บันไดเสียงเมเจอร์ (Major Scales)

บทที่ 1 บันไดเสียง (Scale)

บันไดเสียง (Scale) มีความสำคัญยิ่งในการนำไปใช้ในทักษะทางดนตรี และทฤษฎีดนตรี ที่จะสามารถวิเคราะห์บทเพลงต่างๆที่จะทำการบรรเลงได้อย่างถูกต้อง และเป็นเสมือนกุญแจที่สำคัญสำหรับนักดนตรี เมื่อมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องของบันไดเสียงได้อย่างแม่นยำแล้ว จะสามารถต่อยอดในการศึกษาเนื้อหาสาระทางทฤษฎีในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้ ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องบันไดเสียง จึงเป็นความรู้ที่นักดนตรีไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การจดจำบันไดเสียงอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ถ้าไม่มีความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแท้จริง

การสร้างบันไดเสียงเมเจอร์ (Major Scales)

ก่อนการเรียนรู้เรื่องของบันไดเสียง ผู้ศึกษาควรต้องมีความเข้าใจถึงระยะห่างของโน้ตสากลในแต่ละระดับเสียงในเบื้องต้นเสียก่อน เนื่องจากเนื้อหาทางทฤษฎีดนตรีล้วนมีลำดับและขั้นตอนและมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง โดยระยะห่างของเสียงในตัวโน้ตแต่ละตัว ประกอบไปด้วยโน้ตต่างๆดังนี้

ตัวอย่างที่ 1.1 บันไดเสียง C Major

จากตัวอย่างที่ 1.1 บันไดเสียง C Major (C Major Scale) โดยปกติแล้ว ระดับเสียงของโน้ตแต่ละตัวเมื่อไม่มีเครื่องหมายแปลงเสียง (Accidental) กำกับไว้ ตามธรรมชาติของเสียงโดยโน้ตแต่ละตัวจะมีระยะห่างของเสียงระหว่างกันเป็น 1 เสียงเต็ม (Whole step) เช่น โน้ต C-D, D-E, F-G, G-A และ A-B และจะมีโน้ตจำนวน 2 คู่บนบันไดเสียง จะมีระยะห่างของเสียงระหว่างกันเพียงครึ่งเสียง (Half step) ได้แก่ โน้ต E^F และ B^C

ดังนั้น ไม่ว่าโน้ตเหล่านี้ จะเริ่มต้นด้วยบันไดเสียงใด ธรรมชาติของโน้ตที่ห่างระหว่างกันแต่ละคู่ จะมีความห่างซึ่งกันและกันเหมือนกับบันไดเสียง C Major ทั้งหมด และจากตัวอย่างที่ 1.1 จะพบอีกว่า เมื่อเทียบกับคีย์เปียโน เมื่อเริ่มต้นที่โน้ต C และบรรเลงในคีย์สีขาวทั้งหมดก็จะได้บันไดเสียง C Major ตามความห่างของโน้ตแต่ละตัว

แต่ทั้งนี้ เมื่อต้องการบรรเลงในบันไดเสียงอื่นๆโดยไม่ได้เริ่มจากโน้ต C หรือบรรเลงบันไดเสียงที่นอกเหนือไปจากบันไดเสียง C Major ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากโน้ตอื่นๆไล่ระดับเสียงสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติของโน้ตแต่ละตัว ก็จะยังคงมีระยะห่างของเสียงเช่นเดิม แต่เราจะต้องทำหน้าที่ปรับระดับเสียงให้เป็นบันไดเสียงเมเจอร์ด้วยตนเองจากการใช้เครื่องหมายแปลงเสียง (Accidental) มาช่วยแปลงเสียงโน้ตแต่ละคู่ให้อยู่ในตำแหน่งเดิม กล่าวคือ การสร้างบันไดเสียงทางเมเจอร์ จะต้องทำให้โน้ตจำนวน 2 คู่ ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยโน้ตใดและโน้ตคู่ใดไปตกอยู่ในตำแหน่งที่ 3^4 และ 7^8 ก็จะต้องใช้เครื่องหมายแปลงเสียงทำให้โน้ตคู่นั้นๆที่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวห่างกันครึ่งเสียง (Half step)ให้ได้ตามระยะห่างของบันไดเสียง C Major ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างที่ 1.2 การสร้างบันไดเสียงเมเจอร์อื่นๆ

จากตัวอย่างที่ 1.2 การสร้างบันไดเสียงเมเจอร์อื่นๆ ผู้ศึกษาสามารถนำบันไดเสียง C Major มาเปรียบเทียบระยะห่างของโน้ตแต่ละตัวได้ จากนั้น สร้างบันไดเสียงโดยเริ่มจากโน้ตอื่นๆ ในตัวอย่างที่1.2 เป็นการสร้างบันไดเสียง D Major ซึ่งเริ่มต้นด้วยโน้ต D และไล่ระดับเสียงสูงขึ้นไป แต่ทั้งนี้ ธรรมชาติของระยะห่างของโน้ตแต่ละตัวยังคงเดิมอยู่ ดังนั้นจึงต้องปรับระยะห่างของตำแหน่งโน้ตในลำดับที่ 3^4 และ 7^8 ให้มีระยะห่างกันครึ่งเสียงตามแบบของบันไดเสียง C Major โดยใส่เครื่องหมายแปลงเสียงโน้ต F ให้สูงขึ้นครึ่งเสียงเพื่อให้มีระยะห่างจากโน้ต E จำนวน 1 เสียงเต็ม (โดยธรรมชาติโน้ตE^Fห่างกันเพียงครึ่งเสียง โดยทำให้ห่างกัน1เสียงเต็มได้จากการใส่เครื่องหมาย Sharp # ที่โน้ต F เพื่อให้โน้ต F มีระดับเสียงสูงขึ้นไปเพื่อหนีห่างจากโน้ต E เป็น 1 เสียงเต็ม) และโน้ต B^C เช่นเดียวกัน โดยใส่เครื่องหมายSharp # ที่โน้ต C เพื่อให้โน้ต C มีระดับเสียงสูงขึ้นไปอีกครึ่งเสียงเพื่อหนีห่างจากโน้ต B เป็น 1 เสียงเต็มเช่นเดียวกัน

จากการสร้างบันไดเสียงต่างๆแล้ว ในบันไดเสียงทางแฟล็ต (b) ก็จะทำเช่นเดียวกัน เพียงแต่ปรับโน้ตให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ เครื่องหมายแฟล็ต มีหน้าที่แปลงเสียงโน้ตให้มีเสียงต่ำลงครึ่งเสียง และเครื่องหมายชาร์ป มีหน้าที่แปลงเสียงโน้ตให้มีเสียงสูงขึ้นครึ่งเสียง ตามที่ผู้ศึกษาพิจารณาการสร้างบันไดเสียงที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอให้ลองฝึกทำแบบฝึกหัดการสร้างบันไดเสียงเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

เฉลย Click Keys

เรียบเรียงโดย : ณัฐศรัณย์ ทฤษฎิคุณ (เรียบเรียงเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2561) ปรับปรุง 2564

ภาควิชาดนตรีตะวันตก วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา