เงื่อนไขและข้อกำหนดในการขอรับบริการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก

เงื่อนไขในการขอรับบริการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก

1.   ผู้ยื่นคำขอ ต้องดำเนินการตาม คู่มือการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER: Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ทุกประการ ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่เป็นสาระสำคัญหลัก รายละเอียด ดังนี้

·   โครงการ T-VER เป็นการดำเนินการตามความสมัครใจ และต้องเป็นกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกที่ยังไม่เริ่มดำเนินการ หรือเป็นกิจกรรมที่มีวันเริ่มดำเนินการ/เดินระบบและก่อให้เกิดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ยื่นเอกสารครบถ้วนต่อ อบก. (ยกเว้นโครงการ T-VER ประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก จากภาคป่าไม้และการเกษตร สาขาป่าไม้และการเกษตร ที่วันเริ่มต้นโครงการย้อนหลังไม่เกิน 1 ปี)

·   โครงการที่ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER จะต้องไม่ขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากกลไกอื่นๆ เช่น CDM, GS, VCS หรือกลไกอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง

·   ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับโครงการ T-VER ที่มีผลกระทบเชิงบวกกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ มากกว่า 60,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 15 จากปริมาณเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงขนาดโครงการจากขนาดเล็กเป็นขนาดใหญ่ ต้องมีการตรวจสอบความใช้ไดของโครงการใหม่

·   กรณีที่มีโครงการ T-VER ดำเนินกิจกรรมลักษณะเดียวกันมากกว่า 1 โครงการ ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ผู้พัฒนาโครงการต้องแสดงข้อมูลว่าไม่มีการขอรับรองเครดิตซ้ำ

·   อบก. สามารถเพิกถอนการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ได้ หากมีการดำเนินกิจกรรมของโครงการที่ขัดต่อกฎหมายหรือระเบียบการที่เกี่ยวข้อง หรือเมื่อไม่มีการดำเนินโครงการหลังจากขึ้นทะเบียนโครงการภายใน 1 ปี

·   กรณีที่ผู้พัฒนาโครงการต้องการขึ้นทะเบียนกับกลไกอื่นๆ ต้องขอถอนการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกลไกอื่นแล้ว

·   โครงการ T-VER ประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก จากภาคป่าไม้และการเกษตร สาขาป่าไม้และการเกษตร มีระยะเวลา 10 ปี ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลาที่ขึ้นทะเบียนโครงการ ต้องไม่มีการตัดไม้ออกหมดพื้นที่ และหากผู้พัฒนาโครงการมีแผนการทำไม้ออก ต้องระบุในเอกสารข้อเสนอโครงการหรือรายงานการติดตามประเมินผลด้วย

·   เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ อบก. กำหนด

2.   ผู้ยื่นคำขอ ต้องใช้แถลงการตรวจสอบความใช้ได้/ทวนสอบโครงการ T-VER เฉพาะขอบเขตของโครงการที่กำหนด และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้แถลงการของ อบก. ทั้งนี้ผู้ยื่นคำขอไม่มีสิทธิ์ในการใช้โลโก้หน่วยงานของ บี ฟอเรสท์ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

 

ข้อกำหนดในการขอรับบริการตรวจสอบความใช้ได้และรับรองก๊าซเรือนกระจก

1.   ผู้ยื่นคำขอ แจ้งความประสงค์ขอรับบริการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การทวนสอบและรับรองการตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ T-VER สาขาป่าไม้และการเกษตร การทวนสอบและรับรองปริมาณกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของโครงการ T-VER สาขาป่าไม้และการเกษตร โดยจัดส่งแบบขอรับบริการที่ลงนามโดย ผู้อำนวยการ บี ฟอเรสท์ มายังผู้ประสานงาน (ผู้ยื่นคำขอสามารถดาวน์โหลดแบบยื่นคำขอรับบริการได้บนเว็บไซต์องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในแบนเนอร์ บี ฟอเรสท์)

