การรำพื้นบ้านเท่งกรู่

การรำพื้นบ้านเท่งกรู่ หมู่ที่ 2 บ้านชากโดน 

ตำบลชากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

                           การรำเท่งกรู่  เป็นศิลปะพื้นบ้านของตำบลชากโดน รำเท่งกรู่เป็นการรำตามเสียงกลอง ที่ให้จังหวะการแสดงนี้เป็นการแสดงละครศิลปพื้นบ้านที่คล้ายกับทางแถบตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี มีลักษณะการเล่นเหมือนละครชาตรีของไทย หรือผสมระหว่างโนราปักษ์ใต้กับลิเกแสดงที่มาจากการแสดงบันตนของแขกมลายู โดยปัจจุบันนี้มีนางปราณี สุวรรรโชติและชาวบ้านหมู่ที่ 2 บ้านชากโดนที่รวมตัวกันอนุรักษ์และช่วยกันสือสาน ประเพณีให้คงอยู่ และจะรำในช่วงเทศกาลวันไหว้เจ้าทำบุญวันสารทไทย เดือน 10 ของชาวตำบลชากโดน

                          การรำเท่งกรู่ เรียกได้ว่า เป็นเพลงพื้นบ้าน ซึ่งก่อนแสดงจะต้องมีการบูชาครูเพื่อเป็นสิริมงคลก่อนแล้ว

มีการโหมโรง โดยตัวพระจะออกมารำซัดแล้วจึงเริ่มแสดง เรื่องที่แสดงแต่เดิมจะมีเฉพาะนิยายพื้นบ้าน อย่างเรื่องสังข์ทองพระรถเมรี ไกรทอง เป็นต้น ต่อมาชั้นหลังเปลี่ยนเป็นเรื่องราวอิงชีวิตประจำวันเกี่ยวกับการอิจฉาริษยา เวลาแสดงละครทุกตัวจะต้องร้องเอง การแสดงจะเรียกเสียงหัวเราะได้จากตัวตลก และเร้าอารมณ์เครียดแค้นด้วยนางกะแหร่งหรือตัวริษยา ดนตรีประกอบการเล่น โทน ๒ ใบ  กลองตุ๊ก (กลองชาตรี) ๑ ใบ และเครื่องประกอบจังหวะฉาบและฉิ่ง ส่วนการแต่งกายนั้น ตัวละครจะแต่งกายคล้าย การละเล่นการแสดงเท่งตุ๊กที่สวมเสื้อแขนสั้นมีอินทรธนูบนบ่า สวมถุงเท้าขาวคล้ายลิเก และสวมมงกุฎแทนชฎาตัวพระนุ่งโจงหางหงส์ สวมเสื้อมีอินทรธนูทับทรวงและสวมมงกุฎ ตัวนางนุ่งผ้ายกจีบ หน้านาง ผ้าห่มนาง ใส่กระบังหน้าและสวมมงกุฎโอกาสที่ได้รับงานแสดง เช่นการแก้บนตามวาระและโอกาสของ ผู้ว่าจ้างหรืองานอื่นๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ งานเทศกาลต่างๆ ตามวาระและโอกาสของผู้ว่าจ้างและเทศกาลนั้น


ข้อมูลเนื้อหาเรื่องราว เขียนโดย นางสาวพัชรินทร์  ประกอบกิจ

ภาพถ่าย โดย นางสาวพัชรินทร์  ประกอบกิจ