แนวคิดของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2

Posted on สิงหาคม 21, 2013 | ใส่ความคิดเห็นด้านล่าง

นับเป็นเวลาถึง 50 ปี ที่ธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (Sacrosanctum Concilium, 4 ธ.ค. 1963) ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เพื่อปรับปรุงพิธีกรรมของพระศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบทที่ 7 ของธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีจำนวน 9 ข้อ ที่ธรรมนูญได้ให้ความสำคัญต่อศิลปะในพิธีกรรมว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อพิธีกรรม

สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 สำนึกอยู่เสมอในเรื่องการอภิบาลคริสตชน ได้กำหนดเป็นกฎทั่วไปสำหรับพิธีบูชาขอบพระคุณตามจารีตโรมัน ข้อ 16 ดังนี้

“การถวายบูชามิสซาในฐานะที่เป็นกิจการของพระคริสตเจ้าและของประชากรของพระเจ้า ที่มีการปกครองตามระเบียบฐานันดรศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชนทั้งหมด” และได้กำหนดกฎทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับโบสถ์ไว้ดังนี้


ข้อ 288 โบสถ์จะต้องเหมาะสำหรับประกอบกิจกรรมศักดิ์สิทธิ์ และช่วยให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมได้อย่างแข็งขัน ตัวอาคารศักดิ์สิทธิ์และสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถวายคารวกิจแด่พระเจ้าจะต้องเหมาะสม สวยงาม และเป็นเครื่องหมายและสัญลักษณ์ถึงสิ่งเหนือธรรมชาติได้อย่างแท้จริง


ข้อ 289 พระศาสนจักรจึงประสงค์ให้โบสถ์มีศิลปะตกแต่งอย่างมีคุณค่า แต่ไม่หรูหราจนเกินไป และยังอนุญาตให้นำศิลปะของทุกชนชาติหรือท้องถิ่นมาใช้ได้ด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังควรรักษางานศิลปะที่มีคุณค่าที่ได้รับตกทอดมาจากศตวรรษก่อนๆ ไว้ และถ้าจำเป็นยังส่งเสริมให้ปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ ตามความต้องการใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะของสมัยปัจจุบันได้ด้วย


จากแนวความคิดที่สำคัญในเบื้องต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น พระศาสนจักรยังได้เสนอแนวทางปฏิบัติในการจัดสร้างและตกแต่งโบสถ์ ให้ถูกต้องเหมาะสมและมีคุณค่าทางศิลปะ กล่าวคือ การจัดสร้าง ซ่อมแซม หรือตกแต่งโบสถ์ ควรกำหนดให้มีคณะกรรมการเกี่ยวกับพิธีกรรมและศิลปในพิธีกรรมคณะหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพระสังฆราช เสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆ ในการกำหนดบุคคล (นายช่างผู้มีความรู้ความเข้าใจในพิธีกรรม และความงามทางศิลปะสามารถเลือกรูปแบบผลงานศิลปะสำหรับโบสถ์ได้เหมาะสม เพื่อหล่อเลี้ยงความเชื่อและความศรัทธา


เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งโบสถ์นั้นควรจัดหาที่จำเป็นจริงๆ ต่อการประกอบพิธีกรรมและคำนึงถึงความสะดวกของสัตบุรุษ เป็นสิ่งของที่มีลักษณะเรียบง่ายไม่ต้องหรูหราแต่ไม่ไร้คุณค่า


การกำหนดสถานที่หรือพื้นที่ภายในโบสถ์ก็ควรมีระเบียบสัมพันธ์กันตามลำดับชั้นของตำแหน่งและหน้าที่ เช่น ตำแหน่งที่ของสัตบุรุษและคณะขับร้อง ตำแหน่งประธานและผู้ช่วย เป็นต้น นอกจากนี้อาสนวิหารและโบสถ์จะต้องได้รับการเสกอย่างสง่า


นอกจากแนวคิดที่สำคัญดังกล่าว ธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมยังได้ระบุบางประเด็นนอกเหนือไปจากแนวคิดเบื้องต้น ที่กล่าวมาแล้วคือ ธรรมนูญให้ความสำคัญต่อผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ว่าจะต้องเรียนรู้เรื่องศิลปะในพิธีกรรมและศิลปินที่เกี่ยวข้องควรได้รับการอบรมให้มีความเข้าใจศิลปะในพิธีกรรมด้วย


ธรรมเนียมการนำรูปศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐานให้สัตบุรุษเคารพในวัดควรรักษาไว้ต่อไป แต่ต้องมีจำนวนพอสมควรและตั้งตามตำแหน่งให้ถูกต้อง เพื่อจะไม่ดึงความสนใจของประชากร คริสตชนมากเกินไป และหลีกเลี่ยงที่จะส่งเสริมความศรัทธาไม่ถูกต้อง (S.C 125) เป็นการเหมาะสมที่จะสงวนการใช้เครื่องหมายประจำตำแหน่งของพระสังฆราชไว้สำหรับผู้ปกครองของพระศาสนจักรที่มีตำแหน่งสังฆราช หรือผู้มีอำนาจปกครองพิเศษบางประการ (S.C.130)


กล่าวได้ว่า สังคายนาวาติกันที่ 2 ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องศิลปะในพิธีกรรมเป็นอย่างมาก เพื่อให้โบสถ์มีความเหมาะสมสำหรับการประกอบกิจกรรม และช่วยให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมได้อย่างแข็งขัน