การทอเสื่อกก

การทอเสื่อกก

ความเป็นมา/ความสำคัญ

การทอเสื่อเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในชนบทที่ใช้เวลาว่างจากการทำไร่ทำนามาถักทอ บางส่วนทอเก็บไว้เพื่อทำบุญช่วงเทศกาลตามประเพณี โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คือใช้ต้นกก คิดค้นลวดลายให้แปลกใหม่ เช่น ลายดอกลายน้อย ลายสมอคู่ และลายแพรวา ถักทอจนเป็นผืนสวยงาม พัฒนาต่อยอดโดยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย และสามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ทอเสื่อกก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่น ประณีต สวยงาม มีหลากหลายชนิด ผลิตจากเส้นใยที่มีคุณภาพเหนียวแน่นทนนาน ผิวมันละเอียด ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น และสามารถปลูกเองในพื้นที่

ชุมชนบ้านโพนเจริญ หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านถ่อน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย จะมีอาชีพหลักทางด้านเกษตรกรรมการทำนาข้าว แต่พื้นที่บางส่วนก็ถูกกันไว้เพื่อทำนากก บ้านไหนปลูกข้าวน้อยก็จะปลูกกกมาก บ้านไหนปลูกข้าวมากก็เหลือพื้นที่ไว้ปลูกกกบ้าง เพื่อให้ได้วัตถุดิบมาทอเป็นเสื่อสร้างรายได้เสริมยามว่างจากเกษตรกรรมแม้ปัจจุบันกระแสความนิยมในการใช้เสื่อกกจะลดลง ค่านิยมในการทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมของคนรุ่นใหม่มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลิตภัณฑ์เสื่อกกตำบลบ้านบัวก็ยังมีการทำออกมาอย่างไม่ขาดสาย เพราะคนหนุ่มคนสาวถึงแม้จะอยู่ที่โรงงาน แต่คนแก่คนเฒ่าที่เฝ้าบ้านรอการเก็บเกี่ยวผลิตผลด้านการเกษตร ต่างไม่ปล่อยเวลาว่างให้ผ่านไปโดยสูญเปล่า การทอเสื่อกกของชุมชนจึงยังคงอยู่ได้เสมอมาจนถึงวันนี้

วิธีการ/ขั้นตอน

1. การตัดกก จะใช้มีดเล็กตัดเกือบถึงโคนต้นกก แล้วนำมากองเรียงเพื่อคัดแยกขนาด ตั้งแต่ความยาว 9คืบ 8 คืบ เรื่อยลงมาจนถึง 4 คืบ จากนั้นนำแต่ละกองที่มีขนาดเท่ากันมัดเก็บไว้ด้วยกัน ตัดดอกทิ้งเพื่อทำการกรีดเป็นเส้น

2. การกรีดจะใช้มีดปลายแหลมที่ทำมาจากใบเลื่อย กรีดแบ่งครึ่งกกแต่ละเส้นถ้าเป็นต้นเล็ก ถ้าเป็นต้นใหญ่ก็กรีดเหมือนกัน แต่จะมีส่วนที่กรีดทิ้ง เพื่อให้แห้งง่าย

3. หลังจากได้เส้นกกแล้ว ก็นำไปตาก โดยแผ่วางเรียงเป็นแนวยาว วันแรกจะตากเต็มวัน จากนั้นนำมามัดเป็นมัดเล็กๆ แล้วตากอีกราว 2 วัน ให้เส้นกกนั้นแห้ง

4. การย้อมสี นำกกที่ตากแห้งแล้วมามัดแช่น้ำราว 10 ชั่วโมง เพื่อให้เส้นกกนิ่ม จากนั้นต้มน้ำให้เดือด ใส่สีย้อม แล้วนำเส้นกกที่มัดเป็นกำแช่ลงไปในน้ำสีที่กำลังเดือดทิ้งไว้ 10-15 นาที จึงนำไปแช่น้ำ แล้วนำขึ้นตากในที่ร่มมีลมพัดผ่าน 3-4 วัน เมื่อเส้นกกสีแห้ง ก็สามารถนำไปใช้ในการทอได้

5. การทอจะร้อยเส้นเอ็นกับฟืมเป็นเส้นยืนตามขนาดของคืบที่กำหนด แล้วใช้เส้นกกใส่กระสวยทอเรียงเป็นเส้นนอนคล้ายการทอผ้า การใส่ลายสีในการทอนิยมใส่ตอนแรก และตอนสุดท้ายของการทอ เมื่อจะเต็มผืน

6. เมื่อทอได้เต็มผืนก็มัดริมเสื่อ ตัดเสื่อออกจากกี่ และตัดริมอีกครั้งพร้อมแต่งเสื่อให้มีความเรียบร้อยสวยงาม

7. ส่วนราคาในการขาย ถ้าเป็นเสื่อธรรมดา 5 คืบ ผืนละ 80 บาท, 6 คืบ ผืนละ 100 บาท, 7 คืบ ผืนละ 120 บาท, 8 คืบ ผืนละ 150 บาท และ 9 คืบ ผืนละ 180 บาท ถ้าเป็นเสื่อสีจะทำตั้งแต่ 7 คืบ ในราคาผืนละ 250 บาท, 8 คืบ ผืนละ 300 บาท และ 9 คืบ ผืนละ 350 บาท

วัสดุ/อุปกรณ์

1. วัสดุและอุปกรณ์การทอเสื่อกก

2. กรรไกร

3. กกหรือไหล

4. เชือกไนลอนหรือเชือกเอ็น

5. ฟืมทอเสื่อ 1 เมตร

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว

ผู้ใหขอมูล นางดาวเวียง พินธะ

ผู้เรียบเรียง นางชนากานต์ พรมแพงดี

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางชนากานต์ พรมแพงดี