ระบบโครงกระดูก

ระบบโครงกระดูกประกอบด้วยกระดูกแกน กระดูกระยาง กระดูกข้อต่อ เส้นเอ็นยึดเชื่อมกระดูก ส่วนประกอบของระบบโครงกระดูกประกอบด้วย

1) กระดูก ร่างกายของคนประกอบด้วยกระดูก 206 ชิ้น เป็นกระดูกแกนทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะที่อ่อนนุ่ม 80 ชิ้น ได้แก่ กระดูกศรีษะ 29 ชิ้น กระดูกคอต่อ 7 ชิ้น กระดูกสันหลัง 12 ชิ้น กระดูกบั้นเอว 5 ชิ้น กระดูกซี่โครง 24 ชิ้น กระดูกกระเบนหนีบ กระดูกก้นกบ และกระดูกอก อย่างละ 1 ชิ้น กระดูกระยางทำหน้าที่เคลื่อนไหว 126 ชิ้น แบ่งเป็นกระดูกแขน 64 ชิ้น และกระดูกขา 62 ชิ้น

ส่วนประกอบของกระดูก แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

1. ส่วนประกอบที่มีชีวิต เช่น เซลล์กระดูก เนื้อเยื่อยึดเหนี่ยว เนื้อเยื่อประสาท หลอดเลือดเป็นส่วนที่ทำให้กระดูกยึดเหนี่ยวแน่นทนทาน ไม่เปราะแตกง่าย ถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ในเด็กจะมีส่วนนี้มาก

2. ส่วนประกอบที่ไม่มีชีวิต ประกอบด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมฟอสเฟต เป็นส่วนทำให้กระดูกแข็งแรง ถูกทำลายได้ด้วยกรด ในผู้ใหญ่จะมีส่วนนี้มาก

2) ข้อต่อและเอ็นเชื่อมกระดูก เป็นส่วนที่ทำให้กระดูกยืดหยุ่น ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเคลื่อนไหวไปมาสะดวก อีกทั้งควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของกระดูก แบ่งได้ 3 ชนิด คือ

2.1) ข้อต่อแบบบานพับ (hinge joints) ควบคุมการเคลื่อนไหวได้เพียงทิศทางเดียว เช่น ข้อต่อกระดูกนิ้วมือ ข้อศอก หัวเข่า

2.2) ข้อต่อแบบประกบ (pivot joints) ข้อต่อแบบนี้สวมกันในลักษณะเดือย ทำให้ก้มเงยบิดทางซ้าย – ขวาได้ แต่หมุนไม่ได้ เช่น กระดูกคอต่อ กระดูกซี่โครง กระดูกข้อมือ กระดูกข้อเท้า กระดูกสันหลัง

2.3) ข้อต่อแบบคล้ายลูกกลมในเบ้า (ball and socket joints) เหมือนลักษณะของที่เสียบปากกาบนโต๊ะ ทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างอิสระหลายทิศทาง เช่น ข้อต่อที่หัวไหล่ ข้อต่อสะโพก

ภายในข้อต่อทุกชนิดจะมีของเหลวเป็นเมือกคล้ายไข่ขาวดิบ ของเหลวนี้ทำหน้าที่หล่อลื่นทำให้การเคลื่อนไหวสะดวก เรียกว่า น้ำเลี้ยงไขข้อ ในคนสูงอายุจะมีน้อยลงการเคลื่อนไหวจึงติดขัดไม่ค่อยสะดวก

3) การบำรุงรักษากระดูกและการพัฒนาโครงร่างและท่าทางที่ดี ความผิดปกติของกระดูกอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น โรคบางชนิด ระดับฮอร์โมนผิดปกติ การขาดสารอาหารแคลเซียม วิตามินดี การถ่ายทอดทางพันธุกรรม อุบัติเหตุ และหน้าที่สำคัญการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ไม่ถูกต้องติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ

การพัฒนาโครงร่างและท่าทางที่ดี มีวิธีการปฏิบัติดังนี้

3.1) การยืนที่ถูกต้องและถูกสุขลักษณะ ปฏิบัติดังนี้

- กระดูกสันหลังเรียงตัวในลักษณะแอ่นเล็กน้อยที่ระดับคอ

- งอที่ระดับทรวงอกเล็กอก

- แอ่นเล็กน้อยที่ระดับเอว

นั่นคือถ้ายืนหันหลังระดับส้นเท้า ตะโพก ไหล่ ศีรษะต้องอยู่แนวเดียวกัน

3.2) การนั่งที่ถูกต้องและถูกสุขลักษณะ ปฏิบัติเหมือนกับท่ายืน นั่งลงตรง ๆ รักษาลำตัวส่วนบนให้อยู่ในลักษณะเดิม ส่วนหลังระดับเอวแนบพนักพิงของเก้าอี้ ปลายเท้าควรมีที่รองรับปลายเท้าให้กระดกขึ้นเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องเท้า

3.3) การเดินที่ถูกต้องและถูกสุขลักษณะ ลำตัวอยู่ในลักษณะการยืน การก้าวเท้าและจังหวะการเคลื่อนไหวของมือเป็นไปตามธรรมชาติ ระวังหลังไม่ค่อม ไม่ส่ายตัวไปมา การเดินที่เอาส้นเท้าลงทำให้เดินได้นานกว่าการเอาปลายเท้าลง

3.4) การยกของที่ถูกต้อง การทำงานในที่ระดับต่ำกว่าเอว หรือเก็บของบนพื้น หรือการยกของหนัก ๆ ให้ใช้วิธีการย่อเข่าลงแล้วลุกขึ้นโดยใช้กำลังขาดันขึ้น ห้าม ก้มตัวลงเด็ดขาด จะทำให้ได้รับอันตรายกระดูกสันหลังอาจไปทับประสาทส่วนหลังทำให้พิการได้

การเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ ถ้ากระทำให้ถูกต้องจนเป็นนิสัย ย่อมช่วยส่งเสริมให้ร่างกายมีบุคลิกภาพที่ดี

การเจริญเติบโตของกระดูก

กระดูกต่าง ๆ ในร่างกายของคนเรานั้น จะเริ่มเจริญเป็นกระดูกอ่อนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เมื่อคลอดออกมาและร่างกายเจริญเติบโตขึ้น กระดูกอ่อนจะค่อย ๆ แข็งตัวขึ้น โดยรับเอาแร่ธาตุต่าง ๆ เข้าไปสะสมทำให้กระดูกแข็ง การเจริญเติบโตของกระดูกจะเริ่มที่จุดศูนย์กลาง บริเวณตอนกลางของแกนกระดูก แล้วขยายออกไปทั้งสองด้านรอบโพรงกระดูก จากนั้นจะเจริญเติบโตโดยมีจุดศูนย์กลางบริเวณปลายกระดูกทั้งสองข้าง ทำให้กระดูกยืดยาวออกไป ในเพศชายการเจริญเติบโตของกระดูกจะมีมากในช่วงอายุระหว่าง 18 – 21 ปี โดยฮอร์โมนจากอัณฑะเป็นตัวกระตุ้น ส่วนในเพศหญิงจะมีมากในช่วงอายุระหว่าง 16 – 18 ปี โดยมีฮอร์โมนจากรังไข่เป็นตัวกระตุ้น และกระดูกจะเจริญจนถึงวัยประมาณ 25 ปี ก็จะหยุดการเจริญเติบโต

การบำรุงรักษากระดูก

1. รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มีมากในน้ำนม ไข่ ถั่งเหลืองแห้ง เนื่องจากแคลเซียมและฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกระดูกและฟัน และช่วยเหลือป้องกันโรคกระดูกอ่อน และวิตามินดีที่มีในอาหาร เช่น น้ำนม ไข่แดง น้ำมันตับปลา ผักสด เป็นต้น และร่างกายจะสร้างวิตามินดีขึ้นเมื่อได้รับแสงอุลตา-

ไวโอเลต ซึ่งวิตามินดีจะมีส่วนช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน และป้องกันโรคกระดูกอ่อน

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้กระดูกเจริญเติบโตและแข็งแรงขึ้นและข้อต่อส่วนต่าง ๆ ของกระดูกมีการเคลื่อนไหวดีขึ้น

3. อย่าให้น้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้กระดูกรับน้ำหนักมากตลอดเวลา ทำให้บริเวณข้อต่อชำรุด น้ำหนักตัวถ้าพอเหมาะจะทำให้ข้อเสื่อมช้าไม่ปวดข้อต่อ

4. เคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกต้อง การพัฒนาท่าทางการทรงตัว หรือการเคลื่อนไหวของร่างกาย ได้แก่ การยืน เดิน นั่ง นอนให้ถูกต้อง เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้และจะช่วยให้มีโครงร่างและบุคลิกภาพที่ดี

โรคเกี่ยวกับกระดูก โรคต่าง ๆ ที่เกิดกับกระดูกมาจากหลายสาเหตุ

1. จากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กระดูกผุ เนื่องจากกินยาแก้ปวดมากเกินไป

กระดูกเปราะ เนื่องจากสารแคดเมี่ยม

กระดูกโค้งงอ จากการขาดไวตามิน

ปวดหลัง เนื่องจากแคลเซียมไปเกาะบริเวณรอยต่อ แล้วไปทับเส้นประสาท

2. จากพันธุกรรม บิดา มารดาเป็นโรคกระดูกเปราะบางอยู่แล้ว มีโอกาสถ่ายทอดให้บุตรได้มาก

3. จากอายุมาก กระดูกถูกใช้โดยเอาสารแคลเซียมออกมา แต่ไม่มีเพิ่มเติมทำให้กระดูกบาง ชำรุดได้ง่าย

4. จากเชื้อโรค เช่น วัณโรคที่กระดูก มะเร็งที่กระดูก


หน้าที่ของโครงกระดูก (โครงร่าง)

1. เป็นโครงร่างของร่างกาย ช่วยค้ำจุนและรองรับน้ำหนักทำให้ร่างกายทรงรูปร่างอยู่ได้

2. เป็นที่ยึดเกราะของกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้

3. เป็นที่อยู่ของไขกระดูก (ไขกระดูกมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง อยู่ในโพรงกระดูก)

4. สร้างเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ (ไขกระดูก) และเกล็ดเลือด

5. ป้องกันอวัยวะสำคัญของร่างกายไม่ให้เป็นอันตราย เช่น สมอง หัวใจ ปอด เป็นต้น

6. หล่อลื่น (แผ่นกระดูกอ่อนระหว่างรอยต่อกระดูกชั้นต่าง ๆ )

7. ช่วยยกและพยุงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ลำไส้ มดลูก เป็นต้น


เรียน...รู้...สู่ปฏิบัติ

  1. ให้นักเรียนฝึกการเคลื่อนไหวร่างกาย (ยืน เดิน นั่ง นอน และการยกของหนัก) ด้วยท่าทางที่ถูกต้องแล้ววิเคราะห์ว่าการเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกต้องเหมาะสมมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะเหตุใด

  2. การออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประจำจะมีประโยชน์ต่อกระดูกอย่างไร

  3. นักเรียนจะมีวิธีบำรุงรักษากระดูกให้มีความแข็งแรงได้อย่างไร