ระบบห่อหุ้มร่างกาย (Integumentary system)

ระบบห่อหุ้มร่างกายประกอบด้วยผิวหนัง ขน และเล็บ ส่วนที่เป็นผิวหนังเป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบ


1) ผิวหนัง (Skin)

เป็นส่วนที่สำคัญและซับซ้อนมาก มีหน้าที่ห่อหุ้มร่างกายทั้งหมด เป็นอวัยวะที่มีพื้นที่มากที่สุดของร่างกาย ใช้เลือดหล่อเลี้ยงในปริมาณ 1/3 ของเลือดในร่างกาย ผู้ที่มีสุขภาพดีจะต้องปราศจากโรคผิวหนังและรอยด่างดำ มีผิวพรรณเปล่งปลั่งสวยงาม ส่วนผู้ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ผิวหนังจะซีดเซียว แห้งหรืออาจเป็นโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น เป็นผดผื่นคัน หิด กลาก เกลื้อน เป็นต้น ผิวหนังจึงแสดงให้เห็นถึงระดับสุขภาพของคนเราได้

โครงสร้างของผิวหนัง แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ได้แก่

1.1) ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เป็นผิวหนังชั้นนอก มีลักษณะบางมากประกอบด้วยเยื่อบุผิวและเซลล์บุผิวที่ตายแล้วเรียงกันเป็นลำดับชั้นต่าง ๆชั้นในสุดประกอบด้วยเซลล์ผิวที่ยังมีชีวิตทำหน้าที่แบ่งเซลล์มาดแทนเซลล์ชั้นนอกสุดที่ตาย และหลุดออกมาเป็นขี้ไคล (Keratin) และมีเซลล์ที่มีสารเมลานิน ทำให้เกิดสีผิวช่วยดูดรังสีอัลตร้าไวโอเลตไม่ให้ผ่านเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งผิวหนังของแต่ละคนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเซลล์สีที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin pigments) ที่อยู่ชั้นลึกสุดของผิวหนังกำพร้า ถ้ามีเมลานินมากผิวจะมีสีคล้ำ ถ้ามีเมลานินน้อยผิวจะมีสีขาว

1.2) ชั้นหนังแท้ (Dermis)ประกอบด้วยเนื้อเยื่อหลายชนิด ทำให้ผิวหนังเหนียวยืดหยุ่นได้ และยังมีต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน ประสาทสัมผัสชนิดต่าง ๆ และหลอดเลือดจำนวนมากมาย ถัดจากหนังแท้เป็นชั้นไขมัน ประกอบด้วยเนื้อเยื่อไขมัน ทำหน้าที่ในการป้องกันการสูญเสียความร้อน และรองรับการสะเทือน เมื่ออายุมาก ๆ ชั้นไขมันจะสลายหายไปบางส่วน

2) หน้าที่ของผิวหนัง

1. ป้องกันอวัยวะภายใน เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผิวหนัง เพราะผิวหนังเป็นสิ่งที่ห่อหุ้มร่างกายเอา

2. ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ อุณหภูมิของร่างกายปกติจะอยู่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส

3. ขับถ่ายของเสียออกจากต่อมเหงื่อออกทางรูเหงื่อ เพื่อกำจัดของเสียและระบายความร้อนออกจากร่างกาย อีกทั้งทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นทั่วร่างกาย ทั่วร่างกายของเรามีต่อมเหงื่อประมาณ 2 ล้านต่อม มีมากที่สุดบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า

4. ขับน้ำมันออกจากต่อมไขมันออกทางรูขน ทำให้ผิวหนังไม่แห้งแตกและยังช่วยลดแสงแดดที่ตกกระทบผิวหนังให้มีการสะท้อนได้มากขึ้นอีกทั้งช่วยป้องกันน้ำที่จะไหลเข้า – ออกทางผิวหนัง

5. เป็นแหล่งสร้างวิตามินดีให้แก่ร่างกาย โดยอาศัยแสงแดดช่วยสังเคราะห์สารเฮอร์โกสเตอรอยที่อยู่ในผิวหนังให้เป็นวิตามินดี เพื่อป้องกันโรคกระดูกอ่อน

6. รับความรู้สึกโดยมีปลายประสาทรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ร้อน เย็น เจ็บปวดกระจายในชั้นผิวหนังดังต่อไปนี้

