ประวัติความเป็นมา (Th)

โครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมอง

ความเป็นมา

โครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมอง เป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงการทุนเสริมสมอง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2525 โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความริเริ่มของ ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในขณะนั้น ในฐานะกรรมการบริหารทุนการศึกษาเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้เสนอความคิดต่อคณะกรรมการบริหารทุนการศึกษาเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้ความเห็นชอบในการจัดสรรเงินทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีผลการเรียนดีเด่น มีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้มีโอกาสศึกษาสูงขึ้นตามความสามารถของตน ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึงระดับปริญญาตรีภายในประเทศ เป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปี เยาวชนเหล่านี้ หากมิได้รับทุนการศึกษาอย่างเพียงพอแล้ว ก็ไม่อาจจะศึกษาต่อเกินการศึกษาภาคบังคับได้

ทุนการศึกษานี้ ได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ และในปีแรกของการให้ทุนนั้น รัฐบาลได้รับทุนเสริมสมองไว้ในโครงการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในฐานะที่เป็นโครงการของฝ่ายเอกชน


การจัดสรรทุน

การจัดสรรทุนให้แก่นักเรียนนี้ จัดเป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา จนถึงระดับปริญญาตรีภายในประเทศ โดยระยะเริ่มแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2525-2529 ได้จัดสรรทุนให้แก่นักเรียนทุกจังหวัดๆ ละ 1 ทุน แต่จากปีการศึกษา 2530 เป็นต้นมาได้พิจารณากำหนดจำนวนทุนเป็นปีๆ ไป ส่วนจำนวนเงินทุนที่ให้แตกต่างกันไปตามระดับการศึกษา กล่าวคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะได้รับทุนละ 4,000 บาทต่อปี นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะได้รับทุนละ 6,000 บาทต่อปี และนักเรียนระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าในระยะแรกกำหนดไว้ว่าจะให้ทุน 10,000 บาทต่อปี แต่ต่อมาเพิ่มให้เป็นทุนละ 20,000 บาทต่อปี เนื่องจากผู้รับทุนต้องย้ายที่อยู่จากภูมิลำเนาเดิมไปยังจังหวัดอันเป็นที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาที่ตนสอบคัดเลือกได้ จึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นมาก


การคัดเลือก

การคัดเลือกนักเรียนผู้สมควรได้รับทุนนั้น เริ่มต้นโดยโรงเรียนประถมศึกษาแต่ละโรงเรียนจะเสนอชื่อนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ปัจจุบันจะพิจารณาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) ที่สมควรได้รับทุน ผ่านตามลำดับตั้งแต่ระดับกลุ่มโรงเรียน ซึ่งจะคัดเลือกให้เหลือ 1 คน แล้วนำเสนอคณะกรรมการประถมศึกษาอำเภอ คัดเลือกให้เหลืออำเภอละ 1 คน แล้วส่งให้คณะกรรมการประถมศึกษาจังหวัดพิจารณาในระดับจังหวัดจะคัดเลือกให้เหลือ 4 คน แล้วส่งผลการคัดเลือกไปยังสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติเพื่อจัดส่งให้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยคณะกรรมการพิจารณาให้ทุนการศึกษาเสริมสมองคัดให้เหลือ 1 คน ผู้ที่ได้รับคัดเลือกขั้นสุดท้าย คือผู้ที่ได้รับทุนการศึกษา


การบริหารโครงการ

การบริหารโครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมองนั้น เมื่อเริ่มแรกดำเนินการ เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารทุน และนับตั้งแต่ปีการศึกษา 2526 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้เข้ารับหน้าที่บริหารทุนการศึกษาแทนเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ แต่เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ก็ยังคงร่วมมือในด้านการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในโครงการอยู่ตลอดมา

เมื่อเข้ารับผิดชอบในการบริหารทุนเสริมสมอง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ขยายขอบเขตการดำเนินการโดยจัดทำเป็นโครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมองในระดับทางไกลขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า นักเรียนสาธิตเสริมสมองเป็นนักเรียนที่มีลักษณะพิเศษ จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ การพัฒนาเยาวชนกลุ่มนี้ให้ได้ผลเต็มที่ควรจะมีการติดตามดูแลทางด้านวิชาการ และพัฒนาด้านต่างๆ นอกเหนือจากการให้ทุน ดังนั้น จึงได้รับนักเรียนเสริมสมองทุกคน นักเรียนเสริมสมองของมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้จัดบริการทางด้านวิชาการต่างๆ ควบคู่ไปกับการให้ทุน

นอกจากนี้ก็จะได้ใช้โครงการดังกล่าวเป็นแหล่งส่งเสริมและกระตุ้นการวิจัยเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ ในสาขาวิชาศึกษาศาสตร์และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการตามโครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมองนี้ มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้สาขาวิชาศึกษาศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

