสังคมไทยที่ล่มสลายลงในครั้งนี้ เพราะยังมีบุคคลจำนวนมิใช่น้อยที่ดำเนินการโดยปราศจากละอายต่อแผ่นดิน พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราโชวาทว่า . . . พยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัว ทำลายผู้อื่น พยายามลด พยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษา และเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้น ให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น. . .

ทรงย้ำเน้นว่าคำสำคัญที่สุดคือ คำว่า “พอ” ต้องสร้างความพอที่สมเหตุสมผลให้กับตัวเองให้ได้และเราก็จะพบกับความสุข