นวตกรรม“ ตะกร้าน้อย...พิชิตลูกน้ายุงลาย” ร.พ.สต.บางจัก

นวตกรรม

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง Tel. 0-3566-9191

ชื่อนวตกรรม “ ตะกร้าน้อย...พิชิตลูกน้ำยุงลาย”

ที่มาของนวตกรรม

ด้วยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางจัก ย้อนหลัง 5 ปี (พ.ศ. 2555 – 2559) เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกทุกปี ซึ่งพบว่าปี 2555 พบผู้ป่วย 2 รายคิดเป็นอัตราป่วย 45.99 ปี 2556 พบผู้ป่วย 7 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 158.55 ต่อแสนประชากร ปี 2557 พบผู้ป่วย 2 รายคิดเป็นอัตราป่วย 45.90 ต่อแสนประชากรปี 2558 พบผู้ป่วย 5 รายคิดเป็นอัตราป่วย 130.11 ต่อแสนประชากรและ ปี 2559 พบผู้ป่วย 15 รายคิดเป็นอัตราป่วย 427.23 ต่อแสนประชากร ซึ่งเกินกว่า เป้าหมายทุกปี (เป้าหมาย กำหนดไว้ไม่เกิน 50 ต่อแสนประชากร)

จากอดีตถึงปัจจุบัน ได้มีการดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยวิธีการต่างๆ ตามหลักวิชาการควบคุมโรคมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่การใส่สารเคมี ทีมีฟอส ในภาชนะน้ำขัง การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย การจัดสิ่งแวดล้อมในชุมชน การให้ความรู้โดยการประชุมกลุ่ม การแจกเอกสาร หรือการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านสื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่ง การรณรงค์พ่นหมอกควันกำจัดยุงลายโดยองค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดจนมีการจัดประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การระบาดของโรค โดยจัดเวทีประชาคมเพื่อหามาตรการแนวทางป้องกัน ควบคุมโรคร่วมกัน แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ ยังมีการระบาดและพบผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้อาจมีปัจจัยหลายๆอย่าง ที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ประชาชนส่วนมากยังไม่ตระหนัก ไม่เห็นความสำคัญ ไม่ใส่ใจในเรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ในบ้านเรือนของตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่องคือเมื่อพบลูกน้ำแล้วยังทำนิ่งเฉย ไม่กระตือรือร้นที่จะเร่งรีบกำจัด คิดว่าเป็นหน้าที่ ของ อสม. ประกอบกับ การเตรียมความพร้อมของ ทีม วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกยังไม่เป็นระบบชัดเจน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหา นวตกรรมใหม่ๆมาช่วยให้ทีมมีการลงสอบสวนควบคุมกำจัดยุงลาย ลูกน้ำยุงลาย แหล่งเพาะพันธุ์ เพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายโรค ให้เร็วที่สุด และมีคุณภาพ

วัตถุประสงค์ของนวตกรรม

1.เพื่อให้ทีมควบคุมโรคตัดวงจรการแพร่กระจายโรคให้เร็วที่สุดโดยกำจัด ยุงลาย ลูกน้ำยุงลาย แหล่งเพาะพันธุ์

2.เพื่อการเตรียมความพร้อมของทีม วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกให้เป็นระบบชัดเจน

3.เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีคุณภาพ

4.เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออกและให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านตนเองให้ลดลงหรือหมดไป

กระบวนการทำงานในนวตกรรม

ขั้นเตรียมการ

1.เสนอปัญหาในการประชาคม / คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น

2.ชุมชน / คณะกรรมการรับรู้ปัญหาและร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหา

3.คณะกรรมการกองทุนเสนอให้มีการจัดอุปกรณ์ควบคุมป้องกันโรคให้ครบและสะดวกพร้อมที่จะนำไปปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและพร้อมที่จะปฏิบัติงานตลอดเวลา

4.องค์กรปกครองท้องถิ่นสนับสนุน ตะกร้าน้อย...พิชิตยุงลาย ทุกหมู่บ้าน แก่ อสม. หมู่ละ 1 ชุด และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 3 ชุด

ขั้นดำเนินการ

1.ประชุมร่วมกันเพื่อชี้แจงบทบาทหน้าที่ระหว่าง อปท. รพ.สต. อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน

1.1ทีมควบคุมโรคเร็ว ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นผู้นำทีม อสม. เทศบาล/อบต.ลงไปยังหมู่บ้านที่เกิดโรคทันที่ที่ได้รับแจ้ง (ไม่เว้นวันหยุดราชการ)

1.2ไปที่บ้านผู้ป่วยเพื่อสอบสวนหาแหล่งโรคและแหล่งเสี่ยงอื่นๆ

1.3สำรวจ/กำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านผู้ป่วยและรัศมี 100 เมตร

1.4ฉีดพ่นสเปรย์กระป๋องที่บ้านผู้ป่วยและบ้านหลังอื่นในรัศมี 100 เมตร

1.5พ่นสารเคมีด้วยเครื่องพ่นหมอกควัน

2.การติดตามประเมินผลความเสี่ยงหลังควบคุมโรค

2.1จน.ท.รพ.สต.ร่วมกับ อสม. และเจ้าของบ้าน สำรวจลูกน้ำยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกวันติดต่อ กัน 7 วัน

2.2ผู้ใหญ่ อปท. ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ แจ้งเตือนประชาชนทุกวันเพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายและการป้องกันตนเองจากการถูกยุงลายกัด จนครบ 7 วัน

3.การเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่

3.1จน.ท.รพ.สต.และ อสม.ติดตามสอบถามอาการไข้ทุกเช้า พร้อมกับการสำรวจลูกน้ำยุงลาย

3.2หากพบผู้มีอาการสงสัยให้ไปคัดกรอง ที่ รพ.สต .

3.3รพ.สต.สงสัย ตรวจคัดกรองสงสัย ส่องต่อ รพช.

3.4เฝ้าระวังจนครบ 28 วัน นับจากวันเริ่มป่วย

ผลการดำเนินงาน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ

1.ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม

2.องค์กรท้องถิ่นสนับสนุน

3.เจ้าหน้าที่ทุกคนร่วมใจสามัคคี

4.อสม.ทุกคนเต็มใจปฏิบัติงาน

5.มีงบประมาณสนับสนุน

ข้อเสนอแนะ

1.ควรมีการประสานงานและร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน

2.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ในส่วนท้องถิ่นควรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

3.ควรมีการให้ขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน