การทอผ้าพื้นเมือง

การทอผ้าพื้นเมือง

ประวัติความเป็นมา

ผ้าพื้นบ้านหรือผ้าฝ้ายทอมือของชาวตำบลบ้านถ่อน หมู่ที่ 3 บ้านถ่อนใต้ ตำบลบ้านถ่อน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นผ้าทอด้วยกี่หรือหูกพื้นบ้าน ตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ มักทอด้วยฝ้ายหรือไหม ผ้าพื้นบ้านหรือผ้าทอมือมีกรรมวิธีการทอต่างๆกัน เช่น ทอเรียบ ๆไม่มีลาย เรียกผ้าพื้น ทอเป็นลวดลายเรียก ผ้ายก ทอเป็นลวดลายด้วยการจก เรียก ผ้าจก ผ้าทอเป็นลวดลายโดยการขิด เรียก ผ้าขิด ทอเป็นลวดลายด้วยการมัดย้อม เรียก ผ้ามัดหมี่ เป็นต้น ผ้าพื้นบ้านของภาคอีสาน มีกรรมวิธีการย้อม การทอสอดคล้องกับขนบประเพณี และวิถีชีวิตของแต่ละกลุ่มชน ซึ่งมีรูปแบบและการใช้สอยต่างๆกัน

ดังนั้นผ้าฝ้ายทอมือของกลุ่มแม่บ้านตำบลบ้านถ่อน ถือได้ว่าเป็นสินค้าพื้นเมืองที่มีความสวยงามประณีต ส่วนใหญ่มีการทออยู่ 2 แบบ คือทอแบบลูกฟูกและทอแบบพื้นเรียบ ซึ่งทั้งสองแบบก็สวยงามไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ผ้าฝ้ายทอมือของกลุ่มแม่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านถ่อน มีการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า เป็นของชำร่วย ของฝาก กระเป๋า ฯลฯ ไว้จำหน่ายในหมู่บ้านอีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะมีความสามารถในการทอผ้าแล้วยังรู้จักประยุกต์ผ้าทอของตนเองให้เป็นสินค้าต่าง ๆ ได้อีกด้วย

อุปกรณ์ในการทอผ้าพื้นเมือง

1. กี่ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า ซึ่งมีทั้งกี่พื้นบ้านที่ต้องอาศัยการพุ่งกระสวยด้วยตนเองในการขึ้นลาย และกี่กระตุกเป็นการพัฒนากี่ให้สามารถพุ่งกระสวยได้เองเพียงแค่ผู้ทอทำการกระตุกสายของกระสวย ทั้งนี้จะช่วยให้ผู้ทอสามารถทอผ้าได้เร็วขึ้น

2. ฟืม เป็นอุปกรณ์หนึ่งในการทอผ้า มีลักษณะเป็นซี่เรียงกันอยู่ในกรอบของไม้ ใช้สำหรับหรับกระทบเส้นด้ายพุ่งจากกระสวยให้ชิดเป็นระเบียบ และทำให้ผ้ามีความแน่น ความถี่ของฟันฟืมนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของเส้นด้าน หากเป็นผ้าไหมฟันฟืมจะถี่ หากเป็นผ้าฝ้ายฟันฟืมจะห่าง ในปัจจุบันใช้ฟันฟืมที่เป็นโลหะเพื่อความแข็งแรง และความทนทาน

3. ด้าย ที่ใช้ในการทอผ้า แบ่งออกเป็น ไหม และฝ้าย ที่ผ่านกระบวนการย้อมสีธรรมชาติแล้วนำมากรอใส่กระสวยเพื่อความสะดวกในการทอ

4. กระสวย เป็นตัวพุ่งของเส้นด้ายของกี่แบบพื้นบ้าน

5. ไม้เก็บลาย เป็นไม้ขนาดเล็กลักษณะแบน ใช้ในการเก็บลายผ้าที่ขึ้นไว้

6. ไม้กระดาน เป็นไม้ขนาดหน้ากว้าง ลักษณะแบน ใช้เก็บลายผ้าขนาดใหญ่

7. ไม้คิ้ว ใช้สำหรับเก็บลวดลายในการทอผ้า

8. กง ใช้สำหรับเปลี่ยนหลอดด้าย

9. หลอดพุ่งไว้ใช้ใส่ในกระสวย

10. ไม้ค้ำพั้น ไว้ใช้หมุนผ้าที่ทอเสร็จแล้วเก็บไว้

11. ไม้ตีนเหยียบ ใช้เหยียบขึ้นลง เป็นการสลับกันของด้าย

12. ไม้หามผูก เป็นไม้ที่ติดกับไม้ตีนเหยียบไม่ให้ฟืมห้อยลง

13. หวีหูก เป็นแปรงด้ายเส้นยืน เพื่อไม่ให้ด้ายพันกัน ทำด้วยกาบมะพร้าว