สาระสำคัญในแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีอยู่มากมายหลากหลายประเภทแตกต่างกันไปตามลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการทำมาหากินของประชาชนเป็นสำคัญและดังที่ทราบกันดีว่าส่วนใหญ่ของประชากรของ ประเทศไทยยังยังชีพอยู่ด้วยการทำเกษตรกรรม ดังนั้น โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องของการพัฒนาปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ที่ทำกิน ทุน และความรู้ด้านเกษตรกรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นต้น และดังได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นแนวคิดและทฤษฎีในงานสาขาใดที่ได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาไว้ หลักสำคัญของทุกเรื่องก็คือความเรียบง่ายดังที่ได้ทรงใช้คำว่า “Simplify” หรือ “Simplicity” จะต้องเรียบง่ายไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ทั้งในแนวความคิดและด้านเทคนิควิชาการจะต้องสมเหตุสมผล ทำได้รวดเร็ว และสามารถแก้ไขปัญหาให้ก่อประโยชน์ได้จริงตลอดจนมุ่งไปสู่วิถีแห่งการพัฒนายั่งยืน (Sustainability) อีกด้วย

แนวคิดและทฤษฎีในเรื่องต่างๆ ที่ได้ทรงคิดพิจารณาอย่างถ่องแท้และได้พระราชทานให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานนั้น จะเป็นประโยคง่ายๆแต่ได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี เป็นข้อความง่ายๆ ที่มีความหมายลึกซึ้ง และบางครั้งบ่งบอกถึงวิธีดำเนินการไว้ด้วยอย่างเบ็ดเสร็จในตัวเองเช่นหลักของ

“น้ำดีไล่น้ำเสีย”

“๔ น้ำ ๓ รส”

“แกล้งดิน”

“ป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง”

“ปลูกป่าแบบไม่ปลูก”

“ขาดทุนเป็นกำไร”

“ทฤษฎีใหม่”

“โครงการแก้มลิง”

“เส้นทางเกลือ”

ฯลฯ

แนวคิดและทฤษฎีของการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะนำเสนอให้เห็นเป็นตัวอย่างพอสังเขป ในส่วนที่หนึ่งนี้มุ่งประสงค์พอให้สามารถมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่เป็น “แนวคิด” และ “ทฤษฎี” พื้นฐานเบื้องหลังในการทรงงานพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ โดยจะแยกออกตามลักษณะและประเภทของกลุ่มงานใหญ่ๆ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับดิน น้ำ การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ฯลฯ เป็นการปูพื้นฐานให้ติดตามความละเอียดได้ในส่วนที่สอง ซึ่งได้แยกแยะรายละเอียดไว้เป็นการเฉพาะในแต่ละเรื่องตามลำดับต่อไป

- เกี่ยวกับเรื่องน้ำ

- เกี่ยวกับเรื่องดิน

- การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

- การพัฒนาสังคม

- น้ำดีไล่น้ำเสีย

- ฝนหลวง

- เครื่องดักหมอก

- ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

- ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้

- เส้นทางเกลือ

- การบำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ

- แนวคิดการพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองของเกษตรกร

- ทฤษฎีใหม่

พระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โครงการในพระราชดําริ รวมพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและความสามารถ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจ ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ ซึ่งพระราชกรณียกิจที่โดดเด่นของพระองค์ มีดังต่อไปนี้

1. โครงการแกล้งดิน

แกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว จะทำด้วยการขังน้ำไว้ในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาทางเคมีจนทำให้ดินเปรี้ยวจัด เมื่อถึงที่สุดแล้ว จะมีการระบายน้ำออกแล้วปรับสภาพดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งสามารถใช้ดินในการเพาะปลูกได้

2. โครงการปลูกหญ้าแฝก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ที่นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยให้ทรงทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน จนปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ

3. โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานโครงการแพทย์หลวงพระราชทาน เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยที่มีการจัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้ เพื่อตรวจรักษาราษฎรในถิ่นทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า และอบรมหมอหมู่บ้านเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน

4. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ได้จัดทำขึ้นตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยจัดขึ้นเป็นรูปเล่ม และบางส่วนได้เผยแพร่ออนไลน์ อันรวบรวมเนื้อหาจากหลายสาขาวิชา โดยที่ฉบับปกติมีทั้งหมด 37 เล่ม และฉบับเสริมการเรียนรู้มีทั้งหมด 20 เล่ม

5. ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ในปี พ.ศ. 2502 เพื่อให้นิสิตนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่น ได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้ชั้นสูงในต่างประเทศ และนำองค์ความรู้ที่ได้มาช่วยพัฒนาประเทศต่อไป

6. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง : เกษตรทฤษฎีใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นต้น โดยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นได้แก่ ขั้นต้น คือ การแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตรา 30-30-30-10 เพื่อขุดเป็นสระกักเก็บน้ำ 30% ปลูกข้าวในฤดูฝน 30% ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร 30% และเป็นที่อยู่อาศัยอีก 10%

จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง คือการให้เกษตรกรรวมกันในรูปแบบของกลุ่ม สหกรณ์ เพื่อดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม คือการติดต่อประสานงาน จัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ลงทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป


7. โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโครงการอันหลากหลายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร และโครงการกึ่งธุรกิจ อาทิ โรงโคนมสวนจิตรลดา, โรงนมผงสวนดุสิต, น้ำผึ้งสวนจิตรลดา เป็นต้น

8. โครงการฝนหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริส่วนพระองค์ในเรื่องการจัดทำฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร โดยมีการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ซึ่งจะใช้สารเคมีโปรยในท้องฟ้า จนกระทั่งไอน้ำอิ่มตัวและกลั่นตัวออกมากลายเป็นเม็ดฝน

9. กังหันน้ำชัยพัฒนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการวิจัย และพัฒนากังหันน้ำชัยพัฒนาขึ้น เพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ ทำให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี และสามารถประยุกต์ใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และเพิ่มออกซิเจนให้บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร



สื่อการเรียนรู้ ( VDO)