2.   ผู้ยื่นคำขอ ต้องจัดส่งเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่หน่วยงานตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ระบุในแบบยื่นคำขอรับบริการ และจัดส่งเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติมตามที่ได้รับการร้องขอ เพื่อเข้าสู่กระบวนการการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ต่อไป

3.   ผู้ยื่นคำขอ ต้องเตรียมความพร้อมและเตรียมการทั้งหมดที่จำเป็นต่อกระบวนการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ได้แก่

       3.1 การให้สิทธิเข้าไปในพื้นที่โครงการ

       3.2 การสิทธิเข้าถึงเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก

       3.3 การให้สิทธิการสัมภาษณ์บุคลากรของโครงการ หรือบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

       3.4 การยินยอมให้คณะผู้ตรวจประเมินจากหน่วยรับรองระบบงาน (สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) เข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจสอบความใช้ได้และรับรองก๊าซเรือนกระจก เพื่อดำเนินการตรวจประเมิน บี ฟอเรสท์ ในฐานะหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก (หากได้รับการร้องขอ)

       3.5 การกำหนดบทบาท อำนาจและหน้าที่ ของ หัวหน้าทีมตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ ได้แก่ หัวหน้าทีมผู้ตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบของโครงการ T-VER สาขาป่าไม้และการเกษตร ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องทราบ ได้อย่างเหมาะสม

       3.6 การจัดเตรียมหลักฐานที่เป็นเอกสารหรือข้อมูล ทั้งที่เป็นเอกสารหรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชีรายการก๊าซเรือนกระจกและระบบการควบคุมคุณภาพข้อมูล เช่น รูปถ่ายกิจกรรมการตรวจประเมินภายใน รายงานการประชุมของฝ่ายบริหารที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการรับรองและทบทวนข้อมูล ระเบียบปฏิบัติงาน ที่ปรากฏและอ้างอิงในรายงานการกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกโครงการ T-VER สาขาป่าไม้และการเกษตร รวมทั้งเอกสารสนับสนุนอื่นๆ

       3.7 หากผู้ยื่นคำขอพบข้อบกพร่องต่างๆ ก่อนทำการตรวจสอบความใช้ได้ และทวนสอบและรับรองก๊าซเรือนกระจก ให้ผู้รับผิดชอบข้อมูลทำการแก้ไขข้อบกพร่องให้ตรงกับความจริงในทันที หรือแจ้งกับผู้ที่รับผิดชอบให้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องที่พบด้วยกระบวนการอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดการแก้ไขให้กับคณะผู้ตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบทราบว่ามีการแก้ไขข้อมูลจากในข้อมูลเดิมที่ได้จัดส่งไปก่อนหน้านี้ ตามความจริง

       3.8 ผู้ยื่นคำขอ ต้องจัดให้มีมาตรการและจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุที่จำเป็นในระหว่างการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ณ สถานประกอบการ (บริษัทหรือองค์กรของผู้ยื่นขอ) หรือขอบเขตพื้นที่ดำเนินโครงการต่อโครงการทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในระหว่างดำเนินกิจกรรมตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก

       3.9 หากผู้ยื่นคำขอ ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมการแก้ไขข้อบกพร่องตามระยะเวลาที่กำหนด ต้องชี้แจงเหตุผลในรายละเอียดเพื่อขอขยายระยะเวลาดำเนินการ ทั้งนี้ หากไม่สามรถดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง จะถือว่าไม่รับรองผล และสิ้นสุดการให้บริการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก

 

สิทธิของผู้ยื่นคำขอ

1.   การยื่นเรื่องร้องเรียน ผู้ยื่นคำขอ สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่พบประเด็นที่ต้องการร้องเรียน จากกิจกรรมการตรวจสอบความใช้ได้ และทวนสอบและรับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โครงการ T-VER สาขาป่าไม้และการเกษตร โดยต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียน (ผู้ยื่นคำขอสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มแจ้งข้อร้องเรียนได้บนเว็บไซต์องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในแบนเนอร์ บี ฟอเรสท์) และจัดส่งมายังผู้ประสานงาน เพื่อดำเนินการต่อไป

ในที่นี้ เรื่องร้องเรียน หมายถึง การร้องเรียนเกี่ยวกับข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานของบุคลากร ของ บี ฟอเรสท์

โดยพิจารณาเรื่องร้องเรียนเบื้องต้นและแจ้งกลับผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนว่ารับเป็นเรื่องร้องเรียน ภายใน 7 วัน ทั้งนี้ จะแจ้งให้ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนทราบภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ประสานงานได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียน ทั้งนี้ ผู้ยื่นร้องเรียน เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดในกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน

2.   การยื่นอุทธรณ์ ผู้ยื่นคำขอ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการประกาศผลการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบความใช้ได้ และการทวนสอบและรับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โครงการ T-VER สาขาป่าไม้และการเกษตร (ผู้ยื่นคำขอสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มแจ้งอุทธรณ์ได้บนเว็บไซต์องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในแบนเนอร์ บี ฟอเรสท์) และจัดส่งมายังผู้ประสานงาน เพื่อดำเนินการต่อไป

ในที่นี้ การอุทธรณ์ หมายถึง การไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบความใช้ได้ และการทวนสอบและรับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โครงการ T-VER สาขาป่าไม้และการเกษตร ต้องให้มีการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง

        หน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก จะพิจารณาข้ออุทธรณ์และแจ้งผลให้ผู้ยื่นอุทธรณ์ทราบภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ประสานงาน ได้รับแจ้งข้ออุทธรณ์ โดยผลการพิจารณาของคณะการความเป็นกลาง พิจารณาอุทธรณ์ให้ถือเป็นที่สุด ทั้งนี้ ผู้ยื่นอุทธรณ์ เป็นผู้รับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์

3.   การตรวจสอบความใช้ได้หรือทวนสอบก๊าซเรือนกระจก (กรณีพิเศษ) ในกรณีที่ ผู้ยื่นคำขอ มีการค้นพบข้อเท็จจริงหลังจากได้รับแถลงการตรวจสอบความใช้ได้ และทวนสอบและรับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โครงการ T-VER สาขาป่าไม้และการเกษตร สามารถยื่นเรื่องเสนอให้มีการพิจารณาตรวจสอบความใช้ได้ และการทวนสอบและรับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โครงการ T-VER สาขาป่าไม้และการเกษตร (กรณีพิเศษ) โดยการส่งจดหมายอย่างเป็นทางการ ชี้แจงรายละเอียดการค้นพบข้อเท็จจริงต่อหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจกตามความจริง พร้อมทั้งส่งมอบหลักฐานสนับสนุน ไปยังเจ้าหน้าที่ประสานงานเพื่อดำเนินการต่อไป หากการค้นพบข้อเท็จจริงหรือข้อร้องเรียนดังกล่าว มีนัยสำคัญต่อถ้อยแถลงการตรวจสอบความใช้ได้ และการทวนสอบและรับรองปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โครงการ T-VER สาขาป่าไม้และการเกษตร จึงจะมีการพิจารณาตัดสินใจให้มีการดำเนินการตรวจสอบความใช้ได้หรือทวนสอบ (กรณีพิเศษ) เพื่อตรวจสอบความใช้ได้และแก้ไขถ้อยแถลงการณ์ตรวจสอบความใช้ได้หรือทวนสอบ โดยหน่วยตรวจสอบความใช้ได้ละทวนสอบก๊าซเรือนกระจก จะจัดส่งกำหนดการตรวจสอบความใช้ได้หรือทวนสอบ (กรณีพิเศษ) ให้ผู้ยื่นคำขอทราบและเตรียมความพร้อมรับการตรวจสอบความใช้ได้หรือทวนสอบ (กรณีพิเศษ)  ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำขอต้องยื่นเรื่องเสนอให้มีการตรวจสอบความใช้ได้หรือทวนสอบ (กรณีพิเศษ) ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับถ้อยแถลงการตรวจสอบความใช้ได้หรือทวนสอบ และผู้ยื่นคำขอเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น หากเป็นการค้นพบข้อเท็จจริงว่าเกิดจากความผิดพลาดขององค์กรผู้ยื่นคำขอ