หน่วยที่ 9

การควบคุม

1.ความหมายของการควบคุม


(The definition of control)

การควบคุมมีนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้หลาย ๆ ท่าน ซึ่ง

ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี (2551 : 120) ได้กล่าวว่า การควบคุม หมายถึง กระบวนการที่ผู้บริหารดำเนินการเพื่อที่จะทำให้บางสิ่งเกิดขึ้นตามที่ได้วางแผนว่าจะให้เกิดขึ้น เป็นความพยายามที่เป็นระบบเพื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติงานกับมาตรฐาน แผน หรือ วัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้เบื้องต้น เพื่อตัดสินว่าการปฏิบัติงานใดที่ดำเนินไปตามทิศทางที่วางไว้ หรือการปฏิบัติการใดที่ต้องการแก้ไข

สาคร สุขศรีวงค์ (2551 : 187) ได้กล่าวว่า การควบคุม หมายถึง การติดตามตรวจสอบการทำงานในส่วนต่าง ๆ ขององค์การ เพื่อให้ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเป็นไปตามมาตรฐาน หรือเป้าหมายที่กำหนด

อนิวัช แก้วจำนง (2552 : 240)ได้กล่าวว่า การควบคุม หมายถึง การวินิจฉัยและ การตรวจสอบการดำเนินงานโดยเทียบกับแผนงานหรือเป้าหมายที่องค์การกำหนดไว้และทำการแก้ไขเมื่อพบว่าคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ

สรุปการควบคุม หมายถึง การกำกับดูแลติดตามตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ ขององค์การเป็นไปตามมาตรฐาน แผน วัตถุประสงค์ เป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ


2. ความสำคัญของการควบคุม (The importance of control)

2.1 ผู้บริหารใช้เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยสั่งการ และตรวจสอบการปฏิบัติงานของส่วนต่าง ๆ ขององค์การว่าเป็นไปตามแผนที่กำหนดหรือไม่ เพราะการควบคุมมีความสัมพันธ์กับการวางแผน ซึ่งการวางแผนเป็นการมององค์การไปข้างหน้า รู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ส่วนการควบคุมเป็นการตรวจสอบการทำงานอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นผู้บริหารสามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานต่าง ๆ ในองค์การว่าเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้หรือไม่

2.2 ผู้บริหารสามารถติดตามความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ในการทำงาน และสามารถแก้ไขได้ทันเวลา ระบบการควบคุมทำหน้าที่ในการเป็นเครื่องมือช่วยชี้บอกปัญหา โดยช่วยเป็นเครื่องมือในการวัดและตรวจสอบผลงานอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถทราบถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า และทำให้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงสถานการณ์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การที่กำหนดไว้

2.3 การควบคุมช่วยให้ องค์การสามารถปรับตัวรับกับความไม่แน่นอนหรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ระบบการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้องค์การสามารถปรับตัวรับกับปัญหาความไม่แน่นอนที่องค์การต้องเผชิญอยู่ได้ โดยการเป็นเครื่องมือช่วยพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงลักษณะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจริง เช่น สามารถบอกให้ทราบได้ว่า ยอดการผลิตหรือยอดการขายกำลังเคลื่อนไหวหรือมีในแนวโน้มที่เคลื่อนไปตามสภาวะขึ้นลงของระบบเศรษฐกิจในกรณีนี้ก็จะทำให้องค์การสามารถแก้ไขการขึ้นลงนั้นให้เป็นไปในแนวทางที่มั่นคงได้

2.4 ผู้บริหารสามารถกระจายภาระงาน หรืออำนาจหน้าที่ไปสู่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ การควบคุมที่เป็นระบบและมีความต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริหารใช้การควบคุมเป็นเครื่องมือบริหารจัดการ และกระตุ้นเตือนหรือจูงใจบุคลากรในองค์การ ให้ปฏิบัติงาน และการควบคุมจะทำให้ผู้บริหารทราบว่า บุคคลใดทำงานต่ำกว่ามาตรฐานบุคคลใดทำงานได้สูงกว่ามาตรฐาน อันจะช่วยให้ผู้บริหารพิจารณามอบอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงาน หรือมอบภาระงานให้แก่บุคคลอย่างเหมาะสมทำให้องค์การสามารถบรรลุวัตถุประสงค์

2.5 องค์การสามารถจำกัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การควบคุมเป็นการบังคับให้ผลงานมีมาตรฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้สูงขึ้นและต้องการลดต้นทุนในการดำเนินงานลง จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเวลาที่ใช้ในแต่ละแผนงาน การกำหนดวิธีปฏิบัติ การจัดตารางเวลาที่ใช้ไปมากน้อยเพียงใด การกำหนดนโยบาย การใช้เงินงบประมาณ การทำคู่มือการปฏิบัติงาน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผู้บริหารมักจะจัดทำขึ้น เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างคุ้มค่า


ที่อยู่: วิทยาลัยเทคโนโลยีอินเตอร์พัฒนศาสตร์ 29/3 ถนน นิตโย ตำบล หนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม นครพนม 48000

โทรศัพท์: 042 515 888