ใบความรู้

การแก้ปัญหาในการทำงานอย่างมีเหตุผล

ในการทำงานย่อมเกิดปัญหาขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาในการทำงานจะต้องเริ่มต้นด้วยการมีสติสัมปชัญญะ คือ ความระลึกได้และความรู้ตััว ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นการใช้เหตุและผลในการตัดสินใจแก้ปัญหาได้ดีที่สุด โดยเฉพาะยุคปัจจุบันนี้ซึ่งเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร การติดต่อสื่อสารเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ส่งผลต่อการตัดสินใจในการแก้ปัญหาการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการมีสติสัมปชัญญะ ความระลึกได้อยู่ตลอดเวลา จะช่วยให้การตัดสินใจแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

1.ความหมาย ความสำคัญ

การตัดสินใจแก้ปัญหา คือ การตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ภายใต้การวิเคราะห์พิจารณาทางเลือกต่างๆ แล้ว

การแก้ปัญหา คือ การประยุกต์ใช้กฎหรือหลักการอธิบายการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้ความจริงหรือปรากฏการณ์ใหม่

การตัดสินใจแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานได้อย่างถูกต้องเพื่อสร้างหรือผลิตชิ้นงาน และการซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไขชิ้นงาน ให้สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจที่ผิดพลาด และจะช่วยให้การตัดสินใจนั้นมีประสิทธิภาพ สามารถทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จหรือมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

ประโยชน์ของการแก้ปัญหาในการทำงานอย่างมีเหตุผล มีดังนี้

1. เป็นการตัดสินใจเลือกได้อย่างถูกต้อง สมเหตุสมผลได้มากที่สุด

2. ช่วยลดความเสี่ยงจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการทำงาน

3. ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนเองหรือสมาชิกภายในกลุ่ม

4. ช่วยให้สามารถตัดสินใจในการทำงานได้ทันเวลา

5. ช่วยพัฒนาระบบกระบวนการคิดวิเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้น

6. ช่วยให้ค้นพบทางเลือกหรือทางออกสำหรับปัญหาได้ดีที่สุด

7. ช่วยประหยัดและลดการสูญเสียทรัพยากรที่ใช้ในการทำงาน เพราะได้มีการจัดสรรการใช้ทรัพยากรเป็นอย่างดี

2. ลำดับขั้นตอนของกระบวนการแก้ปัญหา

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากทำงาน อาจเกิดขึ้นได้หลายๆ รูปแบบแตกต่างกันไป ดังนั้นกาาแก้ปัญหาในแต่ละงานก็ย่อมแตกต่างกันออกไป โดยมีลำดับขั้นตอนในการแก้ปัญหา 7 ขั้น ดังต่อไปนี้

ขั้นที่1 การสังเกต

วิธีการศึกษาโดยอาศัยการเฝ้าคอยดูสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นจากการทดลองและความพยายามค้นหาผลลัพธ์ที่อาจเป็นไปได้

ขั้นที่ 2 การวิเคราะห์

การกำหนดรายละเอียดของปัญหา คือ การทำความเข้าใจกับปัญหา เพื่อแยกข้อมูลว่ามีปัญหาอะไร สิ่งที่ต้องการแก้ไขมีอะไรบ้าง

ขั้นที่ 3 การสร้างทางเลือก

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว มองเห็นสิ่งที่ต้องการคืออะไร แล้วดำเนินการคิดค้นหาวิธีการทำงานที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า มีทางเลือกอะไรบ้าง

ขั้นที่ 4 การประเมินทางเลือก

เมื่อสร้างทางเลือกที่หลากหลายได้หลายวิธีแล้วก็สรุปหรือประเมินว่าวิธีไหนเหมาะสมหรือดีที่สุดที่จะใช้ทำงาน สร้างหรือผลิตชิ้นงานและการซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไขชิ้นงานได้เป็นอย่างดี สามารถตัดสินใจแล้วว่าจะทำงานชนิดใด หรือเรื่องใด

ขั้นที่ 5 การวางแผนเพื่อการทำงาน

กำหนดกรอบแนวความคิดในการทำงาน การวางแผน การแบ่งภาระงานและลำดับขั้นตอนการทำงานได้อย่างเหมาะสม ตามทักษะกระบวนการงานอาชีพ

ขั้นที่ 6 การลงมือปฏิบัติงาน

ปฏิบัติงานตามแผนการทำงานหรือปฎิทินการปฏิบัติงานที่ได้วางไว้อย่างเป็นระบบและถูกต้องตามทักษะกระบวนการงานอาชีพด้วยความปลอดภัย

ขั้นที่ 7 การประเมินผลการปฏิบัติงาน

นำเสนอผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจากการทำงานตามทักษะกระบวนการงานอาชีพ ประเมินว่ามีผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับใด เป็นไปตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่และนำไปปรับปรุงแก้ไขในการทำงานครั้งต่อๆ ไป


กลับเรื่องที่ 3