เพื่อให้การดำเนินโครงการและกิจกรรมเกี่ยวกับนักเรียนสาธิตเสริมสมอง เป็นไปอย่างต่อเนื่องและบรรลุผลเต็มเป้าหมายอย่างเต็มที่ ทั้งทางด้านวิจัยเพื่อเสริมสร้างและความก้าวหน้าทางวิชาการด้านศึกษาศาสตร์ และบริการทางวิชาการแก่สังคม มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งกองทุนการศึกษาเสริมสมองขึ้นในปี 2526 โดยมีทุนเดิมจำนวน 10 ล้านบาท และให้นำผลประโยชน์จากกองทุนมาใช้จัดสรรเป็นเงินทุนการศึกษาแก่นักเรียนสาธิตเสริมสมองและเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดกิจกรรมทางวิชาการของโครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมอง นอกจากทุนประเดิม ดังกล่าว มหาวิทยาลัยยังได้เชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบทุนการศึกษาเสริมสมองได้ตามอัธยาศัย และก็ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้มีกุศลเจตนาบริจาคเงินสมทบอย่างสม่ำเสมอตลอดมา


ลักษณะความเป็นมาของโครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมอง

โครงการนักเรียนสาธิตเสริมสมอง จัดเป็นโครงการสาธิตในระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้นักเรียน ได้รับทุนเลือกเรียนในสถานศึกษาและสาขาวิชาตามที่ตนสนใจ และไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ดังนั้น ตามโครงการจึงมีนักเรียนสาธิตเสริมสมองเรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่มีนักเรียนผู้ได้รับทุนมี ภูมิลำเนาอยู่เป็นส่วนใหญ่ และมีบ้างบางคนที่เรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาที่ไม่ใช่ภูมิลำเนาของตน สำหรับผู้ที่เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาก็ สามารถสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในสถาบันและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

ในการติดต่อและประสานงานเกี่ยวกับนักเรียนสาธิตเสริมสมอง มหาวิทยาลัยจะดำเนินการผ่านสถานศึกษาที่นักเรียนเรียนอยู่ โดยได้มอบให้สถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับทุนการศึกษาที่นักเรียนได้รับแต่ละปี นอกจากนั้นยังขอให้ทางโรงเรียนได้จัดอาจารย์แนะแนวประจำตัวนักเรียน เพื่อให้ข้อชี้แนะ และคำปรึกษาแก่นักเรียนในประการต่างๆ พร้อมกันนั้น ก็ได้ขอให้สถานศึกษาได้ช่วยรายงานผลการเรียนให้มหาวิทยาลัยได้ทราบ ในทุกภาคการศึกษา รวมทั้งการให้ข้อมูลเพิ่มเติมตลอดจนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับตัวนักเรียนให้มหาวิทยาลัยได้ทราบตามแต่สถานศึกษาจะเห็นสมควร ทั้งนี้ เพื่อมหาวิทยาลัยจะได้ให้ความสนับสนุน ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นักเรียน ได้มีพัฒนาการและบรรลุเป้าหมายของการให้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรมทางวิชาการที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสถานศึกษาและเพื่อพัฒนานักเรียนสาธิตเสริมสมอง คือการจัดอาจารย์ประจำสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ ให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาประจำตัวนักเรียนแต่ละคน ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาดังกล่าว จะมีการติดต่อกับสถานศึกษาและตัวนักเรียนอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ก็มีการจัดกิจกรรมและแนวในระบบทางไกลด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นประโยชน์แก่การศึกษาของนักเรียน การจัดทำสารเสริมสมองเพื่อให้นักเรียนได้ทราบความเคลื่อนไหวของโครงการ และความก้าวหน้าทางวิชาการต่างๆ

และทุกปีในช่วงปลายเดือนเมษายน ทางมหาวิทยาลัยก็จะจัดกิจกรรมเพิ่มพูนทักษะและเสริมประสบการณ์ให้แก่นักเรียนสาธิตเสริมสมองเพื่อเป็นการเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่อาจกระทำได้ด้วยระบบการศึกษาทางไกล กิจกรรมที่จัดทำมีทั้งการพบปะกับผู้อุปการะทุนการศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาและระหว่างนักเรียนทุนเสริมสมองด้วยกัน นอกจากนั้น ก็เป็นการเสริมกิจกรรมทางด้านความรู้ ทักษะ การแนะแนว ตลอดจนการทดสอบเพื่อให้ทราบถึงสมรรถภาพด้านต่างๆ ของนักเรียน กิจกรรมเพิ่มพูนทักษะและเสริมประสบการณ์ดังกล่าว จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช