บันไดเสียงไมเนอร์ (Minor Scales)

บทที่ 1 บันไดเสียง (Scale)

บันไดเสียง (Scale) มีความสำคัญยิ่งในการนำไปใช้ในทักษะทางดนตรี และทฤษฎีดนตรี ที่จะสามารถวิเคราะห์บทเพลงต่างๆที่จะทำการบรรเลงได้อย่างถูกต้อง และเป็นเสมือนกุญแจที่สำคัญสำหรับนักดนตรี เมื่อมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องของบันไดเสียงได้อย่างแม่นยำแล้ว จะสามารถต่อยอดในการศึกษาเนื้อหาสาระทางทฤษฎีในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้ ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องบันไดเสียง จึงเป็นความรู้ที่นักดนตรีไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การจดจำบันไดเสียงอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ถ้าไม่มีความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแท้จริง

เมื่อได้เรียนรู้หลักการสร้างบันไดเสียงเมเจอร์ (Major Scales) ในเบื้องต้นแล้ว มาถึงการสร้างบันไดเสียงไมเนอร์ (Minor Scales) แบบเบื้องต้น ซึ่งบันไดเสียงไมเนอร์ จะให้เสียงมีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปกับบันไดเสียงทางเมเจอร์ และบันไดเสียงทั้ง 2 ประเภทนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างมากในการคิดและวิเคราะห์ระบบทางทฤษฎีดนตรี เนื่องจาก เสียงและความรู้สึกของบันไดเสียงทั้ง 2 ประเภท เมื่อระดับเสียงของโน้ตแต่ละตัว มีการจัดลำดับไล่เรียนกันไป จะฟังแล้วมีความรู้สึกที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพียงแค่เปลี่ยนตำแหน่งของโน้ตเท่านั้น

บันไดเสียงไมเนอร์ (Minor Scales)

ความสัมพันธ์ของบันไดเสียงเมเจอร์และไมเนอร์ คล้ายกับอยู่บนแนวทางและรูปแบบของบันไดเสียงเดียวกัน กล่าวคือ การระยะห่างของโน้ตแต่ละคู่ยังห่างคงเดิม กรณีบันไดเสียงที่มีเครื่องหมายแปลงเสียงกำกับตามระบบของบันไดเสียงเมเจอร์ ก็จะต้องเหมือนกันด้วยในแต่ละคู่ เพียงแต่นำโน้ตคู่ต่างๆมาสลับตำแหน่งกัน เพื่อให้กลายมาเป็นบันไดเสียงทางไมเนอร์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างที่ 1.1 ความสัมพันธ์ของบันไดเสียงเมเจอร์และไมเนอร์

จากตัวอย่างที่ 1.1 ความสัมพันธ์ของบันไดเสียงเมเจอร์และไมเนอร์ จะพบว่า การสร้างบันไดเสียงไมเนอร์ที่ถูกต้องนั้น จะต้องมีความเข้าใจและเข้าใจโครงสร้างหลักของบันไดเสียงเมเจอร์ที่มีความสัมพันธ์กันก่อน เช่น ตัวอย่างที่ 1.1 บันไดเสียง C Major เริ่มจากโน้ต C เป็นโน้ตตัวแรก และไล่ระดับเสียงสูงขึ้นไปตามลำดับ โดยที่โน้ตแต่ละคู่จะมีช่วงห่างของเสียงตามธรรมชาติ และเมื่อต้องการสร้างบันไดเสียงไมเนอร์ที่มีความสัมพันธ์กับบันไดเสียงเมเจอร์ จะต้องนำโน้ตลำดับที่ 6 ของบันไดเสียงเมเจอร์นั้นๆมาจัดเรียงใหม่ โดยนำโน้ตลำดับที่ 6 ของบันไดเสียงเมเจอร์นั้นๆมาเริ่มต้นเป็นโน้ตแรกของบันไดเสียงและไล่เสียงสูงขึ้นไปตามลำดับ ยึดรูปแบบคู่โน้ตของบันไดเสียงทางเมเจอร์ที่ตั้งไว้ เช่น บันไดเสียง C Major โน้ตลำดับที่ 6 ของบันไดเสียง คือโน้ต A จะต้องนำโน้ต A มาเป็นโน้ตเริ่มต้นของบันไดเสียงไมเนอร์ และเรียงลำดับใหม่โดยให้โน้ตแต่ละคู่คงเสียงระยะห่างระหว่างกันไว้เหมือนกับบันไดเสียง C Major ตามภาพตัวอย่างที่ 1.1 เป็นต้น

จากการสร้างบันไดเสียงไมเนอร์กับความสัมพันธ์ของบันไดเสียงเมเจอร์ เราเรียกว่า การหาบันไดเสียงแบบเครือญาติ (Relative Keys) ซึ่งบันไดเสียงเมเจอร์และไมเนอร์ต่างมีความสัมพันธ์กันอยู่ ซึ่งในลำดับแรกของการหาเครือญาติของบันไดเสียงทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นเพียงการหาบันไดเสียงเบื้องต้นและเป็นเพียงกระบวนการแรกเท่านั้น เนื่องจาก บันไดเสียงทางไมเนอร์ ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บันไดเสียงไมเนอร์แบบเนเจอรัล (Natural Minor), บันไดเสียงไมเนอร์แบบฮาร์โมนิกส์ (Harmonic Minor) และบันไดเสียงไมเนอร์แบบเมโลดิกส์ (Melodic Minor) เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้เขียนได้สรุปวิธีการสร้างบันไดเสียงทางไมเนอร์แบบเป็นลำดับขั้นไว้ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างที่ 1.2 วิธีการสร้างบันไดเสียงไมเนอร์ประเภทต่างๆ

จากตัวอย่างที่ 1.2 วิธีการสร้างบันไดเสียงไมเนอร์ประเภทต่างๆ พบวิธีการสร้างบันไดเสียตามลำดับดังนี้

Step 1 บันไดเสียง A Minor แบบเนเจอรัล (A Natural Minor Scale) มีโน้ตลำดับที่ 6 คือโน้ต F และลำดับที่ 7 คือโน้ต G และลำดับที่ 8 คือโน้ต A ซึ่งบนบันไดเสียง A Minor แบบเนเจอรัลแต่ละคู่จะห่างกัน 1 เสียงเต็ม (Whole Step) เช่น F-G (6-7) และ G-A (7-8)

Step 2 บันไดเสียง A Minor แบบฮาร์โมนิกส์ (A Harmonic Minor Scale) นำโครงสร้างเดิมที่ได้จากบันไดเสียงไมเนอร์แบบเนเจอรัลมาจัดเรียงซ้ำ และพิจารณาโน้ตลำดับที่ 7 และ8 (G-A) ให้ห่างกันเพียงครึ่งเสียง (Half Step) โดยจะต้องพิจารณาเครื่องหมายแปลงเสียงที่จะสามารถแปลงโน้ตลำดับที่ 7 สูงขึ้นไปใกล้กับโน้ตลำดับที่ 8 จากตัวอย่างได้ใส่เครื่องหมายชาร์ป (#) ไว้ที่โน้ต G ซึ่งเป็นโน้ตลำดับที่ 7 ก็จะทำให้ห่างกับโน้ตลำดับที่ 8 คือ A เพียงครึ่งเสียง (G#^A)

Step 3 บันไดเสียง A Minor แบบเมโลดิกส์ (A Melodic Minor Scale) นำโครงสร้างเดิมที่ได้จากบันไดเสียงไมเนอร์แบบฮาร์โมนิกส์มาจัดเรียงซ้ำ และสังเกตว่า เมื่อโน้ตลำดับที่ 7 ถูกแปลงเสียงโน้ตให้สูงขึ้นครึ่งเสียงไปหาโน้ตลำดับที่ 8 คือ G#^A จะทำให้โน้ตในลำดับที่ 6 และ 7 ห่างกันถึง 1 เสียงครึ่ง (Whole and Half Step) ซึ่งหน้าที่ของบันไดเสียงไมเนอร์แบบเมโลดิกส์ จะต้องทำให้โน้ตลำดับที่ 6 และ 7 มีระยะห่างระหว่างกันให้เป็น 1 เสียงเต็ม (Whole Step) เท่าเดิม โดยการขยับโน้ตลำดับที่ 6 ให้มีเสียงสูงขึ้นครึ่งเสียง ซึ่งโน้ตลำดับที่ 6 บนบันไดเสียง A Minor คือโน้ต F จะต้องพิจารณาการใส่เครื่องหมายแปลงเสียงชาร์ป (#) เพื่อให้มีเสียงสูงขึ้นตามโน้ตลำดับที่ 7 คือโน้ต G# ให้มีระยะห่าง 1 เสียงเต็มเท่าเดิม

ดังนั้น ไม่ว่าผู้ศึกษาจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบันไดเสียงเมเจอร์และไมเนอร์แบบใดก็ตาม ผู้ศึกษาจะต้องเข้าใจและแม่นยำในการสร้างบันไดเสียงทางเมเจอร์เสียก่อน แล้วจึงเริ่มต้นการสร้างโครงสร้างบันไดเสียงทางไมเนอร์ที่สัมพันธ์กันได้อย่างถูกต้อง โดยทำตามขั้นตอนตามตัวอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ไม่ว่าบันไดเสียงนั้นๆจะถูกติดเครื่องหมายแปลงเสียงใดๆก็ตาม ตามโครงสร้างของบันไดเสียงเมเจอร์ที่ควรจะเป็น ผู้ศึกษาก็จะต้องสร้างบันไดเสียงทางไมเนอร์โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายแปลงเสียงนั้นๆแต่อย่างใด แต่จะต้องปรับระยะห่างของโน้ตและเครื่องหมายแปลงเสียงเฉพาะโน้ตในลำดับที่ 6, 7 และ 8 เท่านั้น

เฉลย Click Keys

เรียบเรียงโดย : ณัฐศรัณย์ ทฤษฎิคุณ (เรียบเรียงเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2561) ปรับปรุง 2564

ภาควิชาดนตรีตะวันตก วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา