ชมรมนักเรียนทุนสาธิตเสริมสมอง

ssm-logo

สืบเนื่องมาจากการจัดงานวันคืนสู่เหย้าชาวเสริมสมอง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา

และจากการเสวนาเพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการสืบสานเจตนารมณ์ของทุนเสริมสมอง

ซึ่งได้ข้อสรุปให้จัดตั้งชมรมขึ้นเพื่อดำเนินการระดมทุนและบริหารทุนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์

โดยใช้ชื่อว่า “ชมรมนักเรียนสาธิตเสริมสมอง”

ตราสัญลักษณ์

ความหมายของ “สัญลักษณ์ชมรมศิษย์เก่านักเรียนทุนเสริมสมอง”

แนวความคิด : นักเรียนทุนเสริมสมองมาจากทั่วสารทิศ หลากหลายวัฒนธรรม

ที่คล้ายๆกันคือเป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาเหมือนกัน ได้อาศัยท่านผู้ใจบุญ

รดน้ำพรวนดินทางการศึกษาจึงมีดอกออกผลได้ในวันนี้ การก่อตั้งชมรมฯก็เพื่อรวมกันทำกิจกรรมดีๆ

เพื่อพวกเราและสังคมตามความสามารถของพวกเรา

เงื่อนไขการรับทุนการศึกษา (1)

ประกาศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เรื่อง ทุนการศึกษาเสริมสมอง ประจำปีการศึกษา 2550

ทุนการศึกษาเสริมสมอง เป็นทุนการศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนที่มีผลการเรียนดีเด่น มีความประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้มีโอกาสศึกษาสูงขึ้นไปตามความสามารถของตนจนถึงระดับปริญญาตรี โดยเริ่มดำเนินการในฐานะโครงการฝ่ายเอกชน ที่รัฐบาลรับไว้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 และมีคณะกรรมการบริหารกองทุนการศึกษาของเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้รับผิดชอบ

ในปี พ.ศ. 2526 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เข้ารับหน้าที่บริหารทุนการศึกษาเสริมสมองแทนโดยได้รับการสนับสนุนจากเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งบุคคลและหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีนักเรียนทุนเสริมสมอง 24 รุ่นแล้ว และในปีการศึกษา 2550 นี้ จะได้จัดสรรทุนการศึกษาเสริมสมองให้ 19 จังหวัด จังหวัดละ 1 ทุน

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอรับทุน

1. เป็นผู้มีอายุไม่เกิน 17 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันที่ 30 มีนาคม 2550

2. กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเด่น โดยพิจารณาจากผล การเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1,2 และ 3 (ภาคการศึกษาที่ 1) ซึ่งควรจะอยู่ในอันดับที่ 1-3 ของโรงเรียน (ตัดเกรดเป็นรายปี

3. ขาดแคลนทุนทรัพย์ หากมิได้รับทุนการศึกษานี้แล้วจะไม่สามารถเรียนต่อได้

4. มีความประพฤติเรียบร้อย

5. มีความเป็นผู้นำ และ

6. มีสุขภาพดี

ลักษณะและเงื่อนไขของทุน

ทุนการศึกษานี้เป็นทุนที่ให้เป็นค่าใช้จ่ายได้เพียงพออย่างประหยัดสำหรับการศึกษาในแต่ละระดับ ดังนี้

1. ทุนการศึกษานี้จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ

- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 – ม.6) ทุนละ 6,000 บาทต่อปี

- ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ทุนละ 20,000 บาทต่อปี

(สำหรับทุนการศึกษาหลักสูตร 4 ปี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง โดยรับผู้จบ ม.4 สองปีแรกจะได้รับทุน ทุนละ 6,000 บาทต่อปี ส่วนสองปีหลังจะได้รับทุน ทุนละ 20,000 บาท ต่อปี)

2. เป็นทุนที่มอบให้ในลักษณะต่อเนื่อง คือผู้รับทุนจะได้รับทุนนี้ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นต้นไป

ทุกปีจนถึงชั้นสูงสุดตามความสามารถของผู้รับทุน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินระดับปริญญาตรี

3. ทุนนี้จะมอบให้แก่นักเรียนผู้ได้รับทุนเมื่อได้เข้าศึกษา และ/หรือกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยในประเทศแล้วเท่านั้น

4. ผู้รับทุนจะต้องมีความประพฤติดี และต้องมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีตลอดเวลาที่รับทุนนี้ คือต้องได้คะแนนเฉลี่ยตลอดปีไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบคะแนนเฉลี่ย 4.00 ในระดับมัธยมศึกษา ส่วนระดับ อุดมศึกษาต้องได้คะแนนเฉลี่ยตลอดปีไม่ต่ำกว่า 2.50 จากระบบคะแนนเฉลี่ย 4.00

5. จำนวนทุนที่จะให้นั้นจะพิจารณาเป็นปี ๆ ไปและในปีการศึกษา 2550 นี้จะให้ 19 จังหวัด จังหวัดละ 1 ทุน คือ กาญจนบุรี กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชุมพร เชียงใหม่ ตรัง ตราด นนทบุรี น่าน นครสวรรค์ นครปฐม นครราชสีมา นครพนม บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี พิษณุโลก

6. ผู้รับทุนจะต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดหาสถาบันการศึกษาสำหรับศึกษาต่อไปแต่ละชั้นด้วยตนเอง

7. ทุนนี้จะแบ่งจ่ายให้แก่ผู้ได้รับทุนปีละ 2 งวด งวดละครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินทุนนั้น ๆ งวดแรกจ่ายให้ในต้นภาคเรียนแรก งวดหลังจ่ายให้ในต้นภาคเรียนที่สอง

8. ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ได้รับทุน

8.1 รายงานผลการศึกษา และรายละเอียดในการใช้จ่ายทุนตามแบบที่กำหนดต่อคณะกรรมการบริหารทุนภาคเรียนละครั้ง

8.2 รายงานให้คณะกรรมการบริหารทุนทราบทันที เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงชื่อ – ที่อยู่ และสถานศึกษา

การขอใบสมัครและยื่นใบสมัคร

1. ผู้ประสงค์จะขอรับทุนจะต้องแจ้งความจำนงและขอใบสมัครจากสถานศึกษาของตน

2. กรอกใบสมัครด้วยลายมือของตนเอง

3. แนบรูปถ่ายขนาด 4 ? 6 ซม. หน้าตรง จำนวน 2 รูป ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน

4. แนบสำเนาใบแสดงผลการศึกษาหรือสมุดรายงานผลการศึกษาที่โรงเรียนรับรองของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1,2 และ 3 (ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แนบเฉพาะผลการศึกษาภาคการศึกษาที่ 1)

5. แนบใบรับรองจากครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ หรือผู้อำนวยการ

6. สำเนาทะเบียนบ้าน

7. ผู้สมัครต้องยื่นใบสมัครต่อโรงเรียนที่กำลังเรียนอยู่และให้โรงเรียนเป็นผู้ทำการคัดเลือกนักเรียนที่มี คุณสมบัติเข้าเกณฑ์

การคัดเลือกผู้ได้รับทุน

คณะกรรมการพิจารณาให้ทุนการศึกษาเสริมสมอง จะขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการคัดเลือกนักเรียนที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ (โดยพิจารณาในแง่ผลการศึกษา ความยากจน ความเป็นผู้นำ และความสามารถพิเศษ เป็นเกณฑ์ ไม่ต้องจัดสอบแข่งขันเพื่อจัดลำดับที่) โดยมีวิธีคัดเลือกดังนี้

1. แต่ละโรงเรียนที่จัดการสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นผู้ทำการคัดเลือกนักเรียนที่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์โรงเรียนละ 1 คน เสนอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่โรงเรียนนั้นสังกัด ภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550

2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทำการคัดเลือกนักเรียนที่โรงเรียนในเขตเสนอชื่อไว้เขตละ ๆ คน ยกเว้นจังหวัดใดที่มีเขตพื้นที่การศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาเขตเดียวให้เสนอมา 2 คน แล้วนำเสนอต่อ (สำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2550

3. สำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินการรวบรวมรายชื่อนักเรียนแต่ละจังหวัดที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเสนอชื่อทุกเขตไว้เขตละ 1 คน ยกเว้นจังหวัดใดมีเขตพื้นที่การศึกษาเขตเดียวจะมีรายชื่อ 2 คน ส่งให้สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ภายในวันที่ 10 เมษายน 2550

4. คณะกรรมการพิจารณาให้ทุนการศึกษาเสริมสมองและคณะกรรมการบริหารกองทุนการศึกษา เสริมสมองจะทำการคัดเลือกขั้นสุดท้าย และแจ้งรายชื่อผู้ได้รับทุนให้สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐานทราบ ภายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2550

5. การมอบทุนให้แก่นักเรียนผู้ได้รับทุนจะส่งผ่านโรงเรียนมัธยมศึกษาที่นักเรียนไปเข้าศึกษา ส่วนในระดับอุดมศึกษาจะส่งเงินให้นักเรียนโดยตรง

การเพิกถอนสิทธิของผู้ได้รับทุน

สิทธิในการได้รับทุนจะเป็นอันระงับ เมื่อผู้ได้รับทุน

1. ถึงแก่กรรม หรือ

2. ถูกออกจากสถานศึกษา หรือมีความผิด หรือประพฤติตนเสื่อมเสีย หรือ

3. ได้รับทุนอื่น หรือ

4. ได้รับการบรรจุเข้าทำงานประจำเต็มเวลา หรือ

5. สละสิทธิ์โดยมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ปกครอง และครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ หรือคณบดีของสถานศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ หรือ

6. ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 3.00 ในระดับมัธยมศึกษา และต่ำกว่า 2.50 ในระดับอุดมศึกษา

ประกาศ ณ วันที่ มกราคม พ.ศ. 2550

(ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา เวสารัชช์)

อธิการบดี

ประธานกรรมการบริหารกองทุนการศึกษาเสริมสมอง