ชั้นหนังกำพร้า ปลายประสาทรับความเจ็บปวด สัมผัส

ชั้นหนังแท้ ปลายประสาทรับความเย็น

ชั้นไขมัน ปลายประสาทรับความร้อน แรงกดดัน


ความผิดปกติของผิวหนังที่พบบ่อย


สิว (Acne)

เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในช่วงวัยรุ่น ส่งผลให้ต่อมไขมันขับไขมันออกมามาก เมื่อไขมันแข็งตัวอุดตันต่อมไขมันและรูขนก็จะทำให้เกิดสิวเสี้ยน และถ้าถูกไขมันที่ต่อมไขมันขับออกมาใหม่ดันจนนูนขึ้นจะเป็น หัวสิว ถ้ามีเชื้อแบคทีเรียคุกคามเข้าไปยังต่อมไขมันและรูขนที่เป็นสิวนั้น ก็จะเกิดการอักเสบ บวมแดงและเป็นหนอง ซึ่งบางคนเรียกสิวชนิดนี้ว่า สิวหัวช้าง นอกจากนี้ สิวยังอาจเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในต่อมไขมันใต้ผิวหนังมีมากผิดปกติ อากาศที่ร้อนและชื้นทำให้เหงื่อออก ผิวหนังสกปรก ภาวะที่ตึงเครียด หงุดหงิด และการใช้เครื่องสำอางที่เป็นน้ำมันหรือครีมอาจทำให้มีการอุดตันของรูขนและเป็นสาเหตุทำให้เกิดสิวได้ เมื่อเป็นสิวควรล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดบ่อย ๆ อย่าใช้มือแกะหรือบีบหัวสิวเพราะจะเพิ่มความสกปรก และทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ หรือหวานจัด เช่น ไอศกรีม ช็อกโกแลต ลูกกวาด เป็นต้น นอกนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เลิกวิตกกังวลและหมกหมุ่นในสิ่งต่าง ๆ มากเกินไป หากเป็นสิวมาก ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรนำยาของคนอื่นมารักษาสิว เพราะการเกิดสิวในแต่ละคนจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับสุขภาพ ฮอร์โมน และกรรมพันธุ์

ตาปลา (Corn)

เกิดจากแรงกดหรือมีแรงเสียดสีผิวหนังบริเวณนั้นบ่อย ๆ ทำให้ผิวหนังค่อย ๆ ด้าน และหนาตัวขึ้น มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ แข็ง ๆ และจะเจ็บปวดมากเมื่อเม็ดกลม ๆ นั้นกดลงบนเนื้ออ่อนที่อยู่ด้านล่างลงไป โดยทั่วไปตาปลามักจะเกิดบริเวณนิ้วเท้าหรือฝ่าเท้า เนื่องจากใส่รองเท้าที่คับเกินไป วิธีป้องกันไม่ให้เกิดตาปลาที่ดีที่สุด คือ การสวมรองเท้าที่ไม่คับหรือไม่บีบเท้า และเมื่อเป็นแล้วหากจะตัดทิ้งหรือคว้านออกต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดเพราะอาจจะอักเสบและติดเชื้อโรคได้




กลิ่นตัว (Odour)

เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของกรดไขมันจากต่อมเหงื่อ เซลล์บุผิวที่ตายแล้ว เหงื่อรวมกับแบคทีเรียและความชื้นเกิดเป็นกลิ่นตัวขึ้น หากมีกลิ่นตัวควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งฟอกสบู่ โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ขาหนีบใต้คอและหลังหู แล้วเช็ดตัวให้แห้ง ถ้ามีกลิ่นตัวแรง อาจใช้ก้อนสารส้มหรือลูกกลิ้งระงับกลิ่นเหงื่อทาบริเวณรักแร้หลังอาบน้ำทุกครั้ง ดื่มน้ำสะอาดวันละมาก ๆ


โรคราที่เท้า หรือฮ่องกงฟุต (Hong Knong's foot) หรือโรคเท้านักกีฬา

เกิดจากติดเชื้อราที่เท้า เนื่องจากรองเท้าอับชื้นหรือเดินลุยน้ำสกปรก ทำให้มีอาการคันบริเวณซอกนิ้วเท้า และอาการคันจะเพิ่มมากขึ้น ถ้ามีการเกาด้วยจะทำให้ผิวหนังลอกเป็นขุย ๆ มีกลิ่นเหม็น หากเป็นนาน ๆ ผิวหนังบริเวณนั้นจะมีเนื้อนูนหนา แข็ง และลอกออกเป็นขุย ๆ สามารถลามไปยังนิ้วใกล้เคียงได้ การป้องกันและรักษาทำได้โดยการล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งสนิท พยายามอย่าให้เท้าอับชื้นในกรณีที่มีเหงื่อออกบริเวณเท้ามากอาจใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณง่ามนิ้วเท้า เพื่อช่วยให้นิ้วเท้าและฝ่าเท้าแห้งได้ โรคเชื้อราที่เท้ามีการรักษาค่อนข้างยาก ควรจะปรึกษาแพทย์และเมื่อหายแล้วไม่ควรนำถุงเท้าและรองเท้าคู่เดิมมาใช้อีก เพราะยังมีเชื้อราอยู่ ถ้าจะนำมาใช้ควรนำไปฆ่าเชื้อโดยการต้มหรืออบฟอร์-มาลีนเพื่อให้เชื้อตายก่อน



ผิวหนังแห้งกร้าน (Dry skin)

เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอกผิดปกติ เช่น ลมแรง อากาศร้อนจัด หนาวจัด หรืออากาศแห้งมาก การฟอกสบู่บางชนิด เช่น สบู่ยา หรือใช้สบู่บ่อยครั้งเกินไปทำให้ไขมันที่ผวิหนังลดน้อยลง ผิวหนังไม่อาจรักษาความชื้นไว้ได้จึงแห้ง เป็นขุยและแตกอย่างรุนแรง มีอาการคันและแสบ อาจติดเชื้อทำให้ผิวหนังอักเสบได้ การป้องกันให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น หนาวจัด ร้อนจัด และสวมใส่เสื้อผ้าที่ให้หนังแห้งและแตกมากขึ้น ควรใช้น้ำมันหรือครีมทาผิวเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังไว้และป้องกันไม่ให้น้ำระเหยออกจากผิวหนังมากเกินไป และควรระมัดระวังในการอาบน้ำอุ่น การใช้กระเป๋าน้ำร้อน การผิงไฟกลางแจ้ง เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งและแตกมากยิ่งขึ้น

เกลื้อน (Tinea versicolor)

เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง พบมากในผู้ที่ประกอบอาชีพที่อยู่ในอุณหภูมิสูงมีเหงื่อออกมาก มีความชื้นสูง หรือสกปรกเปรอะเปื้อนพวกไขมันและฝุ่นละออง เช่น นักกีฬา ทหาร ตำรวจจราจร ผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ลักษณะของเกลื้อนที่ผิวหนังจะเป็นปื้น ๆ มีขนาดต่าง ๆ กัน อาจมีสีค่อนข้างแดง น้ำตาล ขาวซีด อาจมีสะเก็ดบาง ๆ เล็ก ๆ เป็นต้น การป้องกันและรักษาทำได้โดยอาบน้ำและแห้งอยู่เสมอ ไม่คลุกคลีหรือใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มร่วมกับผู้เป็นเกลื้อน และถ้าเป็นเกลื่อนให้ใช้ขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อนทาบริเวณที่เป็น ถ้ามีอาการลุกลามมากขึ้นให้ไปพบแพทย์



กลาก (Ring worm)

เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อราหลายชนิด กลากจะขึ้นทั่วไป และมีลักษณะต่าง ๆ กันตามตำแหน่งของผิวหนังที่เป็น เช่น ที่ศีรษะ ลำตัว ขาหนีบ ก้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อรา อาการโดยทั่วไป จะเป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง จากจุดเล็ก ๆ แล้วขยายออกเป็นวงเดียว หรือสองสามวงแล้วลามมาติดกันเป็นวงใหญ่ มีอาการคันบ้างแต่ไม่มากนัก และติดต่อสู่ผุ้อื่นได้ มีการป้องกันและรักษาเช่นเดียวกับเกลื้อน



ฝี (Avscess)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่บนผิวหนังทั่วไป ทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณรอบ ๆ ขุมขน ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน หรือทางรากผม ต่อมาเป็นหนอง ระยะแรกจะมีลักษณะบวมแดง แข็ง และร้อนบริเวณที่เป็น เจ็บมาก เริ่มจากเป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือก้อนแข็ง แล้วโตอย่างรวดเร็ว มีหัวหนองสีเหลืองตรงกลาง ต่อมาหัวหนองอ่อนตัวลงจนมีลักษณะนุ่มเหลว มีหนองสีเหลือง เหนียวเหลว ซึ่งมีเชื้อโรคปะปนอยู่มาก และอาจกระจายไปสู่ที่อื่น ๆ ของร่างกายได้ การป้องกันและรักษา อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และรักษาผิวหนังให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้เล็บหรือมือที่สกปรกแกะ เกา ผิวหนัง หากเป็นฝีห้ามบีบหรือบ่งหัวฝีจนกว่าจะมีอาการอ่อนนุ่มที่ตรงกลาง ถ้าฝีไม่แตกออก หรือเป็นหนองควรไปพบแพทย์ ถ้าปวดหรือมีไข้ให้กินยาลดไข้

สังคัง (Tinea Cruris)

สาเหตุ เกิดจากการได้รับเชื้อราและเชื้อรานั้นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมที่จะลุกลามต่อไปเป็นวงกว้าง เชื้อรามักอยู่ในเซลล์ที่ตายแล้วบริเวณขาหนีบและเนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน อากาศชื้น เหงื่อออกตามร่างกายได้ง่ายโดยเฉพาะบริเวณขาหนีบซึ่งเป็นมุมอับ อากาศระบายเข้า - ออกไม่ดีทำให้เกิดการหมักหมมของเชื้อราเป็นแหล่งแพร่เชื้อราไปเลย

อาการ คันอย่างรุนแรงบริเวณที่เป็น (ขาหนีบ) จะเกิดเป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง ต่อมาจะเริ่มเป็นตุ่มแดงขยายออกไปเป็นวงกว้างขึ้น บริเวณขอบวงจะนูนแดงและมีขุยขาว ๆ อาการคันจากการเป็นสังคังจะทำให้รู้สึกรำคาญอยู่นิ่งไม่ได้ต้องเกาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเกายิ่งคัน ยิ่งเกายิ่งมัน หากเกาแรงเกินไปอาจทำให้ผิวหนังถลอกทำให้ทั้งคันและแสบผสมกันไป ทำให้คนที่เป็นสังคังเสียบุคลิกภาพที่ดีไปเลย

วิธีป้องกันและรักษา เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มมีอาการคันบริเวณขาหนีบ อย่าชะล่าใจปล่อยให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ให้รีบไปหาหมอเพื่อทำการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยากินหรือยาทาที่ได้รับมาจากหมอ ให้ใช้ยานั้นอย่างต่อเนื่องตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัดและที่สำคัญคือเมื่ออาการสังคังทุเลาหรือดีขึ้นแล้วอย่าหยุดใช้ยาโดยเด็ดขาด ให้ใช้ยาต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นสังคังซ้ำอีก


3) การบำรุงรักษาผิวหนัง

1. ทำความสะอาดผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย

2. ป้องกันและหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้โดนแสงแดดมากเกินไป

3. ดูแลผิวหนังมิให้เกิดความผิดปกติบนผิวหนัง เช่น สิว เกลื้อน จุดด่างและโรคคันต่าง ๆ

4. กินอาหารส่งเสริมสุขภาพผิวหนัง เช่น โปรตีน ผัก ผลไม้ที่มีวิตามิน เอ บี ซี


4) การบำรุงรักษาระบบห่อหุ้มร่างกายอื่น ๆ


4.1) เล็บ ส่วนของเล็บที่เลยหนังกำพร้าออกมาเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว ส่วนที่อยู่ในหนังกำพร้าเป็นส่วนที่มีชีวิตสามารถแบ่งเซลล์ได้ การตัดเล็บมือให้ตัดมนตามนิ้วมือ ส่วนเล็บเท้าให้ตัดตรง เล็บที่มีสุขภาพดีจะมีแผ่นเล็บเรียบสีชมพูเรื่อ ๆ ตามสีของเลือดที่สะท้อนผ่านเล็บขึ้นมา แต่ถ้าเป็นโรคโลหิตจางเล็บจะมีสีซีดขาว หมั่นรักษาเล็บให้สะอาดอยู่เสมอ

หน้าที่ของเล็บ เล็บช่วยให้การหยิบจับสิ่งต่าง ๆได้สะดวก ใช้สำหรับแคะ แกะ เกา ข่วน และช่วยป้องกันไม่ให้ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าได้รับอันตรายได้โดยง่าย

ความผิดปกติเกี่ยวกับเล็บ ได้แก่

เล็บขบ (Ingrown nail) มักเป็นกับนิ้วหัวแม่เท้าที่เกิดจากการงอกของเล็บที่กดลึกเข้าไปในเนื้อบริเวณซอกเล็บ ทำให้เกิดความเจ็บปวด อาจเป็นแผล ถ้าติดเชื้อก็จะเกิดการอักเสบได้

การป้องกันรักษา ให้ตัดเล็บเป็นแนวตรง ไม่ควรตัดสั้นจนเกินไป ถ้ามีอาการเล็บขบให้ทำความสะอาดมุมเล็บ ใช้สำลีชุบยาฆ่าเชื้ออุดไว้ใต้เล็บ

เชื้อราที่เล็บ (Tinea unguium) ส่วนใหญ่จะเป็นกับผู้ทำงานที่ทำให้มือต้องเปียกน้ำอยู่เป็น

ประจำ หรือเท้าอยู่ในที่อับชื้น อาการส่วนมากจะเป็นที่ซอกเล็บก่อน แล้วลามออกไปยังผิวหนังข้างเล็บและตัวเล็บ เล็บจะเปลี่ยนสีเป็นสีขาวขุ่นหรือสีเหลืองจะเกิดมีขุยสะสมอยู่ใต้เล็บ ทำให้เล็บแยกออกจากเนื้อแล้วค่อย ๆ กร่อนลงที่ตอนปลายแล้วลามต่อไปจนถึงโคนเล็บ

การป้องกันรักษา ตัดเล็บให้สั้น รักษาเล็บให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ ไม่ควรเกาบริเวณที่เป็นเชื้อราเพราะเชื้อราจะติดเล็บมาได้ ถ้าต้องโดนน้ำบ่อยหรือโดนน้ำเป็นเวลานานให้ใช้ถุงมือยางสวมก่อน ถุงเท้ารองเท้าควรรักษาให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น ถ้าเล็บเป็นเชื้อราให้ใช้ขี้ผึ้งรักษาเชื้อราทาบริเวณที่เป็น ถ้ามีอาการมากควรปรึกษาแพทย์


4.2) ขนหรือผม (Hair) งอกออกมาจากขุมขน ที่โคนขนเป็นส่วนที่มีชีวิตได้รับการหล่อเลี้ยงจากเส้นเลือดฝอยและมีเส้นประสาทพันรอบโคนขน มีกล้ามเนื้อช่วยให้ขนลุกชันเมื่อมีอากาศหนาวเย็น เส้นผมหรือเส้นขนจะเหยียดหรืองอขึ้นอยู่กับลักษณะของรูขุมขน ส่วนของเส้นผม เส้นขนที่งอกเลยหนังกำพร้าขึ้นมาเป็นส่วนที่ไม่มีชีวิต เส้นผมจะมีต่อมใในเซลล์เส้นผมที่ผลิตเม็ดสีลงไปในแต่ละเซลล์ของเส้นผม เม็ดสีเหล่านี้จะมีสีต่าง ๆ คือ ดำ น้ำตาลเข้ม และเหลืองปนแดง สีของเส้นผมขึ้นอยู่กับเม็ดสีเหล่านี้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน คนเราเมื่ออายุมากขึ้นการสร้างเม็ดสีจะลดน้อยลงจนกระทั่งหยุดสร้าง ผมจะเริ่มมีสีอ่อนลงและหงอกขาวในที่สุด เส้นผมแต่ละเส้นจะมีอายุประมาณ 7 ปี แล้วจะหลุดร่วงไป และจะมีเส้นใหม่งอกขึ้นมาแทนที่ในรูขุมขนเดิม

หน้าที่ของเส้นผม เส้นผมมีหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้หนังศีรษะได้รับความร้อนหรือความเย็นมากเกินไปและยังช่วยลดความรุนแรงจากอันตรายต่าง ๆ ที่มากระทบศีรษะ นอกจากนี้เส้นผมยังช่วยเสริมความงามให้แก่ใบหน้าและซับเหงื่อหรือสิ่งสกปรกหรือช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอีกด้วย

ความผิดปกติของเส้นผม ได้แก่

ผมร่วง (Alopecia) ผมของคนเราจะร่วงได้ตามธรรมชาติแล้วงอกขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลาแต่ถ้าหากร่วงมากกว่าปกติก็อาจจะมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหาร การเจ็บป่วยด้วยโรค เชื้อรา แพ้ยาสระผม หรืหอเกิดจากต่อมน้ำมันที่โคนผมไม่ผลิตน้ำมันมาหล่อเลี้ยงเส้นผม เป็นต้น การป้องกันรักษา รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการจะช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการเป่าผมด้วยความร้อน การย้อมผม การดัดผม และเมื่อเกิดความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์

รังแค ( Dandruff) เกิดจากผิวหนังหรือเซลล์ที่ตายแล้วแห้งหลุดออกมาเป็นแผ่นหรือเป็นขุย ๆ มักเกาะติดอยู่กับเส้นผม ทำให้คันศีรษะและเป็นสาเหตุให้ผมร่วงได้ การป้องกันรักษา หมั่นสระผมเป็นประจำด้วยยาสระผมอ่อน ๆ หวีหรือแปรงผมบ่อย ๆ งดใช้น้ำมันหรือครีมใส่ผม หากรังแคยังไม่หายควรรีบปรึกษาแพทย์


5) การบำรุงรักษาระบบห่อหุ้มร่างกาย

ระบบห่อหุ้มร่างกายทุกส่วนล้วนมีความสำคัญต่อร่างกาย เราจึงควรบำรุงรักษาอวัยวะทุกส่วนให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ดังนี้

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะสารอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของผิวหนัง เช่น พวกโปรตีน ผัก ผลไม้ที่มีวิตามินเอ

วิตามินบี และวิตามินซี

2. ออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ต่อมต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ผิวหนังได้ทำงาน และการได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้าและตอนเย็นร่างกายจะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งจะทำให้ผิวหนังแข็งแรงสมบูรณ์ ผิวพรรณเปล่งปลั่ง

3. ชำระล้างร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ ได้แก่ การอาบน้ำ การกำจัดกลิ่นตัว การสระผม การรักษาผมและการตัดเล็บ โดยเฉพาะการอาบน้ำอุ่นจะช่วยผ่อนคลายความเครียดของกล้ามเนื้อ และทำความสะอาดผิวหนังได้ดี นอกจากนี้ยังทำให้โลหิตไหลเวียนไปเลี้ยงผิวหนังได้มาก ช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า การใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่สะอาดจะช่วยป้องกันโรคผิวหนังบางชนิด เช่น กลาก เกลื้อน ได้อีกด้วย

4. การเลือกใช้เครื่องสำอาง เช่น ยาสระผม สบู่ ครีมบำรุงผิว ให้เหมาะสม มิฉะนั้นอาจเกิดอาการแพ้ เป็นผื่นคัน หรือเกิดสิวได้

5. พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ

เรียนรู้...สู่...ปฏิบัติ

1. วาดภาพระบายสีแสดงโครงสร้างของผิวหนัง เล็บ และผม พร้อมกับบอกหน้าที่ที่สำคัญ (อยู่ในClass Room)

2. แบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน รวมกันคิดวิเคราะห์ เรื่อง ความผิดปกติของผิวหนัง เล็บ และผมที่นักเรียนสนใจ นำมาวิเคราะห์ สรุปสาเหต อาการ และแนวทางป้องกันแก้ไข ลงในกระดาษA4 1แผ่น (นำเสนอหน้าชั้นเรียน)

3. เขียนแนวทางการบำรุงรักษาระบบห่อหุ้มร่างกายของตนเองใน 1 สัปดาห์ แล้วนำไปปฏิบัติจริง

4. หาข่าวหรือบทความจากหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารเกี่ยวกับเรื่อง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผิวหนังแล้วนำมาวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา